แนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังโตต่ำเตี้ยเรี่ยดินเมื่อเทียบกับภูมิภาค กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ปรับลดคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจไทยเหลือโตแค่ 2.7% จากเดิมคาดว่าจะอยู่ที่ 4.4% ต่ำกว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่ที่คาดว่าจะขยายตัว 4.2% ล่าสุดสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หั่นคาดการณ์ GDP ไทยเหลือโตแค่ 2.4% จากเดิม 2.8%
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2567 จากขยายตัว 2.8% เหลือขยายตัวเพียง 2.4% โดยสัญญาณชะลอตัวจากการส่งออกสินค้า การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชน ดังนี้
1. การส่งออกที่หดตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเดือนมี.ค. 67 มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยอยู่ที่ 24,960.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือหดตัวลงถึง 10.9% เมื่อเทียบกับมี.ค. 66
2. การบริโภคภาคเอกชนหดตัว 3.4% โดยยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ เดือนมี.ค. 67 ลดลง 24.8 และ 17.5% ตามลำดับ
3. การลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณหดตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ เดือนมี.ค. 67 ลดลง 32.8% เมื่อเทียบกับมี.ค. 66 ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ลดลง 11.8% และภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ลดลง 13.5%
อย่างไรก็ตาม สศค. คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย 35.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 26.7% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และยังไม่กลับสู่ในระดับก่อนการระบาดของโควิดในปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 39.9 ล้านคน
ขณะที่ SCB EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ มองว่า ในช่วงที่เหลือของปีเศรษฐกิจไทยมีปัจจัย Upside จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาเพิ่มเติม เช่น
• มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาฯ ที่จะช่วยดูดซับอุปทานที่อยู่อาศัยระดับราคาปานกลาง 3-7 ล้านบาท จากผู้ซื้อที่มีศักยภาพที่มีแผนจะซื้อบ้านอยู่แล้วให้เร่งซื้อภายในปีนี้ ซึ่งประเมินผลของมาตรการนี้มีแนวโน้มจำกัด เนื่องจากกลุ่มกำลังซื้อของตลาดที่อยู่อาศัยราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทอาจไม่ได้รับอานิสงส์เท่าที่ควร เพราะจะยังเผชิญแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนและดอกเบี้ยสูง รวมถึงข้อจำกัดการเข้าถึงสินเชื่อ
• โครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลมีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะแหล่งที่มาจากเงินงบประมาณ ซึ่งจะเริ่มมีผลต่อเศรษฐกิจช่วงท้ายปีนี้
อย่างไรก็ตาม หลังผลชั่วคราวของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ หมดลง ปัจจัยเชิงโครงสร้างจะยังคงเป็นแรงกดดันสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าอยู่ โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนสูงจะฉุดรั้งการบริโภคภาคเอกชน การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับต่ำจะกดดันทิศทางการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงปัจจัยเชิงโครงสร้างที่สะสมมานานจะทำให้ศักยภาพเศรษฐกิจไทยต่ำต่อเนื่อง เช่น ผลิตภาพลดลง กำลังแรงงานลดลง และการลงทุนต่ำ
แนวโน้มหุ้นไทยจะไปทางไหน
สำหรับทิศทางตลาดหุ้นไทย ผ่านพ้นไตรมาสแรก นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิรวม 68,862 ล้านบาท เฉพาะเดือนมี.ค.67 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 41,238 ล้านบาท โดย ณ สิ้นเดือนมี.ค. 67 SET Index ปิดที่ 1,377.94 จุด เพิ่มขึ้น 0.5% จากเดือนก.พ. แต่ปรับลดลง 2.7% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2566 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่าตลาด ได้แก่ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มบริการ กลุ่มการเงิน และกลุ่มทรัพยากร
ในเดือนมี.ค. 67 มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 42,782 ล้านบาท ลดลง 30.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 45,717 ล้านบาท ลดลง 31.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
จากแนวโน้มเงินบาทไทยที่อ่อนค่าต่อเนื่อง และมีเงินทุนเคลื่อนย้ายจากตลาดหุ้นไทย โดยเฉพาะในหุ้นขนาดใหญ่ ทำให้หุ้นขนาดกลางและเล็กได้รับความสนใจมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากพิจารณา Earning Yield Gap หรือส่วนต่างมูลค่าหุ้น ของดัชนี SET50, sSET และ mai พบว่า หุ้นใน SET50 ซึ่งเป็นหุ้นขนาดใหญ่ ปัจจุบันมี valuation ต่ำกว่าหุ้นขนาดกลางและเล็กพอสมควร
บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด มองว่า ในช่วงสั้นมองตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในภาวะเปราะบางตามตลาดหุ้นโลก จากความกังวลสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางและเฟดอาจปรับลดดอกเบี้ยล่าช้ากว่าที่ตลาดคาดไว้เดิม โดยสัปดาห์นี้คาดอัตราการว่างงานของสหรัฐจะทรงตัว และการประชุมของเฟดจะยังมีมติคงดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่การเข้าสู่ฤดูกาลประกาศผลประกอบการไตรมาส 1/2567 ของหุ้นกลุ่ม Real Sector คาดจะมีอัตราการเติบโตต่ำ ดังนั้นกลยุทธ์ลงทุนจึงแนะนำ “Selective Buy” โดยเน้น 3 ธีมหลัก ดังนี้
1. หุ้นเก็งกำไรผลประกอบการไตรมาส 1/2567 ซึ่งคาดจะมีการเติบโตที่ดีเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และจะมีการประกาศในช่วงต้นเดือนพ.ค. มีหุ้นโดดเด่น อาทิ HMPRO TRUE GFPT KCE TOP ขณะที่แนะนำระมัดระวังการลงทุนในหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า ซึ่งมีความเสี่ยงค่าเงินบาทอ่อนจะกดดันผลประกอบการ
2. นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ แนะนำหุ้นปลอดภัย (Defensive Stock) ซึ่งพื้นฐานแข็งแกร่ง ผลประกอบการไม่ผันผวนตามเศรษฐกิจ ในกลุ่มหุ้นการแพทย์ (BDMS BCH) หุ้นขนส่งทางบก (BEM) หุ้นค้าปลีก (CPALL CPAXT) หุ้นสื่อสาร (ADVANC) หุ้นอสังหาปันผลดี (AP)
3. หุ้นที่สามารถเป็นสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยง (Hedging) จากกรณีความไม่สงบในตะวันออกกลาง ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง เลือกหุ้นน้ำมันขั้นต้นอย่าง PTTEP ซึ่งคาดจะได้ประโยชน์โดยตรงจากราคาน้ำมันที่ปรับขึ้น และหุ้นโรงกลั่นจะได้ผลบวกผ่านกำไรสต๊อกที่เพิ่มขึ้นเชิงพื้นฐาน อย่าง BCP
ทั้งนี้ หากสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางลุกลามไปสู่การสู้รบอย่างเต็มรูปแบบ อาจทำให้ราคาน้ำมันเกิน 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในระยะสั้น เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่ออุปทานของอิหร่านที่คิดเป็น 3-4% ของอุปทานโลก และในกรณีเลวร้ายกระทบการส่งออกน้ำมันผ่านช่องแคบ Hormuz อาจกระทบการส่งออกได้สูงสุดถึงกว่า 17% ของอุปทานโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มค้าปลีกน้ำมัน ที่ทำให้ค่าการตลาดแคบลง และกลุ่มสายการบิน มีต้นทุนเพิ่ม