ที่ผ่านมา Gen X คือคนที่เกิดตั้งแต่ปี 2508-2523 มีอายุตั้งแต่ 44-59 ปี ถูกมองว่าเป็น “เดอะแบก” หรือบางก็ถูกเรียกว่าเป็น ‘Sandwich Generation’ เพราะต้องดูแลทั้งผู้สูงอายุในบ้าน และลูกหลานที่กำลังเติบโต แต่ปัจจุบันด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยหลังการระบาดครั้งใหญ่ ทำให้ Gen Z เลือกอยู่กับครอบครัวเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย และนั่นเป็นราคาที่พวกเขาต้องจ่ายจากภาระที่ได้รับทั้งด้านการเงินและจิตใจ
5 Generations ความต่างที่คุณต้องรู้
1. Baby Boomer (พ.ศ. 2489 – 2507)
2. Generation X (พ.ศ. 2508-2522)
3. Generation Y (พ.ศ. 2523 – 2540) หรือ Millennials
4. Generation Z (พ.ศ. 2540 ขึ้นไป)
5. Generation C (แบ่งกลุ่มตามพฤติกรรมการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ค)
หลังจากเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย จากการระบาดของโควิด – 19 คนรุ่นมิลเลนเนียลเป็นรุ่นแรกที่อยู่บ้านเป็นจำนวนมาก และตอนนี้ Gen Z ก็กำลังเดินตามรอยเท้าของพวกเขา แต่ต่างจากคนรุ่นมิลเลนเนียลที่ถูกเรียกว่า ‘ขี้เกียจ’ ที่จะอยู่กับพ่อแม่จนถึงวัย 20 ปี การที่ Gen Z อยู่บ้านเป็นเรื่องที่น่าสนใจ การตัดสินใจนั้นมาพร้อมกับข้อเสีย เพราะการมีชีวิตอยู่เพียงลำพังเป็นก้าวสำคัญในการเป็นผู้ใหญ่ และการวิจัยระบุว่าผู้ที่ไม่ยอมออกจากบ้านเดิมของพ่อแม่จะต้องชดใช้ทั้งทางการเงินและทางอารมณ์
จากข้อมูลของสำนักงานสำรวจสำมะโนประชากรของสหรัฐอเมริกา ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา มีคนหนุ่มสาวในสหรัฐอเมริกาอาศัยอยู่ที่บ้านเพิ่มขึ้นถึง 87% และมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ที่มีอายุ 18 ถึง 24 ปีในอเมริกาอาศัยอยู่กับพ่อแม่ และในการสำรวจล่าสุดโดย RentCafe พบว่า 41% ของผู้ตอบแบบสอบถาม Gen Z ที่เป็นผู้ใหญ่ที่อาศัยอยู่กับครอบครัว และพวกเขาคิดว่าจะยังคงใช้ชีวิตร่วมกับสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวต่อไปอีกอย่างน้อยสองปี เช่นเดียวกับคนหนุ่มสาวในสหราชอาณาจักร กว่า 620,000 ที่อาศัยอยู่กับพ่อแม่ เพิ่มขึ้นมากจากทศวรรษที่แล้ว
เงินเฟ้อสูง-ค่าเช่าบ้านพุ่ง
แนวโน้มการอยู่อาศัยกับครอบครัวของคน Gen Z มาจากภาระค่าเช่าของตลาดที่อยู่อาศัยที่เพิ่มสูงขึ้น มูดี้ส์ รายงานว่า ในปี ในปี 2022 ผู้เช่าชาวอเมริกัน มีรายจ่ายจากค่าเช่าโดยเฉลี่ยมากกว่า 30% ของรายได้เป็นครั้งแรก โดย Gen Z จะใช้เงินราว226,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับค่าเช่าที่ปรับตามอัตราเงินเฟ้อในช่วงชีวิตของพวกเขา ซึ่งมากกว่าคนรุ่นมิลเลนเนียลที่ประมาณ 24,000 ดอลลาร์ และมากกว่าเบบี้บูมเมอร์ที่ประมาณ 77,000 ดอลลาร์ สิ่งนี้ได้สร้างความตึงเครียดอย่างมากให้กับผู้เช่าที่อายุน้อยเหล่านี้ ซึ่งจากการสำรวจของ Bloomberg News และ Harris Poll ในปี 2023 พบว่า 70% ของเด็กอายุ 18 ถึง 29 ปีที่อาศัยอยู่กับพ่อแม่ โดยพวกเขา ระบุว่า ไม่มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งพอหากจะเลือกไปอาศัยอยู่ที่อื่น
