หลังรองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลังคนใหม่ “พิชัย ชุณหวชิร” เข้ารับตำแหน่งก็มีแนวคิดในการฟื้นกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF กลับมาใหม่ เพื่อหวังกระตุ้นตลาดหุ้นไทยให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากดัชนีหุ้นไทยติดลบอย่างต่อเนื่อง โดยผลการดำเนินงานของ SET ปีนี้เทียบกับปีที่ (ข้อมูล ณ 7 พ.ค.67) แล้วยังคงติดลบเกือบ 3% วิ่งอยู่ในกรอบต่ำที่ 1,330 – 1,430 จุด มูลค่าซื้อขายต่อวันอยู่ที่ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท และนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิแล้วกว่า 6.7 หมื่นล้านบาท
ในปี 2566 ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนเกือบต่ำที่สุดในโลก SET Index ปิดที่ 1,415.85 จุด ลดลง 15.2% จากสิ้นปี 2565 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิกว่า 1.92 แสนล้านบาท แม้ในช่วงแรกการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่จากพรรคเพื่อไทย จะมีการออกกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund: ThaiESG) ที่เสนอขายในเดือนธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้ามาลงทุน 10,000 ล้านบาท แต่ในความเป็นจริงมีเม็ดเงินลงทุนแค่ประมาณ 2,500 ล้านบาทเท่านั้น
สาเหตุที่ทำให้ ThaiESG ได้รับความสนใจน้อยจากนักลงทุน เนื่องจากสินทรัพย์ไม่มีความหลากหลาย โดยลงทุนได้เฉพาะหุ้นไทยและตราสารหนี้ไทย ที่ดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG และผู้ลงทุนจะต้องถือหน่วยลงทุน ไม่น้อยกว่า 8 ปี ถือเป็นระยะเวลาที่ยาวนานเกินไป ขณะที่ที่ได้รับการลดหย่อนในอัตรา 30% ซึ่งไม่คุ้มถ้าเทียบกับ LTF และ RMF ที่มีเงื่อนไขที่ดีกว่า ทำให้ “พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลังคนใหม่ เตรียมฟื้นกองทุน LTF กลับมาอีกครั้ง โดยหวังว่าจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยกระตุ้นตลาดหุ้นไทยให้กลับมาคึกคึกอีกครั้ง
เตรียมปรับเงื่อนไข LTF ใหม่
สภาธุรกิจตลาดทุนไทยรับลูกแนวคิดดังกล่าว และเตรียมเข้าหารือกับรมว.คลังคนใหม่ ในการฟื้น LTF กลับมาอีกครั้ง รวมถึงการปรับเงื่อนไขในการลงทุน ThaiESG และ กองทุนเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (Super Saving Funds) หรือ SSF ที่เข้ามาแทนกองทุน LTF ที่หมดสิทธิลดหย่อนภาษีตั้งแต่ปี 2562 รวมถึงจะเสนอให้มีการปรับเกณฑ์กองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุ RMF ใหม่อีกด้วย ซึ่งความแตกต่างของแต่ละกองทุน มีดังนี้
กองทุน LTF หรือกองทุนรวมหุ้นระยะยาว เป็นที่น่าสนใจของนักลงทุนอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา โดยมีเงื่อนไขดังนี้
- นโยบายการลงทุน เน้นลงทุนหุ้นในประเทศ 65% ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงสูง
- ไม่จำกัดเงินลงทุนขั้นต่ำ เงินลงทุนสูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้และไม่เกิน 500,000 บาท (ไม่นับรวม RMF ประกันบำนาญ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันบำนาญ)
- ถือครองระยะสั้น 5 ปี หรือ 7 ปี
- มีทั้งแบบปันผลและไม่ปันผล
กองทุน RMF หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือเพื่อการเกษียณอายุ มีความหลากหลายมากกว่า LTF โดยมีเงื่อนไขดังนี้
- นโยบายการลงทุนใน RMF มีให้เลือกตั้งแต่ความเสี่ยงระดับต่ำ – สูง
- สามารถลงทุนได้ทั้งในและต่างประเทศ
- ต้องลงทุนต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปี และต้องถือหน่วยลงทุนจนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
- ลงทุนขั้นต่ำ 3% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 15%
