คุณยังจำไอทีวีได้ไหมครับ และรายการไอทีวีที่คุณชอบดูคือรายการอะไร นี่คือคำถามที่เกิดขึ้นหลังจากกรณีของไอทีวี และการถือครองหุ้นของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่ยังคงเป็นประเด็นตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 จนถึงปัจจุบัน
•
หากนับการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ไอทีวี นับตั้งแต่ออกอากาศวันแรกเมื่อ 1 กรกฎาคม 2539 เวลา 19.00น. โดยมีผู้ประกาศข่าวคนแรก คือ กิตติ สิงหาปัด และเทพชัย หย่อง หากนับตั้งแต่วันแรกจนถึงยุติออกอากาศ 7 มีนาคม 2550 หลังจากรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ บอกเลิกสัญญาสัมปทานโดยมีค่าปรับเกือบ 1 แสนล้านบาท คิดเป็นระยะเวลาการออกอากาศ 10 ปี 8 เดือน 6 วัน 5 ชั่วโมง
•
จากวันนั้นถึงวันนี้ เหตุใดไอทีวี ถึงยังไม่หายไปไหนกว่า 16 ปี นอกจากบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ที่ยังคงดำเนินกิจการเพื่อต่อสู้คดีหลังถูกบอกเลิกสัญญาสัมปทานจากสำนักงานปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี หรือ สปน.ตั้งแต่วันนั้นจนถึงปัจจุบัน
•
โดยสถานะทางคดีหลังจาก 14 มกราคม 2559 คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดว่า การบอกเลิกสัญญาร่วมงานฯของสปน.กับไอทีวี ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้สปน.ชดใช้ความเสียหายให้ไอทีวี 2,890 ล้านบาท และให้ไอทีวีชำระค่าตอบแทนส่วนต่าง 2,890 ล้านบาท ทำให้สามารถหักกลบลบกันแล้ว ต่างฝ่ายจึงไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระแก่กันและกัน ทำให้สปน.ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เนื่องจากไม่เห็นด้วย
•
ต่อมา 17 ธันวาคม 2563 ศาลปกครองกลางพิพากษาว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการชอบด้วยกฎหมาย และ สปน.ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลางไปศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 และปัจจุบันคดีนี้ยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด
•
ขณะที่หากย้อนไปเมื่อเริ่มต้นไอทีวี ที่เป็นสื่อโทรทัศน์ที่นำเสนอข่าวเสรี ทำให้มีสโลแกนในยุคนั้นว่า ไอทีวี ทีวีเสรี จากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 จากข้อจำกัดของการนำเสนอข่าวของสื่อโทรทัศน์และการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนถูกปิดกั้น
•
และด้วยเงื่อนไขสัญญาร่วมการงานฯ หรือ สัญญาสัมปทานสถานีโทรทัศน์ระบบ UHF ระยะเวลา 30 ปี ที่ให้นำเสนอข่าวสารและสาระ 70% และรายการบันเทิง 30% รวมทั้งให้ช่วงไพร์มไทม์ตั้งแต่ 19.00-21.00น.เสนอรายการข่าวสารสาระ ทำให้ไอทีวีจึงมีภาพของการเป็นสถานีข่าวที่ชัดเจน
•
‘Business+’ มองว่า ไอทีวีมีกลยุทธ์การบริหารที่โดดเด่นเป็นอย่างมาก ทำให้สามารถชิงส่วนแบ่งการตลาดจาก 5 ช่องหลักมาได้ ทั้งจาก Positioning ความเป็นรายการข่าวที่รวดเร็ว เป็นกลาง และนำเสนออย่างตรงไปตรงมา โดยมีกลยุทธ์การบริหารของ 5 ข้อสำคัญ คือ
* เน้นภาพลักษณ์การนำเสนอข่าวสาร และสาระอย่างเสรี ตรงไปตรงมา ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐฯ เช่น ข่าวดังอย่างส่วยทางหลวง ทุจริตการเลือกตั้งแบบหยกหีบ หรือ การพิสูจน์บั้งไฟพญานาค
* นำเสนอข่าวรวดเร็วฉับไว เวลานึกถึงข่าวก็นึกถึงไอทีวีทันที ที่พร้อมรายงานสด ตัดเข้าเหตุการณ์สำคัญ
* ในช่วงแรกมีรายการข่าว และรายการสารคดีเชิงข่าวอย่างเป็นเอกลักษณ์ด้วยข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน เช่น รายการย้อนรอย ถอดรหัส
* ตั้งชื่อรายการข่าวพ่วงชื่อสถานีทุกครั้ง เช่น ข่าวเช้าไอทีวี, ข่าวเที่ยงไอทีวี และข่าวค่ำไอทีวี เพื่อสร้างตัวตน และสร้างการรับรู้ต่อผู้ชม
* ใช้การส่งสัญญาณจากยอดอาคารใบหยก 2 และมีสถานีเครือข่ายทั้งสิ้น 52 แห่งทั่วประเทศ ทำให้กลายเป็นสถานีโทรทัศน์ที่มีเครือข่ายมากที่สุดครอบคลุมผู้รับชมเกือบ 98% ของประเทศ