แม้ว่าการสำรวจโดย Bloomberg-Harris Poll พบว่า 40% ของคนหนุ่มสาวกล่าวว่าพวกเขารู้สึกมีความสุขที่ได้อยู่ที่บ้าน และหนึ่งในสามรู้สึกเป็นการตัดสินใจที่ฉลาดที่เลือกอยู่กับครอบครัว แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะรู้สึกดี จากการสำรวจของ Pew ในเดือนตุลาคม 2021 ชาวอเมริกันมากกว่าหนึ่งในสาม กล่าวว่า พวกเขาคิดว่ามันไม่ดีสำหรับสังคมที่คนหนุ่มสาวอาศัยอยู่กับพ่อแม่ มีเพียง 16% เท่านั้นที่บอกว่าเป็นสิ่งที่ดี ด้วยราคาค่าเช่าที่สูงลิบลิ่ว คนหนุ่มสาวจำนวนมากรู้สึกว่าพวกเขาไม่มีทางเลือก
นอกจากนี้ จากรายงานของ Urban Institute ในปี 2019 พบว่า ผู้ที่อาศัยอยู่กับพ่อแม่ที่มีอายุระหว่าง 25 ถึง 34 ปี มีโอกาสเป็นเจ้าของบ้านน้อยลงอย่างมากในอีก 10 ปีต่อมา การวิจัยเปรียบเทียบผู้ที่เช่าหรือซื้อบ้านของตนเองกับผู้ที่อาศัยอยู่กับพ่อแม่ ผลการวิจัยพบว่าหลังจากผ่านไปหนึ่งทศวรรษ 32% ของคนหนุ่มสาวที่อาศัยอยู่กับพ่อแม่ในตอนแรกยังคงไม่สามารถมีชีวิตอิสระได้ ในขณะที่ผู้เช่าและผู้ที่เป็นเจ้าของบ้านไปก่อนหน้านี้เกือบทั้งหมดมีอิสระมากกว่า
เจอภาวะกดดันทางอารมณ์
นอกจากนี้ การอยู่ร่วมกับพ่อแม่ ยังมีภาระทางอารมณ์ เช่นเดียวกับ Sarah Obutor ที่ย้ายกลับไปอยู่บ้านครอบครัวของเธอในจอร์เจีย ตอนอายุ 20 เธอรู้สึกถึงต้นทุนที่ต้องติดอยู่ที่บ้าน “พวกเขายังคงมองคุณเป็นเด็ก ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม” เธอกล่าว พี่ชายสองคนของเธออายุ 27 และ 29 ปีก็อาศัยอยู่ที่บ้านเช่นกัน แต่ Obutor แทบจะรอไม่ไหวที่จะออกไปข้างนอก เธอวางแผนจะกลับไปเรียนที่วิทยาลัยในฤดูใบไม้ร่วงและตั้งใจที่จะอยู่ในมหาวิทยาลัย ความหวังของเธอคือเมื่อเรียนจบแล้วเธอก็จะสามารถหาที่อยู่ได้ด้วยตัวเอง
จากการวิจัยในปี 2022 พบว่า ผู้ที่กลับไปอยู่ที่บ้านพ่อแม่รายงานว่ามีอาการซึมเศร้าในระดับที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ การใช้เวลาร่วมกับพ่อแม่หรือครอบครัวมากขึ้นอาจทำให้เกิดความตึงเครียดกับผู้ที่ย้ายกลับบ้าน Prabash Edirisingha ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านวัฒนธรรมผู้บริโภคและการตลาดจากมหาวิทยาลัย Northumbria กล่าวว่า “ส่วนหนึ่งคือการมีขอบเขตระหว่างบุคคลและพื้นที่ส่วนตัว ในครอบครัวที่มีหลายรุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณอาศัยอยู่ในพื้นที่คับแคบและแออัด มันจะเป็นเรื่องยากมาก”
