ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา หลายสื่อมีข้อสังเกตร่วมกันเรื่องการมองเห็นของเพจที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งก็ส่งผลต่อยอดของผู้ติดตามด้วย จนหลายคนก็พากันสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น เฟซบุ๊กกำลังวางแผนทำอะไร มีการปรับเปลี่ยนอะไรอีกแล้วเหรอ
•
คำตอบคือ เฟซบุ๊กไม่ได้กำลังวางแผน แต่ได้เริ่มมาสักพักใหญ่แล้ว ด้วยการปรับเปลี่ยนอัลกอริทึมแบบไม่ได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้า แต่ให้อาศัยว่าคอยสังเกตเอาเอง ซึ่งส่วนใหญ่เพจที่ได้รับผลกระทบจะเป็นเพจที่เน้นเผยแพร่คอนเท้นต์ประเภทข่าวเป็นหลัก ซึ่งคอนเท้นต์ที่อัลกอริทึมของเฟซบุ๊กมองว่าเป็นข่าว จะถูกจำกัดการเข้าถึง ซึ่งบอกเลยว่าไม่ใช่แค่เพจในไทยเท่านั้น แต่เรื่องนี้พากันเดือดร้อนกันทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่สื่อใหญ่ทางฝั่งตะวันตก
•
ทางสื่อหลายเจ้าให้ข้อมูลกับ Gizmodo เว็บไซต์ข่าว ว่าพบปัญหาในแบบเดียวกัน ซึ่งส่งผลให้ทราฟฟิกในเพจของพวกเขาหายไปถึง 25% สอดคล้องกับที่ Echobox บริษัทที่รับดูแลการเผยแพร่ให้กับสื่อต่าง ๆ ทั่วโลกได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่า ยอดทราฟฟิกของสื่อกว่า 2,000 รายที่เอคโคบ็อกซ์เก็บข้อมูลลดลงไปกว่า 50% เมื่อเทียบกับจุดพีคสุดในช่วงพฤษภาคมปี 2022 ซึ่งยิ่งมาร่วงหนักในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
•
ซึ่งนี่ก็เป็นผลให้สื่อต่างประเทศหลายเจ้าถึงกับอยู่ไม่ไหวไปต่อไม่ได้ เหมือนที่ส่งผลกระทบอย่างหนักหน่วงกับ Vice สื่อใหญ่ระดับโลก ที่เติบโตมาจากนิตยสารพังก์ในปี 1994 ในมอลทรีออล สหรัฐอเมริกา ก่อนจะย้ายมานิวยอร์กและกลายเป็นสื่อระดับโลก ซึ่งในปี 2017 ไวซ์ เคยมีมูลค่าสูงถึง 5.7 พันล้านดอลลลาร์สหรัฐ ซึ่งตอนนี้มีมูลค่าเพียงเศษเสี้ยวของจำนวนดังกล่าว เพราะล่าสุดได้ยื่นล้มละลายภายใต้บทบัญญัติที่ 11 ของประมวลกฎหมายล้มละลายของสหรัฐ และต้องปิดตัว Vice News Tonight และ Vice World News ลงไปด้วย แต่ยังดีที่ภายใต้บทบัญญัตินี้เป็นการยื่นล้มละลายเพื่อวางแผนสำหรับการฟื้นตัวของบริษัทให้กลับมาเป็นบริษัทที่ทำกำไรได้ ไวซ์จะยังคงดำเนินกิจการต่อไปได้ โดยไวซ์ได้ขายทรัพย์สินให้แก่กลุ่มกองทุนที่ไวซ์กู้ยืมมา โดยแลกเปลี่ยนกับเครดิตมูลค่า 225 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
•
