เทรนด์การลงทุน ESG เกิดขึ้นในประเทศไทยมาสักระยะ และช่วง 3 – 4 ปีหลัง บริษัทจดทะเบียนได้นำ ESG เข้าไปผนวกรวมในการดำเนินกิจการมากขึ้น สอดรับกับทัศนคติของคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อมและธรรมภิบาลขององค์กร แม้หุ้น ESG จะให้ผลตอบแทนน้อยกว่า พวกเขาก็พร้อมที่จะลงทุน
Stanford Graduate School of Business ได้สำรวจความเห็นของนักลงทุน จำนวน 2,470 ราย ที่มีเงินออมตั้งแต่น้อยกว่า 10,000 ดอลลาร์ไปจนถึงมากกว่า 500,000 ดอลลาร์ เผยให้เห็นความแตกต่างอย่างมากในแต่ละรุ่น โดยผู้ถือหุ้นอายุน้อย กล่าวว่า พวกเขาอยากได้ผู้จัดการกองทุนที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนในบริษัทที่มีวัตถุประสงค์ ESG มากกว่า และยังเต็มใจที่จะเสี่ยงมากกว่า หากจะเกิดการสูญเสียจากการลงทุน
โดยชาวมิลเลนเนียล และ GenZ มากกว่า 80% มองว่าผู้จัดการกองทุนควรเลือกลงทุนในบริษัทที่มีนโยบายให้ความสำคัญกับสังคม สิ่งแวดล้อมและธรรมภิบาล สูงกว่า GenX ที่มีสัดส่วน 60% และเบบี้บูเมอร์ ที่มีสัดส่วนน้อยกว่า 40% นอกจากนี้ สองในสามของนักลงทุนรุ่นมิลเลนเนียล และ Gen Z กล่าวว่า พวกเขากังวลอย่างมากเกี่ยวกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม เช่น การปล่อยก๊าซคาร์บอนและความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ ขณะที่นักลงทุนประมาณสองในสามที่มีอายุ 58 ปีขึ้นไป กล่าวว่าพวกเขากังวลเพียงเล็กน้อยเท่านั้นหรือไม่กังวลเลย และนักลงทุนที่มีช่วงวัย 20 หรือ 30 ปี เต็มใจที่จะสูญเสียเงินลงทุนระหว่าง 6% ถึง 10% เพื่อเห็นบริษัทต่างๆ ปรับปรุงแนวทางปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมของตน แต่กลุ่มเบบี้บูเมอร์ กลับไม่เต็มใจที่จะสูญเสียสิ่งใดเลย
และการจากสำรวจของ Bank of America กับชาวอเมริกัน จำนวน 1,052 คน ที่มีสินทรัพย์การลงทุน 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐและอายุเกิน 21 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีอายุระหว่าง 21 – 42 ปี เพิ่มสัดสัวนการลงทุนในสินทรัพย์ ESG เพิ่มขึ้นจาก 37% ในปี 2018 เป็น 73% ในปี 2022 ขณะที่ผู้มีอายุ 43 ปีขึ้น เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ ESG จาก 11 เป็น 21% เท่านั้น
ไทย ESG คือทางรอด
ดารบุษป์ ปภาพจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อีสท์สปริง (ประเทศไทย) กล่าวว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับเรื่อง ESG ตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 หลัง IMF เพิ่มข้อกำหนดเรื่องธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจ ตลาดหลักทรัพย์กำหนดหลักเกณฑ์ด้านธรรมาภิบาลเพิ่มเติมสำหรับบริษัทที่เข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ มีการสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนไทยเข้าร่วมการประเมิน DJSI Sustainable Index มีการจัดทำรายชื่อหุ้นยั่งยืน Thailand Sustainable Index ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น SETESG และปลายปี 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการตั้งกองทุน ThaiESG ขึ้น โดยปี 2566 ที่ผ่านมา มีกองทุนที่เกี่ยวข้องกับ CG ESG และ ThaiESG ประมาณ 120 กองทุน คิดเป็นสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) กว่า 7.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งผลการดำเนินงานของ SETESG จะสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด
โดยเฉลี่ยหุ้นที่อยู่ใน SETESG จะเป็นหุ้นที่มีขนาดเล็กกว่าหุ้นที่อยู่ใน SET50 และ SET100 มีมูลค่าตามราคาตลาด (Market Cap) เฉลี่ย 94,720 ล้านบาท อัตราปันผลอยู่ที่ 3.57% สูงกว่า SET50 และ SET100 อัตราส่วน P/E อยู่ที่ 16.01 เท่า P/BV อยู่ที่ 1.35 เท่า กระจายตัวอยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรม หลัก ๆ มีกลุ่มพลังงาน ธนาคาร สื่อสาร ขนส่ง และไอซีที ปัจจุบัน SETESG 10 อันดับแรก จะมีสัดส่วนการลงทุนอยู่ที่ 43.79%
“การลงทุนใน ESG เป็นทางรอด ไม่ใช่ทางเลือก ในต่างประเทศให้ความสำคัญมานานแล้ว อย่างการลงทุนที่เป็น Thematic Investment จับเทรนด์ความเปลี่ยนแปลงของโลก เป็นการลงทุนที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างระยะยาว ซึ่งมีผลกับทุกอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์ สมาร์ทโฟน การเปลี่ยนผ่านพลังงาน รวมถึงมองถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เช่น ความเท่าเทียมทางเพศ การเข้าถึงที่อยู่อาศัย บริการทางการแพทย์ การสนับสนุนสตาร์ทอัพ ในต่างประเทศมีรูปแบบการลงทุนหลากหลายรูปแบบที่จะผนวก ESG ผนวกเข้าไปกับการลงทุน เพราะเป็นเส้นทางที่ต้องเดินในอนาคต”
