การเติบโตของสกุลเงินดิจิทัลโดยเฉพาะบิทคอยน์ที่ล่าสุดมีมาร์เกตแคปติดอยู่ในสิบอันดับแรกของสินทรัพย์การลงทุนทั่วโลก ตลอดจนการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีการเงินไร้ตัวกลางหรือ DeFi ที่เปิดโอกาสให้สามารถสร้างสกุลเงินดิจิทัลประเภท Stablecoins ที่อ้างอิงกับ Fiat Currency สกุลต่างๆของโลกได้ ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับสถาบันการเงินโดยเฉพาะธนาคารกลางทั่วโลกที่ต้องรับมือกับการ Disruption ครั้งนี้
ขณะเดียวกันผลกระทบจากการที่ธนาคารกลางทั่วโลกต่างหันมาอัดฉีดสภาพคล่องทั้งทางตรงด้วยการทำคิวอีและทางอ้อมด้วยการใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเช่นกดดอกเบี้ยระดับต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิดยิ่งทำให้มูลค่าของ Fiat Currency ในระยะยาวยิ่งลดลง
สิ่งที่เกิดขึ้นคือองค์กรต่างๆหรือนักลงทุนสถาบันที่มีเงินสดหรือ Fiat Currency ในมือจำนวนหนึ่งเลือกที่จะกระจายการลงทุนไปยังสกุลเงินดิจิทัลอย่างบิทคอยน์ อย่างเช่น TESLA ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอันดับหนึ่งของโลกที่นอกจากเข้าลงทุนในบิทคอยน์ยังเปิดให้สามารถใช้บิทคอยน์ในการชำระค่าสินค้าได้อีก
แม้ว่าสกุลเงินดิจิทัลกำลังเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น แต่มุมมองของผมไม่ได้คิดว่าจะสามารถเข้ามาแทนที่ Fiat Currency หรือการทำงานของธนาคารกลางรวมถึงสถาบันการเงินดั้งเดิมได้ทั้งหมดอย่างแน่นอน
เหตุผลข้อแรก แม้มูลค่าของสกุลเงินดิจิทัลจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีข้อจำกัดในการนำไปใช้งานในฐานะสื่อกลางการแลกเปลี่ยน (Medium) อยู่พอสมควรด้วยราคาที่มีความผันผวนสูงจึงไม่เหมาะสมกับการนำมาใช้เป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนและชำระเงิน
เหตุผลข้อที่สอง เทคโนโลยีที่รองรับสกุลเงินดิจิทัลยังไม่ถึงขั้น Mass Adoption หรือสามารถใช้งานได้ทั่วไป แม้จำนวนผู้ถือ Wallet สกุลเงินดิจิทัลจะเพิ่มขึ้นทั่วโลก แต่ต้องไม่ลืมว่าบนโลกนี้ยังมีอีกเป็นพันล้านคนที่ยังเข้าไม่ถึงอินเทอร์เนต หลายประเทศยังปิดกั้นการเข้าถึง Cryptocurrency รวมถึงวิธีการใช้งานยังมีความยุ่งยากซับซ้อน
เหตุผลข้อที่สาม การที่ Cryptocurrency ทำงานอยู่บนออนไลน์ทำให้เกิดปัญหาในเรื่องของการโจรกรรมออนไลน์เช่นการถูก Hack Wallet ปัญหานี้มีมาตลอดสิบปีที่สกุลเงินดิจิทัลถือกำเนิดขึ้นบนโลกนี้ ขณะที่โปรเจกต์ DeFi บางส่วนยังไม่มีความสมบูรณ์และมีปัญหาการฉ้อโกงกันอยู่
ผมจึงคิดว่าสกุลเงินดิจิทัลโดยเฉพาะบิทคอยน์จึงเหมาะสมที่จะเป็นสินทรัพย์การลงทุนที่สามารถกักเก็บมูลค่า (Store Of Value) เพื่อลดความเสี่ยงจากการด้อยค่าของ Fiat Currency ตลอดจนภาวะเงินเฟ้อมากกว่าจะถูกนำมาใช้แทนเงิน Fiat Currency ในปัจจุบัน หรือจะพูดว่านำมาใช้เป็น “ทางเลือก” มากกว่าแทนที่ อย่างเช่นที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นบางรายเลือกที่จะนำเงินสดมากระจายความเสี่ยงลงทุนในบิทคอยน์
สกุลเงินดิจิทัลยังมีคุณสมบัติบางข้อที่ต้องยอมรับว่าเป็นข้อด้อยของ Fiat Currency ในปัจจุบันก็คือต้นทุนในการทำธุรกรรมการโอนเงินหากันที่ต่ำและมีความรวดเร็วมากกว่าระบบในปัจจุบันอย่างมาก โดยเฉพาะการโอนเงินระหว่างประเทศซึ่งเป็นโอกาสที่สกุลเงินดิจิทัลจะเข้ามาแทนที่ระบบการเงินแบบดั้งเดิมได้ในระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางทั่วโลกก็มองเห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบการเงินในยุคกึ่ง Analog และ Digital จึงได้พัฒนา CBDC หรือสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางขึ้นมา แม้ว่าจะใช้บล็อกเชนเป็นพื้นฐานเทคโนโลยี แต่การใช้งานยังคงเป็นรูปแบบของ Private Blockchain ซึ่งต่างจากบล็อกเชนของสกุลเงินดิจิทัลที่ทำงานแบบไร้ตัวกลาง กล่าวคือ CBDC เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ทำงานอยู่ภายใต้ระบบการเงินดั้งเดิมแต่ได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพและลดต้นทุนการทำธุรกรรมลง
ตัวอย่างเช่นต้นทุนการพิมพ์ธนบัตรและเหรียญของประเทศไทยต่อปีอยู่ที่กว่าหมื่นล้านบาท หากมีการเปลี่ยนจากการใช้เงินสดมาเป็นเงินดิจิทัลก็จะช่วยลดต้นทุนทางการเงินของประเทศลงได้
ส่วนการมาของ DeFi ก็น่าจะช่วยกระตุ้นให้ธนาคารต้องหันมาปรับปรุงรูปแบบการให้บริการและค่าธรรมเนียมลงเพื่อให้ลูกค้ายังคงใช้บริการต่อไป แม้มูลค่าตลาดของ DeFi ยังเล็กอยู่มากเมื่อเทียบกับระบบการเงินเดิมแต่การเติบโตอย่างรวดเร็วคงเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้ที่อยู่เดิมต้องปรับตัวเอง
บทสรุปคือ Fiat Currency จะยังไม่ได้หายไปไหนแม้ Cryptocurrency จะมีบทบาทและมูลค่าตลาดมากขึ้น ทั้งสองสกุลต่างอยู่บนคนละพื้นที่มีวิธีการนำไปใช้ประโยชน์ที่ต่างกัน และการมาของเทคโนโลยีใหม่น่าจะช่วยให้ระบบการเงินดั้งเดิมมีพัฒนาการที่ทำขึ้นเพื่อปิดจุดอ่อนของตัวเองด้วย
สนใจลงทุนสกุลเงินดิจิทัล
เปิดพอร์ตเงินดิจิทัลกับ Bitazza ซึ่งได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. ประเทศไทย และส่วนลดซื้อขายสูงสุด 70% หากใช้เหรียญ BTZ คลิกเลย!!
#CISThai
Line Official: https://lin.ee/jO65rNq
Website: https://connectthedotsth.com/
FB Fanpage: https://www.facebook.com/CreativeInvestmentSpace