นอกจากไวซ์ที่ต้องเจ็บหนักจากการเปลี่ยนแปลงของอัลกอริทึมเฟซบุ๊ก อีกหนึ่งเจ้าใหญ่ที่ช้ำใจยิ่งกว่าคือ BuzzFeed News ที่ต้องปิดตัวลง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ปลดพนักงานออก 15% จากทั้งหมด 180 คน ซึ่งเรื่องที่ทำให้ BuzzFeed ต้องเจ็บใจกว่าใครในวิกฤตนี้ไม่ใช่มูลค่าความเสียหาย แต่เป็นเพราะความรู้สึกที่เหมือนถูกพี่น้องที่เติบโตมาด้วยกันหักหลัง เพราะบัดซ์ฟีดก่อตั้งเพียงสองปีหลังจากเฟซบุ๊กเปิดตัว และพัฒนาโดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอให้สอดคล้องตามการเปลี่ยนแปลงของเฟซบุ๊กมาโดยตลอด จนพูดกันว่าเป็นสื่อที่ออกแบบมาให้รับกันได้ดีกับอัลกอริทึมของเฟสบุ๊ก แต่ตอนนี้เหมือนว่าจะไม่เป็นแบบนั้นอีกต่อไป
•
โจนาห์ เพอเรตติ ผู้บริหารระดับสูงของบัดซ์ฟีด ได้ออกมายอมรับว่าความเสียหายครั้งนี้เกิดขึ้นจากตัวเขาเองที่ “ลงทุนมากเกินไปด้วยใจรัก” เขาควรจะบริหารได้ดีกว่านี้ และดูเหมือนว่า “เฟซบุ๊กจะไม่ใช่เพื่อนของเราอีกต่อไปแล้ว” พนักงานบางส่วนของบัดซ์ฟีดอาจได้ตำแหน่งที่เหมาะสมที่ HuffPost สื่อดิจิตัลที่บัดซ์ฟีดปิดดีลไปได้ในปี 2020 ซึ่งโจนาห์ มีความตั้งใจที่จะใช้โอกาสนี้เป็นการลงทุนครั้งใหม่และส่งตรงข่าวสารให้แก่ผู้ชมโดยตรง พึ่งพาโซเชียลมีเดียน้อยลงและอาจดึงดูดสายตาของผู้ลงโฆษณากลับมาอีกครั้ง
•
การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ดูเหมือนจะเป็นผลเกี่ยวเนื่องกับเรื่องฉาวของเฟซบุ๊กตั้งแต่ปี 2016 ที่ทำเอาผู้ลงโฆษณาและสื่อพากันไม่ไว้ใจ แต่ถึงจะอย่างนั้นก็ยังต้องเล่นตามน้ำมาอยู่เรื่อย ๆ โดยในตอนนั้น มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของเฟซบุ๊ก เคยอ้างถึงข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่าสื่อประเภทภาพเคลื่อนไหวกำลังได้รับความนิยมในหมู่ผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม มีแน้วโน้มที่คนจะดูวิดีโอยาวขึ้นและสนใจโฆษณาที่จ่ายเงินมหาศาลให้กับเฟซบุ๊ก มาร์กกล่อมจนสื่อหลายเจ้าพากันปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ลดการผลิตคอนเท้นต์ในส่วนงานเขียนจนครีเอเตอร์หลายรายต้องตกงาน และสื่อไปลงทุนกับการผลิตคอนเทนต์วิดีโอแทน
•
ซึ่งในเวลาต่อมาผลที่ได้ก็ไม่เป็นเป็นตามคาด คนไม่ได้สนใจคอนเท้นต์วิดีโอมากเท่าที่มาร์กเคยพูดไว้ แบรนด์ต่าง ๆ และผู้ลงโฆษณาพากันโวยเฟซบุ๊กกันยกใหญ่ และเกิดเป็นการฟ้องร้อง จนต้องออกมายอมรับว่าข้อมูลของเขาผิดพลาด เพราะได้ละเลยปัจจัยสำคัญหลายอย่าง รวมถึงเวลาเฉลี่ยในการชม ซึ่งปรากฏว่าผู้ใช้งานส่วนใหญ่รับชมเฉลี่ยไม่เกิน 3 วินาทีเท่านั้น และไม่หยุดเพียงเท่านั้น ในปี 2018 เฟซบุ๊กพยายามผลักดันการลงทุนกับคอนเท้นต์วิดีโอ ด้วยการใส่ฟีเจอร์ Autoplay ที่กลายเป็นว่าได้ผลตรงกันข้าม สร้างความรำคาญให้กับผู้บริโภค และทำให้สื่อต่าง ๆ ต้องปรับตัวกันอีกรอบ ทั้งยังมีการเปิดเผยว่าจริง ๆ แล้วเฟซบุ๊กมีการพูดคุยถึงกลยุทธ์ “no-PR” การปิดบังข้อผิดพลาดชั่วคราว และทำเหมือนว่าข้อมูลชี้นำของเฟซบุ๊กนั้นเป็นแค่เรื่องของการคำนวณ
•
