การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล อย่างคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ในประเทศไทย ที่เคยร้อนแรงเป็นอย่างมาก ได้รับความสนใจลดลง หลังราคาเหรียญปรับตัวลดลงในปี 2565 อย่าง Bitcoin ลดลง 37% BNB หรือ Binance Coin ลดลง 40.39% Ethereum ลดลง 48.82% และ KUB ลดลง 72.86%
•
ขณะที่ตั้งแต่ต้นปี 2566 จนถึง 22 พฤษภาคม 2566 ราคาเหรียญคริปโตเคอร์เรนซี ฟื้นตัว และให้ผลตอบแทนสูงกว่าสินทรัพย์อื่นๆ อย่าง Bitcoin เติบโต 61.44% Ethereum เติบโต 50.15% BNB เติบโต 26.29% ยกเว้น KUB ยังลดลง 8.15%
•
ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้ ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น การทำเหมืองขุดบิทคอยน์ ที่เคยได้รับความนิยม หลายรายก็ชะลอหรือยกเลิก เนื่องจากค่าไฟฟ้าที่สูง ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน และอีกปัญหาสำคัญ คือ การทุจริต เช่น การขายเหรียญแล้วไม่นำเงินเข้าบริษัท การทุจริตของผู้บริหาร การวัดมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัลทางบัญชี รวมทั้งการถูกตักเตือน เรียกปรับของสำนักงาน ก.ล.ต.ทั้งกรณีบิทคับ และ Zipmax หรือการด้อยค่าของเหรียญในต่างประเทศจากการทุจริตของเจ้าของและผู้ก่อตั้งเหรียญทั้งหลาย
•
รวมทั้งก่อนหน้านี้ การเข้าสู่ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เคยจะเป็นการแข่งขันระหว่างรายใหญ่ ระหว่างบิทคับของ ท็อป-จิรายุ ทรัพย์ศรีโสภา ที่บริษัท เอสซีบีเอ็กซ์ บริษัทแม่ของธนาคารไทยพาณิชย์ เคยสนใจเข้ามาลงทุนถือหุ้น 51% ด้วยราคา 17,850 ล้านบาท ทำให้คาดว่า Bitkub มีมูลค่าสูงถึง 35,000 ล้านบาท ก่อนที่จะยุติการเข้าซื้อหุ้น เนื่องจากมีขั้นตอนการตรวจสอบ และสาเหตุหลักคือ การที่ก.ล.ต.ทวงติงการดำเนินงานของบิทคับค่อนข้างมาก มีการเรียกค่าปรับ และห้ามผู้บริหารเข้าดำรงตำแหน่งตามระยะเวลาที่ก.ล.ต.กำหนด
•
ขณะที่ในเวลาเดียวกัน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ได้ร่วมมือกับกลุ่ม Binance ของ Changpeng Zhao เพื่อร่วมลงทุนธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย เพราะเล็งเห็นถึงการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในด้านโครงสร้างพื้นฐานสินทรัพย์ดิจิทัลและเทคโนโลยีบล็อกเชน
•
แม้จะเงียบหายไประยะหนึ่ง ท่ามกลางข่าวของ Binance ที่มีข่าวในต่างประเทศ แต่ในที่สุด บริษัท กัลฟ์ ไบแนนซ์ จำกัด (Gulf Binance) ที่กัลฟ์ถือหุ้น 51% และ Binance ถือหุ้น 49% ได้รับใบอนุญาตในการดำเนินธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และธุรกิจนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล จากกระทรวงการคลัง ผ่านทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
•
โดยแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัลของ Gulf Binance จะเปิดให้บริการระบบการซื้อขายกระเป๋าเงินโทเคนดิจิทัล (digital token wallets) และกระเป๋าเงินคริปโทเคอร์เรนซี (cryptocurrency wallets) ภายในไตรมาส 4 นี้
•
