KKP Research
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ประเด็นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเริ่มถูกพูดถึงอีกครั้งในวงกว้าง หลังจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังการระบาดของโควิด-19 ยังไม่ค่อยเป็นที่น่าพอใจนัก ซึ่ง KKP Research ก็มองว่าศักยภาพเศรษฐกิจไทยนั้นต่ำลงทุกวิกฤต
นับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งในปี 1997 เศรษฐกิจไทยเติบโตลดลงจากมากกว่า 7% ในช่วงก่อนหน้ามาเหลือเพียง 5% หลังจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 เศรษฐกิจเติบโตเฉลี่ยลดลงเหลือเพียง 3% และหลังวิกฤตโควิดในปี 2019 เศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยได้เพียง 2%
โดยตัวกำหนดศักยภาพเศรษฐกิจไทย ตามหลักการเศรษฐศาสตร์ ปัจจัยที่กำหนดว่าเศรษฐกิจของแต่ละประเทศควรจะเติบโตได้เท่าไร แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มหลักตามปัจจัยการผลิต ได้แก่ 1) จำนวนแรงงาน 2) การสะสมทุน และ 3) เทคโนโลยี ที่จะช่วยให้แรงงานและทุนสามารถผลิตได้มากขึ้น หรือเพิ่มผลิตภาพของปัจจัยการผลิตนั้นเอง
สำหรับประเทศไทย มีแรงงานที่ลดลง เนื่องจากประเทศไทยกำลังเริ่มเข้าสู้สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะทำให้ศักยภาพการเติบโต (GDP Potential) ลดลงประมาณ 0.5 จุดต่อปีจนถึงปี 2030 และลดลง 0.8 จุดต่อปีในทศวรรษที่ 2040 ซึ่งจะทำให้ศักยภาพ GDP ไทยเหลือต่ำเพียงราว 2% ต่อปี
และหากการสะสมทุนหรือผลิตภาพลดลงด้วยก็จะทำให้ศักยภาพ GDP ไทยจะต่ำลงไปได้ถึง 1.3% ต่อปีในปลายทศวรรษหน้า ซึ่งระดับการลงทุนในเศรษฐกิจไทยนั้นก็หายไปตั้งแต่หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง จากที่มีการสะสมทุนเฉลี่ยปีละ 6.6% ต่อปี ลดลงเหลือ 2.1% ตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา
นอกจากนี้ ปัญหาหนี้ครัวเรือน และหนี้ภาคเอกชนโดยรวมที่สูงขึ้น คุณภาพของหนี้ที่ลดลง นโยบายการเงินที่ตึงตัวเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ และการระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในระยะหลัง ทำให้โอกาสที่จะขยายการลงทุนในเศรษฐกิจไทยโดยรวมลดลงไปด้วย
SCB EIC
SCB EIC ได้ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า ยังคงมุมมองการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปี 2567 ที่ 2.5% ครึ่งหลังของปีภาคการท่องเที่ยวเริ่มดีขึ้นจากครึ่งปีแรก ด้วยปัจจัยสนับสนุนทั้งมาตรการวีซ่าใหม่ การขยายเที่ยวบิน และการจัดงานอิเวนต์ขนาดใหญ่
ภาคส่งออกเริ่มกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้น แต่ปัจจัยกดดันเศรษฐกิจที่สำคัญยังคงมาจากภาคการผลิตที่ยังไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนนัก สินค้าคงคลังยังอยู่ในระดับสูงและมีแรงกดดันจากอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่คาดว่าในปี 2567 นี้ จะหดตัวต่ำสุดในรอบ 14 ปี
และตามความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยที่จะเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้าจากภาวะการเงินที่ตึงตัวขึ้น จะส่งผลให้แรงส่งอุปสงค์ในประเทศแผ่วลง ทำให้ SCB EIC มองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1 ครั้งปลายปีนี้เหลือ 2.25% และปรับลดอีกครั้งเหลือ 2% ในช่วงต้นปีหน้า
สำหรับเงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็ว หลังตัวเลขตลาดแรงงานและเงินเฟ้อสหรัฐฯ ออกมาอ่อนแอกว่าคาด ทำให้ประเมินว่าในระยะสั้นเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นในกรอบ 35.70-36.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และ ณ สิ้นปีนี้จึงมองว่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นที่ราว 35.00-36.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
แนวทางการแก้ไข
KKP Research เสนอแนะว่ารัฐบาลไทยควรให้ความสำคัญกับการปฏิรูปใน 4 ด้าน เพื่อยกระดับศักยภาพ GDP อีกครั้ง ได้แก่
1) เพิ่มผลิตภาพ ดึงดูดแรงงานทักษะสูง โดยการปฏิรูปการศึกษาเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อเพิ่มแรงงานทักษะสูงที่จะมาพร้อมกับการลงทุนใหม่ ๆ นอกจากนี้ การทบทวนนโยบายนำเข้าแรงงานทักษะสูงจะต้องคิดใหม่ เพื่อให้สามารถดึงดูดแรงงานที่ประเทศไทยยังขาด และที่สำคัญคือนโยบายส่งเสริมการแข่งขันและต่อด้านการผูกขาด
2) การเปิดเสรีภาคบริการ เนื่องจากเป็นภาคเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดและมีผลต่อศักยภาพของเศรษฐกิจไทยที่สุด โดยเฉพาะการส่งเสริมและเพิ่มการแข่งขันในภาคบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง รวมไปถึงการแก้ไขกฎหมายระเบียบข้อบังคับที่เป็นอุปสรรคอื่น ๆ ในการทำธุรกิจ
3) เพิ่มผลิตภาพของภาคเกษตร ภาคการเกษตรนับเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพต่ำสุด แต่มีความสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจมากในแง่ของสัดส่วนแรงงาน การเพิ่มผลิตภาพของภาคเกษตรและแรงงานในภาคเกษตร และการเพิ่มมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตร จะช่วยเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจไทยได้อีกมาก
4) ปฏิรูปภาคการคลัง การที่ฐานภาษีที่อยู่ในระดับต่ำ และรายจ่ายด้านสาธารณสุขที่สูงขึ้นต่อเนื่อง จึงเป็นไปได้ยากที่ภาครัฐจะสามารถลงทุนขนาดใหญ่เพื่อยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจไทยได้อย่างจริงจัง หากไม่จัดการปัญหาด้านภาระทางการคลังเสียก่อน