VAT เป็นคำที่ทุกคนน่าจะเคยเห็นและได้ยินกันเป็นปกติ แต่กลับเป็นประเด็นถกเถียงในสังคมไม่จบไม่สิ้น ทั้งในเรื่องที่ว่า “VAT เป็นภาษีไหม” “จริง ๆ แล้วใครต้องเป็นคนจ่าย” และ “ซื้อของไม่จ่าย VAT ได้ไหม” ลองมาสำรวจดูความหมายและกลไกของมันในระบบเศรษฐกิจกัน
VAT ย่อมาจาก Value Added Tax หรือแปลไทยว่า ภาษีมูลค่าเพิ่ม นั่นหมายความว่าจริง ๆ แล้ว VAT คือ “ภาษี” โดยนิยามของมันอยู่แล้ว ซึ่งภาษีส่วนนี้จะถูกเก็บจากการซื้อขายสินค้าและบริการต่าง ๆ ทั้งภายในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ โดยมักบวกเพิ่มเข้าไปในราคาสินค้าและบริการส่วนใหญ่ (บางที่เก็บแยกต่างหาก) ในอัตรา 7% ของราคาสินค้าและบริการ
ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มคือ ผู้ประกอบการที่ผลิต จำหน่ายสินค้าและบริการ ซึ่งมีรายรับเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ไม่เกินก็จดได้)
ผู้ประกอบการจะต้องคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มรายเดือน ซึ่งมาจากการนำภาษีขายที่เรียกเก็บจากผู้บริโภค มาหักลบกับภาษีซื้อที่เสียให้กับซัปพลายเออร์ ซึ่งถ้าภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อ ผู้ประกอบการต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ถ้าภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย ผู้ประกอบการสามารถขอคืนภาษีส่วนต่างหรือเก็บเป็นเครดิตเดือนถัดไปได้
ถึงแม้จะเป็นภาษีที่ผู้ประกอบการเป็นผู้ชำระต่อกรมสรรพากร แต่ผู้มีภาระในการจ่ายเงิน 7% ก้อนนี้จริง ๆ คือ ผู้บริโภค จึงเรียกกันอีกอย่างว่าเป็น “ภาษี” ทางอ้อม ที่รัฐจะเก็บภาษีก้อนนี้กับประชาชนผ่านผู้ประกอบการอีกที และมันก็ไม่เชิงว่าผู้ประกอบการเขา “ผลักภาระ” มาให้ผู้บริโภค อย่างที่หลายคนพูดกัน และทำให้เข้าใจกันไปว่าผู้ประกอบการกำลังเอาเปรียบผู้บริโภค
ลองคิดว่าถ้าผู้ประกอบการไม่คิดเพิ่ม หรือที่เรียกกันว่า “ผลัก” ให้ผู้บริโภคจ่าย VAT 7% นี้ มันก็จะต้องไปหักจากรายได้ของกิจการ คล้ายกับเป็นต้นทุน ซึ่งโดยปกติเวลาตั้งราคาขายก็จะต้องเผื่อให้ครอบคลุมต้นทุนทั้งหมดและได้กำไรตามที่ต้องการอยู่แล้ว สุดท้ายก็จะกลายเป็นราคาไม่ต่างจากบวก VAT เข้าไป
ในบทความของกรมประชาสัมพันธ์ เขียนเอาไว้เลยว่า “ภาษีมูลค่าเพิ่ม Value Added Tax (VAT) คือภาษีอากรประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นในทุกการบริโภคที่รัฐบาลเรียกเก็บจากผู้ซื้อสินค้าหรือบริการ” แสดงว่าเป้าหมายของภาษีคือผู้บริโภคเป็นหลักอยู่แล้ว ส่วนผู้ประกอบการมีหน้าที่เพียงรวบรวมและนำส่งเท่านั้น ซึ่งก็สอดคล้องกันกับพระราชกฤษฎีกาลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่พิจารณา “เพื่อเป็นการสนับสนุนการฟื้นตัวของการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ และบรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน” แสดงการคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ซื้อเป็นสำคัญ
นั่นหมายความว่า VAT ก็คือภาษีของ “ผู้บริโภค” นี่แหละ แต่ถูกจัดเก็บโดย “ผู้ประกอบการ”
นอกจากนี้ เรื่องที่ว่า “ซื้อของไม่เอา VAT ได้ไหม” ไม่มีอะไรซับซ้อนเลย คำตอบสั้น ๆ คือ “ไม่ได้” ในกรณีที่ไม่อยากจ่าย VAT อาจมีตั้งแต่ผู้บริโภคทั่วไปที่ยังขาดความเข้าใจเรื่องภาษีและอยากได้ของถูก หรือจนถึงผู้ประกอบการด้วยกันที่อาจจะไม่ได้จด VAT บริษัทตัวเอง ก็เลยเอา VAT ซื้อไปหักลบเพื่อขอคืนไม่ได้ แต่อยากได้ต้นทุนถูกลง ซึ่งถ้าผู้ขายยอมขายให้แบบไม่คิด VAT ก็คำนวณภาษีและนำส่งเหมือนเดิมอยู่ดี เรียกง่าย ๆ ว่า “เข้าเนื้อ” หรือถ้าผู้ประกอบการไม่คิด VAT ให้ ไม่ยื่นด้วย ก็ปรับหนัก ๆ คุกเน้น ๆ เลยนะ
เพาะฉะนั้น VAT เลี่ยงไม่ได้ ทั้งคนขายคนซื้อเลย และจำเป็นที่จะต้องส่งมอบใบกำกับภาษีให้ผู้ซื้อเสมอ ไม่อย่างนั้นก็ทั้งปรับทั้งคุกอีกเช่นกัน
สุดท้ายคือประเด็นที่หลายคนคงทราบดีอยู่แล้ว แต่จะขออธิบายเผื่อไว้ เพราะอาจมีคนสับสนอยู่ได้ นั่นคือ แม้ว่าคุณจะจ่าย VAT 7% มาทั้งชีวิต ซึ่งก็นับว่าเป็นภาษีที่จะถูกนำไปพัฒนาประเทศ แต่เมื่อคุณมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คุณก็ต้องยื่นแบบเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่ดี เพราะแม้ทั้งสองอย่างจะเป็นภาษี แต่เป็นภาษีคนละประเภทกัน จะเหมารวมว่าจ่าย VAT คือจ่ายภาษีตามหน้าที่แล้วไม่ได้