สำหรับคนหนุ่มสาวหลาย ๆ คน การอยู่คนเดียวเป็นก้าวสำคัญในการรู้สึกเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งนักวิจัย พบว่า ผู้ที่ต้องย้ายกลับไปอยู่กับพ่อแม่ในช่วงที่เกิดโรคระบาด รู้สึกเหมือนเป็นความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ในความรู้สึกว่าพวกเขาโตขึ้น “คุณไม่สามารถทำทุกสิ่งที่คุณอยากทำได้แม้ว่าคุณจะเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ตาม” Obutor กล่าว
เมื่อเหตุการณ์สำคัญในชีวิต เช่น การย้ายออก ซื้อบ้าน และการมีลูก ไม่สามารถทำได้ Gen Z อาจรู้สึกเหมือนกำลังถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ซึ่งการสำรวจ ในปี 2022 ที่จัดทำโดย Relate เครือข่ายสนับสนุนความสัมพันธ์ในสหราชอาณาจักร พบว่า 83% ของกลุ่ม Gen Z กล่าวว่า พวกเขารู้สึกกดดันที่ต้องบรรลุเป้าหมายสำคัญต่าง ๆ เทียบกับ 77% ของคนรุ่นมิลเลนเนียล และ 66% ของผู้ที่มีอายุ 75 ปีขึ้นไปที่พวกเขารู้สึกแบบนี้เมื่อตอนที่พวกเขาอายุน้อย
Jeffrey Jensen Arnett ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยคลาร์ก บอกว่า สำหรับคน Gen Z แนวคิดเรื่องการเป็นผู้ใหญ่กำลังเปลี่ยนไป สำหรับวัยที่กำลังเติบโตเป็นผู้ใหญ่ หรือช่วงอายุ 20 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่ตกลงใจจะแต่งงานหรือมีลูก ถูกมองว่ายังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมจนกว่าจะอีก 10 ปีต่อมา
Gen Z ชอบทำงานที่บ้าน
สำหรับประเทศไทย มี Gen Z ราว 13 ล้านคน และเป็นกลุ่มที่กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดย Gen Z มักจะเปลี่ยนงานบ่อย ย้ายงานสูง ซึ่งอัตราการลาออกของพนักงาน Gen Z ขององค์กรในประเทศไทยจะอยู่ที่ประมาณ 12-15% ต่อปี และปัจจัยที่มีผลทำให้กลุ่มนี้เปลี่ยนงานบ่อย ได้แก่ ความต้องการรายได้ที่สูงขึ้น ไม่พอใจกับสวัสดิการ ต้องการความก้าวหน้าในสายงาน รวมถึงความคาดหวังที่จะได้ทำงานตรงตามทักษะและความสนใจของตัวเอง โดยเฉพาะพื้นฐานของการเป็น Digital Natives
จากงานวิจัย Milkround พบว่า 52% ของพนักงานโดยรวมประสบปัญหาการปรับใช้เทคโนโลยีสำหรับการทำงานที่บ้านในช่วงเริ่มต้นโควิด ขณะที่มีเพียง 31% ของ Gen Z เท่านั้นที่เผชิญปัญหาเดียวกันนี้ ซึ่งประสบการณ์ดังกล่าวทำให้พนักงานกว่า 69% ได้ให้ความเห็นไปในทางเดียวกันว่าพนักงาน Gen Z สามารถปรับตัวได้ดีกว่าตนเองในการทำงานที่บ้านร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ และอีกกว่า 60% กล่าวว่าพนักงาน Gen Z มักจะคอยช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานในประเด็นด้านเทคโนโลยีเสมอ
ขณะที่จากการศึกษาจาก Deloitte ได้สรุปลักษณะการทำงานที่ชอบของคน Gen Z คือ การทำงานภายใต้ความยืดหยุ่น การมีอิสระแต่ไม่แตกแยก การเลือกที่จะทำงานรายบุคคลมากกว่าการทำงานเป็นทีม และการทำงานด้วยแนวทาง work-life balance ดังนั้น เพื่อให้องค์กรพร้อมที่จะเติบโตในระยะข้างหน้าได้อย่างยั่งยืนภายใต้บริบทที่เปลี่ยนไป การเตรียมองค์กรให้พร้อมต่อการเข้าสู่ตลาดแรงงานของ Gen Z จึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้