นโยบาย America First หรือ อเมริกาต้องมาก่อน ของโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นนโยบายที่เคยใช้หาเสียงตั้งแต่ครั้งแรกที่ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2017 และได้รับชัยชนะในสมัยแรกและอยู่ในตำแหน่งจนถึงปี 2021 กระทั่งสมัยที่สองปี 2025 ทรัมป์ยังคงดำเนินตามนโยบายเดิม เป้าหมายของนโยบายดังกล่าวคือการปกป้องผลประโยชน์ของคนอเมริกัน ด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง และลดการพึ่งพาแรงงานข้ามชาติ แรงงานไร้ฝีมือโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม
ในส่วนของนโยบายภาษีศุลกากรที่กำลังเป็นข้อพิพาท และสร้างความกังวลให้แก่ประเทศคู่ค้ากับสหรัฐฯ ทั้งหมด เพราะทรัมป์ ต้องการสนับสนุนสินค้า และอุตสาหกรรมภายในประเทศเป็นหลัก อีกนัยยะหนึ่งคือเพื่อต้องการสร้างสมดุลทางการค้าระหว่างประเทศ ที่ผ่านมาสหรัฐฯ เสียดุลการค้าจำนวนมหาศาล
การปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐฯ กำลังกลายเป็นดาบสองคม แม้ว่าจะสามารถลดการเสียดุลการค้าได้ ขณะเดียวกันกลับสร้างความขัดแย้งให้หนักข้อขึ้น เมื่อการปรับขึ้นอัตราภาษีไม่ได้เป็นไปในลักษณะของการทำข้อตกลงและยอมรับร่วมกัน แต่เหมือนเป็นการตั้งเงื่อนไขเพื่อข่มขู่เรียกร้องผลประโยชน์มากกว่า เพราะการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้า คือการที่ประเทศคู่ค้าเหล่านั้นต้องเสนอเงื่อนไขทางการค้า การทหาร ที่รัฐบาลสหรัฐฯ จะพอใจ
สิ่งที่ควรจะเป็นคือสมดุลทางการค้าระหว่างประเทศที่เป็นที่พอใจของทุกฝ่าย แต่การเรียกร้องจนเกินพอดีและดูเหมือนจะเอาแต่ได้เพียงฝ่ายเดียว น่าจะทำให้สหรัฐฯ ถูกโดดเดี่ยวในที่สุด
ประเทศไทยจะถูกสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 36% โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 1 สิงหาคม 2568 ต้องบอกว่านี่จะเป็น “หายนะ” เพราะหากการเจรจาไม่สำเร็จ อัตรานี้เท่ากับว่าไทยจะถูกเก็บภาษีนำเข้าสูงกว่าอีกหลายประเทศที่เป็นคู่แข่งทางการค้าโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งกระทบภาคส่งออก และเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ
กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากกำแพงภาษีในครั้งนี้ได้แก่ ยานยนต์ อาหาร พลาสติก และเคมีภัณฑ์ ซึ่งจะครอบคลุมสินค้า 25 รายการ โดยแบ่งเป็น กลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบร้ายแรง ได้แก่ ชิ้นส่วนยานยนต์-จักรยานยนต์, เซมิคอนดักเตอร์, คอมพิวเตอร์-HDD, ผลิตภัณฑ์พลาสติก, เหล็ก, เครื่องใช้ไฟฟ้า, อุปกรณ์สื่อสาร, แผ่นวงจรพิมพ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, อุปกรณ์ไฟฟ้า สายไฟ สายเคเบิล, ยางพาราและไม้ยางพารา, สินค้าประมง โดยเฉพาะกุ้ง, สิ่งทอ, แผงโซลาเซลล์และชิ้นส่วนประกอบ และถุงมือยาง
กลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบปานกลาง ได้แก่ มันสำปะหลัง น้ำตาล ปาล์มน้ำมัน ผัก ผลไม้สด/แปรรูป, สินค้าปศุสัตว์และเนื้อสัตว์, อาหารสำเร็จรูป/อาหารแปรรูป/อาหารทะเลแปรรูปอื่น ๆ , ยานยนต์และยางล้อ, เม็ดพลาสติก, อาหารสัตว์เลี้ยง, อาหารปศุสัตว์, บรรจุภัณฑ์โลหะและกระดาษ กลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบน้อย ได้แก่ ข้าว, นมและผลิตภัณฑ์นม, เครื่องดื่ม
ทางรอดผู้ประกอบการไทย
ขณะที่แนวทางการรับมือสำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากกำแพงภาษีนำเข้าสหรัฐฯ คือ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องพัฒนาสินค้าให้มีความแตกต่างไปจากเดิม การเพิ่มคุณภาพของสินค้าจะทำให้มูลค่าของสินค้านั้นสูงขึ้น
นอกจากนี้ การมองหาตลาดใหม่เพื่อลดการพึ่งพิงตลาดสหรัฐฯ ดูจะเป็นแนวทางที่น่าจะสร้างความยั่งยืนให้แก่ผู้ประกอบการไม่น้อย เพราะหากปล่อยให้ธุรกิจแขวนไว้บนกติกาการค้าที่ไม่มีวันเหมือนเดิม ตราบเท่าที่สหรัฐฯ ยังคงมีประธานาธิบดีชื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ยิ่งเป็นการนับถอยหลังสู่ความเสียหายแบบที่อาจไม่มีวันกอบกู้ได้
หลายอุตสาหกรรมเริ่มปรับแผนการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะการมองหาตลาดใหม่ที่มีความต้องการ และเหมาะสมกับสินค้านั้น ๆ เช่น กลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง ที่มีกำลังซื้อ ต้องการสินค้ามีคุณภาพ ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ยุโรป หรือประเทศในกลุ่ม BRICS
หรืออีกหนึ่งหนทางคือ การมองหาโอกาสการเข้าไปลงทุนในสหรัฐฯ พิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่เรียกตัวเองว่า “ดินแดนแห่งเสรีภาพ” เพียงแต่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากพันธมิตรในท้องถิ่น และการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ และมีเทคโนโลยีขั้นสูง
SCB EIC ประเมินไว้ว่า อัตราภาษีนำเข้าที่สหรัฐฯ เรียกเก็บจากไทย หากการเจรจาไม่ประสบความสำเร็จ จะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐฯ ลดลงสะสมประมาณ 8.1 แสนล้านบาท เมื่อบังคับใช้ครบ 5 ปี ภาษีตอบโต้จะกระทบภาคธุรกิจรุนแรงและชัดเจนมากขึ้นเมื่ออายุการบังคับใช้ยาวนานมากขึ้น
นอกจากนี้ไทยอาจจะต้องสูญเสียความสามารถในการแข่งขันหากยังต้องจ่ายภาษีนำเข้าสหรัฐฯ 36% คือ จะถูกคู่แข่งอย่างประเทศเวียดนาม และอินโดนีเซีย แซงหน้าสำหรับประเทศที่น่าลงทุนในระยะยาว ไทยจะถูกตกชั้นประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของโลก
ด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศหรือ FDI ของไทยจะลดลง ซึ่งจุดนี้จะทำให้ไทยเสียเปรียบเมื่อเทียบกับเวียดนามที่มี FDI สูงกว่าไทย 15 เท่า มาตั้งแต่ปี 2015 และอุตสาหกรรมที่เคยมีฐานการผลิตในไทยอาจย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีสิทธิภาษีดีกว่าจากสหรัฐฯ นั่นคือ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และอาหารแปรรูป