ซึ่งปัจจุบันกัลฟ์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือ AIS และบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือเป็นธุรกิจเทคโนโลยีและดิจิทัลของกัลฟ์ จะมาต่อยอดธุรกิจที่ร่วมมือกับ Binance นี้ โดย AIS ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กว่า 46 ล้านเลขหมาย เช่น การเปิดบัญชีระบบการยืนยันตัวตนของลูกค้า (KYC) หรือในรูปแบบการทำ Loyalty Program ต่าง ๆ
•
ซึ่ง Binance เองที่เคยเข้ามาตั้งธุรกิจในไทย แต่ไม่ได้รับอนุญาตจากก.ล.ต.ในขณะนั้น แต่ขณะนี้มาพร้อมกับใบอนุญาตและพันธมิตรทางธุรกิจคือกัลฟ์ ที่อาจเป็นสัญญาณว่ายังมองเห็นโอกาสจากธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในอนาคต
•
แต่นอกจาก กัลฟ์ ไบแนนซ์ ยังมีผู้ให้บริการรายอื่นที่ได้รับใบอนุญาตจากก.ล.ต. ประเภทผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ Digital Asset Exchange คือ
– บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (BITKUB)
– บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Satang Pro)
– บริษัท อีอาร์เอ็กซ์ จำกัด (ERX)
– บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (Zipmex)
– บริษัท อัพบิต เอ็กซ์เชนจ์ (ประเทศไทย) จำกัด (Upbit)
– บริษัท จีเอ็มโอ-แซด.คอม คริปโทนอมิคซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (Z.comEX)
– บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด (INVX) ในเครือเอสซีบีเอ็กซ์
– บริษัท ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย จำกัด (TDX)
– บริษัท ที-บ็อกซ์ (ไทยแลนด์) จำกัด (T-BOX)
•
ซึ่งรายได้จะขึ้นกับปริมาณการซื้อขายในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล โดยย้อนหลังไปดังนี้
– ตุลาคม 2565 อยู่ที่ 41,000 ล้านบาท
– พฤศจิกายน 2565 อยู่ที่ 64,000 ล้านบาท
– ธันวาคม 2565 อยู่ที่ 25,000 ล้านบาท
– มกราคม 2566 อยู่ที่ 50,000 ล้านบาท
– กุมภาพันธ์ 2566 อยู่ที่ 56,000 ล้านบาท
– มีนาคม 2566 อยู่ที่ 52,000 ล้านบาท
– เมษายน 2566 อยู่ที่ 37,000 ล้านบาท
– พฤษภาคม 2566 (ถึง 22 พ.ค.2566) อยู่ที่ 13,000 ล้านบาท
•
ขณะที่บัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหมดผ่านศูนย์ซื้อขายในไทย 2,932,536 บัญชี ณ สิ้นเดือนเมษายน 2566 มีบัญชีซื้อขายที่ Active คิดเป็น 3.77% เทียบกับจำนวนบัญชีทั้งหมด ซึ่งยังไม่นับรวมในต่างประเทศ ที่คนไทยสามารถไปเปิดบัญชีและซื้อขายโดยไม่ต้องผ่านตลาดในไทย
•
ดังนั้นแม้ธุรกิจกัลฟ์ไบแนนซ์ ยังไม่สามารถตอบได้ว่า จะเข้ามามีส่วนแบ่งในตลาดศูนย์ซื้อขาย รวมทั้งสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยมากน้อยเพียงใด แต่นับจากนี้ถือเป็นการเข้ามาของรายใหญ่ทั้งในไทยและระดับโลก แต่ยิ่งกว่านั้น คือ การสร้างความน่าเชื่อถือ มีมาตรฐาน และเป็นการพิสูจน์ว่า สินทรัพย์เหล่านี้สามารถลงทุนในระยะยาวได้หรือไม่ หรือยังมีความเสี่ยงจากการด้อยค่า การทุจริตที่ยังคงมีข่าวอยู่เสมอ และธุรกิจนี้จะสามารถอยู่ได้ในระยะยาวหรือไม่
•
ที่มา
https://www.sec.or.th/TH/Pages/WEEKLYREPORT.aspx
https://mgronline.com/stockmarket/detail/9660000048778
https://thestandard.co/gulf-binance-crypto-trading/
https://workpointtoday.com/explainer-bitkub/