นอกจากนี้ เรื่องผลประโยชน์ระหว่างสื่อกับแพลตฟอร์มก็ดูจะไม่เป็นที่ลงตัวเท่าไร เพราะสื่อได้สร้างสรรค์คอนเท้นต์มาลงบนแพลตฟอร์ม เป็นการกระตุ้นให้มีผู้ใช้บนแพลตฟอร์มมากขึ้น ควรจะเป็นความสัมพันธ์แบบวิน-วินกันทั้งสองฝ่าย แต่ตัวแพลตฟอร์มเองกลับได้คุมโฆษณาและทำรายได้อย่างมหาศาลอยู่ฝ่ายเดียว เรื่องนี้ทำให้ศาลในหลายรัฐมีคำสั่งให้เฟซบุ๊กจ่ายเงินให้กับสื่อที่ผลิตคอนเท้นต์ เป็นปัจจัยที่นำไปสู่การลดการมองเห็นคอนเท้นต์ข่าวอีกครั้งของเฟซบุ๊ก
•
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงไปมาของอัลกอริทึมเฟซบุ๊กและลูกไม้ที่ทำให้ผู้ลงโฆษณาพากันไม่ไว้ใจกันอย่างต่อเนื่อง ทำให้สื่อที่ต้องพึ่งพาโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กเป็นหลักพากันอยู่ไม่ได้ เพราะต้องเสียงบประมาณในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และขาดรายได้จากผู้ลงโฆษณา
•
หรือนี่จะเป็นขาลงของ Web 2.0 แล้ว เมื่อสื่อต่าง ๆ พากันประคองตัวข้ามช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การพึ่งพาโซเชีลมีเดียน้อยลง เพราะไม่ใช่แค่บนเฟซบุ๊กเท่านั้นที่คอนเท้นต์ข่าวต่าง ๆ ถูกปิดกั้น แต่ดูเหมือนว่าจะเกิดขึ้นกับหลายเจ้าดังอย่าง TikTok Instagram และ Twitter ด้วย นอกจากปัญหาด้วยนโยบายที่ทำให้โผู้ลงโฆษณาพากันไม่ไว้ใจและอัลกอริทึมที่สื่อได้รับผลกระทบ ก็ยังมีเรื่องของข่าวปลอมที่ไม่มีท่าทีว่าจะแก้ได้ ทำให้ผู้ใช้เริ่มหน่ายแล้วเหมือนกัน
•
ความเห็นของสื่อหลายเจ้าคือจะกลับไปสู่จุดเริ่มต้น พึ่งพา Mass Media น้อยลง และใช้ช่องทางเพื่อเผยแพร่เป็นกลุ่มเล็ก ๆ สื่อบางเจ้าเลือกการพัฒนาเว็บไซต์ของตัวเองเพื่อสื่อสารกับผู้อ่านโดยตรง บางเจ้าก็เสนอโซเชียลมีเดียที่แคบลงอย่าง Reddit หรือแม้แต่ Discord และวิธีอื่น ๆ ที่น่าสนใจอย่าง Podcast
•
แต่ถึงกระนั้น การที่สื่อพึ่งพาโซเชียลมีเดียจนผูกติดกันมาอย่างยาวนาน ก็ทำให้การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ทิศทางของการเปลี่ยนแปลงนี้จะเป็นอย่างไร คงต้องรอติดตามกันต่อไปจากทั้งฝั่งของสื่อ และโซเชียลมีเดีย
บทความโดย ทักษ์ ทัพสุริย์
•
สามารถติดตามความเคลื่อนไหว connect the dots ได้ที่
Facebook : www.facebook.com/th.connectthedots
YouTube : www.youtube.com/@th.connectthedots
และทาง Spotify Podcast : connectthedotsth
#Connectthedots
•
ที่มา:
https://www.npr.org/…/web-buzzfeed-vice-gawker-facebook…
https://www.wired.com/story/buzzfeed-news-facebook-future/
https://edition.cnn.com/…/buzzfeed-news…/index.html
https://www.aljazeera.com/…/vice-media-files-for…
https://slate.com/…/facebook-online-video-pivot-metrics…
https://gizmodo.com/facebook-traffic-down-algorithm…
https://www.facebook.com/brandthink.me