•
รวมทั้งการคัดเลือกผู้ประกาศข่าวของไอทีวี อย่างคุณกิตติ สิงหาปัด คุณเทพชัย หย่อง ซึ่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายข่าวในขณะนั้น รวมไปถึงคุณไตรภพ ลิมปพัทธ์ ที่เข้ามาบริหาร จากดีลของกันตนากรุ๊ปและคุณไตรภพ ที่เข้ามาเป็นรองประธานกรรมการ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) และผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไอทีวีช่วงปี 2547-2549
•
รวมทั้งอีกหลายท่าน เช่น คุณนรากร ติยายน
คุณฐปณีย์ เอียดศรีไชย คุณอนุวัฒน์ เฟื่องทองแดง คุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา ฯลฯ ที่กลายเป็นภาพจำของนักข่าวและผู้ประกาศข่าวไอทีวี ที่ทุกวันนี้ก็ยังคงมีภาพจำในการเป็นคนข่าวจากไอทีวี
•
ดังนั้นจริงๆแล้ว ไอทีวีนอกจากในฐานะบริษัททางกฎหมายที่ยังมีอยู่เพื่อต่อสู้คดี แต่อีกสถานะคือคนข่าวไอทีวี ที่ยังคงมีบทบาทในวงการโทรทัศน์และวงการสื่อสารมวลชน ที่ยังเป็นภาพจำของสังคม โดยเฉพาะขณะนี้ที่มีการตรวจสอบสถานะของไอทีวี และความไม่ชอบมาพากลบางอย่างของไอทีวีในปัจจุบัน นี่ต่างหากจึงทำให้ไอทีวีไม่หายไปไหน แต่ไปอยู่ในวงการสื่อ และยังคงทำหน้าที่สื่อสารมวลชนต่อไป เหมือนที่พวกเขายังเคยทำงานที่ไอทีวี
•
แม้ล่าสุดไอทีวีได้ชี้แจงแล้วว่า ทั้งบันทึกการประชุมปี 2566 และงบการเงิน ปี 2535 ไม่ได้ต้องการสื่อสารว่า “ยังประกอบกิจการสื่ออยู่” ที่ได้ชี้แจงในวันนี้ (15 มิ.ย.2566)
•
ขณะที่ในเวลา 16 ปีที่ผ่านมา ไอทีวี ในขณะที่บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ กลุ่ม Singtel และเทมาเส็ก มีความพยายามที่จะกลับมาดำเนินธุรกิจสื่อ หลังจากมีแนวโน้มชนะคดีและมีเงินสดอยู่ประมาณ 1,200 ล้านบาท โดยเดือนมกราคม 2560 ไอทีวี ได้รับข้อเสนอจากทีวีดิจิทัลแห่งหนึ่ง ต้องการให้ไอทีวีเข้าถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 49 ในวงเงินประมาณ 300 ล้านบาท แต่เมื่อวิเคราะห์ถึงสภาพตลาด การแข่งขัน และข้อดีข้อเสียของการเข้าลงทุน ทั้งเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงมาก มีผู้ประกอบการรายที่เป็น ผู้นําตลาดเท่านั้นที่จะพอสร้างกําไรได้ และ
มีความไม่แน่นอนในการประมาณการรายได้ในอนาคตของบริษัทเป้าหมาย ความกังวลเรื่องการบริหารเงินลงทุน เนื่องจากใช้เงินทุนหมุนเวียนของทีวีดิจิทัลช่องนั้น ซึ่งมีภาระหนี้สินในระดับสูง ยังมองไม่เห็นว่า จะสามารถพลิกฟื้นธุรกิจได้ในระยะเวลาอันใกล้
•
รวมทั้งไอทีวี เคยว่าจ้าง บลจ.ภัทร เป็นที่ปรึกษาการลงทุน โดยมีวงเงินลงทุนสูงสุดไม่เกิน 1,000 ล้านบาท กลุ่มธุรกิจเป้าหมาย คือ ธุรกิจด้านเทคโนโลยี มีเดีย และเทเลคอม (TMT) ซึ่งแม้จะกีการเจรจาบริษัทเป้าหมายที่จะเข้าไปลงทุน แต่เนื่องจากไอทีวียังมีปัญหาหนี้สินจากคดีความ และการไม่มีทั้งบุคลากร ความชำนาญ เครื่องมือ หรือ การเชื่อมโยงและประโยชน์ที่จะมาเกื้อหนุน จึงทำให้ไอทีวีไม่ได้มีการลงทุนในบริษัทด้านสื่อเทคโนโลยี และ เทเลคอม แต่อย่างใด
•
แต่การพิสูจน์การเป็นบริษัทสื่อหรือไม่ และจะส่งผลอย่างไรกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ทั้งสถานะส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี คงเป็นเรื่องต้องติดตามและพิสูจน์ในกระบวนการยุติธรรมต่อไป
•
และนี่คือเหตุผลว่าทำไม 15-16 ปีที่ผ่านมท ไอทีวี ทำไมไม่เคยหายไปไหน และยังอยู่ในใจของคนมาโดยตลอด
•
ลองแลกเปลี่ยนกันนะครับว่า คุณยังจำไอทีวีได้ไหม มีความทรงจำอะไรกับไอทีวี หรือ รายการอะไรที่คุณนึกถึงไอทีวี
•
สามารถติดตามความเคลื่อนไหว connect the dots ได้ที่
Facebook : Connect the Dots
YouTube : www.youtube.com/@th.connectthedots
และทาง Spotify Podcast : connectthedotsth
#Connectthedots
•
ที่มา :
https://www.thansettakij.com/politics/568108
https://www.thansettakij.com/business/568076
https://www.thansettakij.com/politics/568100