จิตวิทยาการลงทุน และทัศนคติ เพื่อเอาตัวรอดในช่วงตลาดขาลง
.
“มีเพียงนักลงทุนเพียง 10% เท่านั้น ที่ประสบความสำเร็จในระยะยาว”
.
การลงทุน และการพนันนั้นมีเพียงเส้นบางๆ ที่ขีดกั้นศาสตร์ทั้งสองไว้อยู่ และเส้นแบ่งนั้นเรียกว่า ‘แผนการ’ และ ‘ทัศนคติ’ อย่างไรก็ดีแผนการที่ยอดเยี่ยม และรัดกุมเพียงใด หากปราศจากทัศนคติที่เหมาะสม ในระยะยาวย่อมรักษากำไรที่ได้มาจากตลาดให้คงอยู่ไว้ได้ยาก
.
ในยุคปัจจุบันที่การใช้งานโซเชียลมีเดียนั้นเป็นที่ใช้งานกันอย่างแพร่หลาย ประกอบกระแสของการลงทุนกลายมาเป็นสิ่งที่ทุกคนให้ความสนใจ ในโซเชียลมีเดียนั้น เราจึงมักจะจมไปกับทะเลแห่งข่าวสาร และความคิดเห็นต่อการลงทุนที่แตกต่าง และอาจทำให้เกิดความเคลือบแคลงใจต่อแผนการที่วางแผนมาแล้วเป็นอย่างดี ส่งผลให้ผู้คนส่วนใหญ่อาจไขว้เขวไม่ทำตามแผน และตัดสินใจผิดพลาดขึ้นมาได้
.
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับช่วงตลาดหมี หรือตลาดขาลงที่ราคาของสินทรัพย์ระดมทุนมีการปรับฐานราคาลงมาอย่างหนักหน่วง จุดนี้นี่เองที่จะเป็นตัวทดสอบว่า ‘จิตวิทยาในการลงทุน’ ของคุณมีความพร้อมมากน้อยเพียงใด Creative Investment Space จึงอยากจะชวนขยายความคำว่าจิตวิทยาการลงทุนนั้นคืออะไร และทัศนคติเพื่อการเอาตัวรอด ในช่วงที่ตลาดขาลงมาเยือนควรจะเป็นอย่างไร
จิตวิทยาการลงทุน คือ การเข้าใจตัวเอง
.
หลายคนมักจะเข้าใจว่าจิตวิทยาการลงทุนที่ดี คือการที่เราต้องลอกเลียนแบบวิธีคิด และวิธีจัดการความเสี่ยงของเซียนนักลงทุนชั้นแนวหน้ามาใช้กับตนเอง แต่แท้จริงแล้วนั่นคือความเชื่อที่ผิด เพราะนักลงทุนแต่ละคนนั้นย่อมแบกรับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากัน การที่เรานำวิธีคิดของผู้อื่นมาใช้กับตัวเองโดยไม่มีการปรับให้เข้ากับแผนการของตน ก็เปรียบเสมือนกับการที่เราเลือกรองเท้าวิ่งมาราธอนที่ไม่พอดีกับเท้าของเรา ที่ต่อให้รองเท้าคู่นั้นจะดีเพียงใด แต่ไม่สามารถที่จะใช้วิ่งได้ในระยะยาวได้อย่างแน่นอน
.
ดังนั้นเราจึงจะต้องทำความเข้าใจตัวเองเสียก่อนว่าพฤติกรรมการลงทุนของเรานั้นจะเป็นรูปแบบใด อยากได้ผลตอบแทนในรูปแบบไหน จำนวนเท่าใด รับความเสี่ยงได้มากแค่ไหน เราจึงจะสามารถออกแบบแผนการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเองออกมาได้ ซึ่งแน่นอนว่าการพูดนั้นมันง่ายกว่าการปฏิบัติ เพราะยังมี 2 ปัจจัยทางจิตวิทยาที่ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ต้องพ่ายแพ้ให้กับตลาด เพียงเพราะสิ่งที่เรียกว่า ‘ความโลภ’ และ ‘ความกลัว’ ที่คอยทำลายวินัยในการลงทุนของพวกเขาจนย่อยยับ
.
