ก่อนหน้านี้ในบทความ ‘การบริหารเงินลงทุน (Money Management)’ นั้นเราได้รู้จักกับเคล็ดลับการจัดสรรเงินลงทุน และได้มีการเกริ่นถึง ‘Risk/Reward Ratio (RRR)’ หนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยให้การตัดสินใจลงทุนในหุ้น, กองทุน หรือแม้กระทั่งคริปโตฯ นั้น ‘ได้กำไรมากกว่าเสีย’ และ ‘ขาดทุนได้ยากขึ้นกว่าเดิม’ ในระยะยาว และในวันนี้เราจึงจะมาทำความรู้จักกับเครื่องมือตัวนี้ให้ละเอียดมากขึ้นว่า หลักการใช้งานของ Risk/Reward Ratio นั้นเป็นอย่างไร
ก่อนอื่นนั้นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าในโลกของการลงทุน ‘ผลตอบแทน’ และ ‘ความเสี่ยง’ เป็นสิ่งมาคู่กัน หากหุ้นตัวหนึ่งมีเป็นหุ้นที่การเติบโตที่สูง ย่อมมาพร้อมกับความเสี่ยงที่มากขึ้นตามมาดั่งเงา ดังนั้นหากต้องการผลตอบแทนที่มากขึ้น จำเป็นที่จะต้องแบกรับความเสี่ยงที่มากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น Risk/Reward Ratio จึงเป็นเครื่องมือที่มาช่วยให้เราประเมินได้ว่า ‘ผลตอบแทน’ และ ‘ความเสี่ยง’ นั้นคุ้มค่าหรือเปล่าหากจะวางเงินลงทุน
หลักการของ Risk Reward Ratio นั้นสุดแสนจะเรียบง่าย โดยเป็นแนวคิดในการพิจารณาในการวางเงินลงทุนผ่าน ‘โอกาสในการได้กำไร และความเสี่ยงที่จะขาดทุน’ โดยการเปรียบเทียบ จุดตัดขาดทุน (Stop loss) และจุดขายเอากำไร (Take Profit) ว่าหากเปรียบเทียบกันแล้วนั้นกำไรที่เราจะได้รับคุ้มค่ากับความเสี่ยงต่อการจะขาดทุนที่ต้องแบกรับหรือเปล่า?
ยกตัวอย่างเช่น หุ้น ก มีการวิ่งขึ้นลงในกรอบราคา 100 – 150 บาท ตลอดช่วงเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา ในปัจจุบันราคาของ หุ้น ก อยู่ที่ 110 บาท หากเราตัดสินโดยใช้ Risk/Reward Ratio วิเคราะห์ว่าราคานี้ควรเข้าซื้อหรือเปล่า จะพบว่าจุดตำ่สุดของกรอบราคานั้นอยู่ที่ 100 บาท และจุดที่สามารถทำกำไรได้มากสุดจะอยู่ที่ 150 บาท
ทำให้เราสามารถประเมินได้ว่าจุดควรขายขาดทุน และขายทำกำไรอยู่ที่จุดใด โดยตัดสินใจตั้ง Stop loss อยู่ที่ 100 บาท และจุด Take Profit ที่ 150 บาท หากเราเข้าซื้อที่ราคาปัจจุบันจะเห็นได้ว่าหากขาดทุน เราจะขาดทุน 10 บาท และได้กำไร 40 บาทต่อหุ้น Risk/Reward Ratio ของเราจะอยู่ที่ 1/4 หรือ 0.25 หมายความว่าการวางเงินลงทุนในครั้งนี้ถ้าได้กำไรเราจะได้กำไร 4 และขาดทุน 1 นั่นเอง
น่าเสียดายว่าไม่มีตำราใดที่บอกไว้อย่างตายตัวว่าเราสัดส่วนของ Risk และ Reward นั้นควรจะอยู่ที่เท่าไหร่ เพราะเป็นตัวเลขที่ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงที่นักลงทุนแต่ละคนสามารถแบกรับได้ แต่กูรูหุ้นผู้คร่ำหวอดในตลาดมาเป็นเวลานานมักจำกัดสัดส่วน Risk และ Reward ให้อยู่ต่ำกว่า 1 เพราะมีแนวโน้มจะทำให้มีผลประกอบการเป็นบวกในการเทรดระยะยาว
สิ่งสำคัญของการใช้งาน Risk/Reward Ratio คือการวิเคราะห์หาจุดขาดทุน และจุดกำไรนั้นควรที่จะวิเคราะห์ตามความเป็นเหตุเป็นผล และทำการบ้านเกี่ยวกับธรรมชาติของหุ้น หรือคริปโตฯ ที่สนใจอย่างละเอียด เพราะการตั้งจุด กำไร/ขาดทุน ตามใจฉัน ทำให้การวิเคราะห์ ‘ผลตอบแทน’ และ ‘ความเสียง’ มีความคลาดเคลื่อน ซึ่งอาจส่งผลให้เราต้องสูญเงินให้กับตลาดได้จากความผิดพลาดเพียงไม่กี่ครั้ง
อย่างไรก็ตาม Risk/Reward Ratio นั้นเป็นเพียงหนึ่งในเครื่องมือการลงทุนที่ต้องใช้ประกอบกับเครื่องมือบริหารความเสี่ยงตัวอื่นๆ อย่างการบริหาร ‘หน้าตักลงทุน’ (Positioning Size) โดยคุณอาจจะเพิ่มเงินในการเข้าซื้อหุ้น ก ให้มากขึ้นเพราะอัตรา Risk/Reward นั้นอยู่ที่ 1/4 เสียเพียงแค่ 1 แต่ได้มาถึง 4 เลยทีเดียว
หัวใจหลักของการลงทุนยังคงเป็น ‘การบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม’ เพราะการลงทุนนั้นไม่ได้วัดกันว่าสามารถทำกำไรได้มากน้อยเพียงใด แต่เป็นการวัดว่าจะสามารถทำกำไรได้ยาวนานแค่ไหนต่างหาก และตราบใดที่เราลงทุนตามแผนที่วางไว้อย่างเป็นระบบ และมีวินัย อย่างไรเสียในระยะยาวก็ แม้จะไม่กำไรแต่ก็ขาดทุนได้ยากอย่างแน่นอน
ที่มา:
https://www.setinvestnow.com/th/knowledge/article/62-control-cost-manage-risk