นอกจากนี้ การไม่ปฎิบัติตามหลัก ESG ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากความไม่พอใจของลูกค้าที่มีต่อสินค้าและบริการ เรื่องสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมล้วนส่งผลต่อราคาหุ้น อย่างกรณีการระเบิดของแท่นขุดเจาะน้ำมันกลางอ่าวเม็กซิโกในปี 2010 ทำให้ราคาหุ้น BP ปรับตัวลดลงถึง 50% ในช่วง 2 – 3 เดือนหลังการระเบิด เป็นต้น
ตัวอย่างหุ้น ESG อนาคตดี
บริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ริเริ่มทำ ESG Rating เพื่อใช้ในการประเมินมูลค่าหลักทรัพย์ฯ ตั้งแต่ปี 2565 สำหรับหุ้น 157 บริษัทภายใต้การดูแล และได้ประกาศผลในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา โดยมีบริษัทที่ได้ ESG Rating ระดับ AAA 17 บริษัท AA 119 บริษัท และระดับ A 21 บริษัท ซึ่งสามารถใช้เป็น Benchmark สำหรับนักลงทุนได้ โดย บริษัทที่ได้รับคะแนน ESG สูงสุด 30 บริษัทแรก ยืนยันผลตอบแทนที่สูงกว่าดัชนีตลาดฯโดยรวม สูงกว่า SETHD และSET Sustainable
ธีร์ธนัตถ์ จินดารัตน์ นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐาน บริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สำหรับหุ้น ESG ที่แนะนำให้เป็น Top Pick สำหรับนักลงทุน ได้แก่ บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP ที่ได้ ESG Rating ที่ระดับ AAA ผลประกอบการในปีที่ผ่านมา ผลกำไรเติบโตสูงเกือบ 30% ซึ่งเป็นการเติบโตจากฐานต่ำในปีก่อนหน้า จากการปรับราคาขายเป็น 12 บาท ทำให้มาร์เก็ตแชร์ลดลง ปัจจุบันกำลังฟื้นตัวอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยตั้งเป้าหมายยอดขายเติบโตจาก 26,000 ล้านบาท เป็น 40,000 ล้านบาทใน 5 ปีข้างหน้า หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 9% ขณะที่ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังกลับมาคึกคักมากขึ้น จากการที่ตลาดมีคู่แข่งขันมากขึ้น
OSP ถือเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนหลายด้าน ตามเป้าหมาย Net Zero Emission ในปี 2030 เช่น การสนับสนุนซัพพลายเออร์รายเล็ก ลดการใช้น้ำ ไฟฟ้า และมีแผนใช้บรรจุภัณฑ์รีไซเคิล 100% ในปี 2025 รวมถึงแผนการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรที่อยู่ในซัพพลายเชน และลดการใช้น้ำตาลในเครื่องดื่ม เป็นต้น
อีกบริษัท คือ บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER ที่ได้รับ ESG Rating ที่ระดับ AAA และจากแนวโน้มราคายางที่เพิ่มขึ้นจากต่อเนื่อง จนแตะระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี จากการเติบโตและความต้องการยางในตลาดโลก ซึ่งครั้งนี้ไม่ใช่แค่จีน ซึ่งเป็นตลาดหลักเท่านั้น แต่มีความต้องการเพิ่มขึ้นในตลาดสหรัฐอเมริกา และยุโรป ประกอบกับผลผลิตในหลายประเทศลดลงจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้ราคาเพิ่มขึ้น ซึ่งแนวโน้มอัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจยางดีมาก เพราะต้นทุนไม่ได้เพิ่มขึ้น
สำหรับ NER แม้จะเป็นน้องใหม่ที่เพิ่งเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ 5 ปี แต่มีการดำเนินธุรกิจมา 16 ปี และเริ่มต้นด้วยการให้ความสำคัญกับการดำเนินงานเรื่องสิ่งแวดล้อม เนื่องจากลูกค้ารายใหญ่ที่ทำสัญญาซื้อขายยางกำหนดกฎเกณฑ์ให้ต้องปฏิบัติตามแนวทาง ESG จากนั้นบริษัทจึงให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนมาโดยตลอด
“วิชั่นของ NER ต้องการเป็นผู้นำในการผลิตยางธรรมชาติ พัฒนาธุรกิจสู่อุตสาหกรรมปลายน้ำ ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนอย่างยั่งยืน”
และล่าสุด จากการที่สหภาพยุโรปมีการบังคับใช้กฎหมายใหม่ เรียกว่า EUDR จะไม่รับซื้อยางจากพื้นที่ปลูกยางที่รุกป่า ถือเป็นมาตรการกีดกันการค้าอย่างหนึ่ง ขณะเดียวกันถือเป็นโอกาส เพราะยางที่ปลูกในประเทศไทย สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ และขายได้ในราคาพรีเมียม และยางพารายังเป็นต้นไม้ที่ดูดซับคาร์บอนได้ ทำให้ได้รับสิทธิด้านคาร์บอนเครดิตด้วย ราคายางปรับตัวขึ้นมากจากมาตรการนี้ และทำให้บริษัทได้ AAA เรตติ้งด้านความยั่งยืน ที่ทำ ESG ครบทุกมิติ