ถ้าพูดถึงสินทรัพย์การลงทุนต่างประเทศยอดนิยมของคนไทยในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาย่อมต้องมีตลาดหุ้นจีนโดยเฉพาะตลาดหุ้นฮ่องกงรวมถึงตลาดหุ้นเวียดนามรวมอยู่ด้วย
แต่ถึงตอนนี้ทั้งสองดัชนีต่างปรับตัวลดลงเป็นอย่างมากโดยดัชนี Hang Seng ปรับตัวลดลงตั้งแต่ต้นปี 33% แต่ถ้านับจากจุดสูงสุดที่เกิดขึ้นในปี 2021 ดัชนีปรับตัวลดลงมาแล้วกว่า 51% ส่วนดัชนี Vietnam Index ปรับตัวลดลงจากช่วงต้นปีและจากจุดสูงสุดแล้ว 35% เรียกได้ว่าเข้าสู่ภาวะหมีโดยสมบูรณ์
คุณ ณพวีร์ พุกกะมาน นักลงทุนและผู้ก่อตั้ง Creative Investment Space (CIS) สถาบันให้ความรู้ด้านนวัตกรรมการลงทุนรูปแบบใหม่ เผยถึงสาเหตุหลักที่ทำให้ตลาดหุ้นฮ่องกงปรับตัวลงแรงมีหลายปัจจัย ไล่มาตั้งแต่นโยบายควบคุมหุ้นเทคโนโลยีจีนจากรัฐบาล การออกมาถอดถอนบริษัทสัญชาติจีนที่ลิสต์อยู่ในตลาดหุ้นอเมริกา นโยบาย Zero Covid ของรัฐบาลจีน จนมาถึงล่าสุดดัชนี Hang Seng ปรับตัวลดลงในวันเดียวกว่า 5% จากความกังวลว่าประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้นำสูงสุดวาระที่สาม จะมีนโยบายที่กดดันต่อการเติบโตของเศรษฐกิจฮ่องกง
ขณะที่ปัจจัยพื้นฐานของตลาดหุ้นฮ่องกงกำลังถูกท้าทายจากการสูญเสียตำแหน่งผู้นำทางด้านการเงินให้กับทางสิงคโปร์ตลอดจนตลาดไอพีโอของฮ่องกงซบเซาลงอย่างมาก ทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ตลาดหุ้นฮ่องกงปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง
ด้านตลาดหุ้นเวียดนาม แม้ว่าการประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาสที่สองจะออกมาเติบโตถึง 13% แต่การที่ยังคงเป็นประเทศกำลังพัฒนาทำให้ประสบปัญหาเรื่องของค่าเงินด่องที่อ่อนค่าลงมาจากการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯและความกังวลว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกอาจจะทำให้เวียตนามไม่สามารถส่งออกรวมถึงเป็นฐานการผลิตสินค้าป้อนตลาดโลกได้ตามเป้าหมาย
แต่ประเด็นที่ทำให้ตลาดหุ้นเวียดนามปรับตัวลงมาแรงน่าจะเป็นเรื่องความไม่มั่นใจในการตลาดการเงินอย่างเช่นการจับกุม Truong My Lan ประธานบริษัท Van Thinh Phat Holdings Group กลุ่มบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ข้อหาครอบครองอสังหาริมทรัพย์ด้วยวิธีฉ้อโกง
และยังพัวพันไปถึงธนาคารใหญ่อันดับต้นๆของประเทศอย่าง Saigon Commercial Bank ที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าวด้วยจนทำให้ผู้คนแห่กันไปถอนเงินจนรัฐบาลต้องออกมาประกาศว่าจะคุ้มครองเงินฝาก
การที่สัดส่วนนักลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามกว่า 90% เป็นรายย่อยและมีพฤติกรรมการเก็งกำไรและกู้เงินมาลงทุนทำให้เวลาที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงมักเกิดปัญหา Force Sell หรือบังคับขายจนทำให้ตลาดหุ้นลงหนักกว่าปกติ
แม้ทั้งสองตลาดจะมีประเด็นลบทั้งปัจจัยพื้นฐานและความวิตกกังวล แต่ในระยะยาวทั้งสองตลาดยังมีความน่าสนใจในการลงทุน อย่างเช่นค่า P/E ของตลาดหุ้นฮ่องกงที่งมาต่ำกว่าค่าเฉลี่ยตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาค ตลอดจนนโยบายการจัดการกับไวรัสโควิดที่ผ่อนคลายมากขึ้น
ที่สำคัญคือหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีของจีนลงมาในระดับที่แวลูเอชั่นน่าสนใจในระยะยาวแม้จะมีความกังวลว่าจะถูกควบคุมดูแลโดยรัฐบาล แต่ไม่ว่าจะอย่างไรอัตราการเติบโตของบริษัทเทคโนโลยีจีนยังคงมีแนวโน้มที่ดี ที่สำคัญคือเศรษฐกิจจีนยังเติบโตได้ดีและปัญหาเงินเฟ้อระดับต่ำจะเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุน
ขณะที่ตลาดหุ้นเวียดนาม เป็นเรื่องปกติที่ตลาดหุ้นเกิดใหม่จะมีปัญหาความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน แต่ภาพรวมการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามยังคงไปในทิศทางเชิงบวกอีกทั้งยังมีเงินเฟ้อที่ไม่สูงมาก การปรับตัวลงของตลาดหุ้นที่เกิดจากความวิตกกังวลไม่ได้เกิดจากปัจจัยพื้นฐาน อาจเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการทะยอยเข้าลงทุน
ไม่ว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวช้าหรือเร็ว เวียดนามก็ยังคงเป็นฐานการผลิตใหม่ที่สำคัญของแบรนด์ดังต่าง และกำลังก้าวขึ้นมาเป็นตลาดผู้บริโภคที่มีขนาดใมหญ่ พื้นฐานเศรษฐกิจและตลาดหุ้นของเวียดนามจึงยังอยู่ในเชิงบวก
สรุปคือทั้งตลาดหุ้นฮ่องกงและเวียดนาม แม้ระยะสั้นจะมีปัจจัยลบหลายด้าน แต่ในระยะยาวการที่ดัชนีปรับตัวลงมาค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับปัจจัยพื้นฐานและแวลูเอชั่นถือว่าน่าสนใจใสการลงทุนระยะยาวโดยการทะยอยเข้าสะสมผ่านกองทุนรวมหรือกองทุน ETF และ DR ที่ซื้อขายในตลาดหุ้นไทย แต่สำหรับนักเก็งกำไรช่วงเวลานี้อาจจะยังไม่เหมาะสมนัก ยังคงต้องรอปัจจัยบวกของตลาดการเงินทั่วโลกว่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้หรือไม่