‘ความโลภ’ ที่มากเกินไปทำให้เรามองไม่เห็นผลตอบแทนที่เหมาะสม จนทำให้เราปฏิบัตินอกเหนือไปจากแผนการที่วางไว้ และในสุดท้ายจากที่จะสามารถทำกำไรจากการลงทุน กลับกลายเป็นว่าต้องขายในราคาเท่าทุน หรือที่แย่ไปกว่านั้นคือการขายขาดทุน ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนทุกคนไม่ต้องการที่จะพบเจอ ในขณะที่ ‘ความกลัว’ อาจทำให้เราตัดสินใจขายสินทรัพย์ในพอร์ตออกไปเร็วเกินไป จิตวิทยาการลงทุนคือการบริหารจัดการความโลภ และความกลัวให้เหมาะสม ทุกการกระทำของคุณต้องมีเหตุผลมารองรับ ต้องโลภ และกลัวอย่างมีหลักการ และเหตุผล
.
ทัศนคติที่เหมาะสมคือสิ่งทีช่วยให้นักลงทุนสามารถเอาตัวรอดได้ในช่วงตลาดขาลง
.
อีกสิ่งที่นักลงทุนหลายคนมักจะเข้าใจผิดก็คือนักลงทุนที่เก่งคือ ‘ผู้ที่สามารถทำกำไรในทุกช่วงสภาวะตลาด’ แม้แต่ในช่วงตลาดขาลงที่หนาวเหน็บ แต่แท้จริงแล้วหัวใจหลักของการลงทุนยังคงเป็นเรื่องการประเมินความเสี่ยงก่อนตัดสินใจ หากลองประเมินแล้วว่ามี Risk มากกว่า Reward ในบางครั้งการอยู่เฉยๆ เพื่อหาจังหวะที่เหมาะสม ก็เป็นหนึ่งในแผนในการลงทุนที่ยอดเยี่ยมเช่นกัน
.
และต้องอย่าลืมที่จะกระจายเงินของเราไปอยู่ในสินทรัพย์ที่เหมาะสม เพราะผลิตภัณฑ์ทางการลงทุนแต่ละตัวก็มีช่วงเวลาขึ้นลงที่แตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างเช่นในปัจจุบันอาจจะสังเกตุได้ว่าตลาดคริปโตเคอร์เรนซี่ และตลาดหุ้นไทยมีการปรับตัวลงเนื่องจากการขึ้นดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ ทำให้ Fund Flow ไหลไปอยู่ในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยอย่างทองคำ และพันธบัตรัฐบาลมากขึ้น สินทรัพย์ทั้งสองประเภทนี้จึงให้ผลตอบแทนได้มากกว่า หากต้องการที่จะทำกำไรให้ได้ในทุกสภาวะตลาดจึงจำเป็นที่จะต้องเข้าใจธรรมชาติของสินทรัพย์แต่ละประเภทให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน
.
หรือหากมองว่าช่วงตลาดขาลงคือโอกาสในการซื้อของถูก เพื่อไปขายแพงในอนาคตต้องประเมินสถานการณ์ และกำหนดกรอบเวลาในการลงทุนให้ชัดเจน คาดการปรับตัวลงของราคานั้นจะส่งผลยาวนานเพียงใด เมื่อไหร่ที่ควรจะขายทำกำไร และหากทุกอย่างไม่เป็นไปตามแผนคุณมีวิธีการที่จะออกจากตลาดอย่างไรให้เจ็บตัวน้อยที่สุด
.
สุดท้ายนี้นั้นจิตใจที่แข็งแกร่งไม่ได้ถูกสร้างขึ้นในชั่วข้ามคืน นักลงทุนชั้นเซียนที่ทำกำไรจากตลาดระดมทุนได้อย่างมหาศาลในปัจจุบันล้วนเคยต้อง ‘จ่ายค่าเทอม’ ให้กับตลาดเพื่อการเรียนรู้มาก่อน การหมั่นทบทวนแผนการลงทุนของตัวคุณเอง และหมั่นรักษากำไรที่ได้จากการลงทุนอยู่เสมอ ย่อมทำให้คุณเกิดการเรียนรู้ที่จะทำกำไรได้มากขึ้นจากตลาดในอนาคต
เพราะในโลกของการลงทุนนั้นไม่มีคำว่าบังเอิญ และเงินที่ได้มาอย่างง่ายๆ สุดท้ายแล้ว ตลาดก็จะเอาคืนไปอย่างง่ายๆ อย่างเช่นกัน
Reference:
https://www.investopedia.com/terms/t/trading-psychology.asp
https://www.investopedia.com/articles/trading/02/110502.asp
https://www.businessinsider.com/what-percentage-of-traders-make-it-2011-6
https://www.setinvestnow.com/th/knowledge/article/42-the-psychology-of-investment
https://www.scb.co.th/en/personal-banking/stories/grow-your-wealth/bear-market.html