- ไม่มีเงินปันผล
กองทุน SSF (Super Saving Funds) หรือกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาวที่นำมาแทน LTF เริ่มในปี 2563 มีเงื่อนไขดังนี้
- ลงทุนในหลักทรัพย์ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้ กองทุนรวมผสม ฯลฯ มีความยืดหยุ่นมากกว่ากองทุน LTF เดิมที่กำหนดให้ลงทุนในหุ้นสามัญภายในประเทศไทย
- ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้และไม่เกิน 200,000 บาท โดยเมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ
- ไม่กำหนดจำนวนขั้นตํ่าในการซื้อต่อปี และไม่บังคับซื้อต่อเนื่อง
- เงื่อนไขการขายคืนหน่วยลงทุนเพิ่มเป็น 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ ต่างจาก LTF เดิมคือ 7 ปี
- ให้ประโยชน์ลดหย่อนภาษีเพียง 5 ปี (2563-2567) หลังจากนั้นกระทรวงการคลังจะพิจารณาอีกที
บริษัทหลักทรัพย์เอเชีย พลัส จำกัด วิเคราะห์ว่า มูลค่าคงค้างของกองทุน LTF ตั้งแต่ปี 2556 – 2562 อยู่ที่ประมาณ 4 แสนล้านบาท และค่อย ๆ ถอนออกจากตลาดไปแล้วกว่า 1.59 แสนล้านบาท คงเหลือมูลค่าอยู่ประมาณ 2.47 แสนล้านบาท หากฟื้นกองทุน LTF อีกครั้ง คาดว่าจะมีเม็ดเงินใหม่เข้ามา 60,000 – 70,000 ล้านบาท น่าจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาดหุ้นไทยได้ ซึ่งในอดีต ในช่วงที่มี LTF ตลาดหุ้นไทยมีสภาพคล่อง หรือ TURNOVER เฉลี่ยสูงถึง 80% ต่อปี แต่ปัจจุบัน TURNOVER เฉลี่ยเหลือเพียง 62.7% หากสภาพคล่องกลับมาบริเวณปกติที่ TURNOVER เฉลี่ยสูงถึง 80% ต่อปี จะมีมูลค่าซื้อขายกลับไปที่ 5.5 หมื่นล้านบาทต่อวัน น่าจะเพียงพอในการขับเคลื่อนดัชนีหุ้นไทยให้ขยับขึ้นได้
ห่วงตลาดหุ้นไทยขาดเสน่ห์
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวล คือตลาดหุ้นไทยยังมีความน่าสนใจอยู่หรือไม่ ซึ่งนอกจาก LTF แล้ว ตลาดหลักทรัพย์ฯ ควรเร่งหาโปรดักส์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจเข้ามาดึงดูดนักลงทุน เพราะมีหลายคนเริ่มพูดมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่าตลาดหุ้นไทยขาดเสน่ห์ เพราะมีแต่หุ้นเดิม ๆ อย่างเช่นหุ้นกลุ่มปตท. ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 30% ของตลาด แถมหุ้นใหญ่ตัวนี้ยังเป็นหุ้นพลังงาน ที่นักลงทุนทั่วโลกเริ่มกังวลกับปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นจากบริษัทผู้ผลิตน้ำมัน ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดโลกร้อน
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย อยากให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ หาสินทรัพย์ หรือโปรดักส์ใหม่ ๆ เข้ามามากขึ้น เพื่อสร้างมูลค่าให้กับตลาดหุ้นไทย เช่น สินทรัพย์ในกลุ่มดิจิทัล หุ้นเทคโนโลยี หรือบริษัทสตาร์ทอัพ อย่างตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซียมีบริษัทสตาร์ทอัพจำนวนมาก และบริษัทเหล่านี้ก็มีศักยภาพและมีมูลค่าในการเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ และสิ่งสำคัญต้องเร่งปัดกวาดบ้าน หรือปัญหาต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน
“ตลาดหุ้นไทยมีดาร์กไซด์อยู่เยอะ ปัญหามอร์ สตาร์คที่เกิดขึ้น เป็นประเด็นที่เข้ามาทำร้ายนักลงทุน สร้างความเสียงหายให้กับบจ. และบลจ. ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องเข้ามาปัดกวาดบ้านให้สวยงาม จัดการปัญหาที่ซ่อนอยู่ตามมุมมืดต่าง ๆ รวมทั้งหาโปรดักส์ใหม่ ๆ เข้ามา จะทำให้ตลาดฯ เกิดประโยชน์จากนักลงทุนอย่างแท้จริง” ดร.กอบศักดิ์กล่าว
ดังนั้น ก่อนที่รัฐบาล ตลาดหลักทรัพย์ฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะผลักดันสินค้า หรือสินทรัพย์ใหม่ ๆ ออกมา ไม่ว่าจะเป็น LTF หรือกองทุนใหม่ ๆ แต่สิ่งสำคัญคงต้องเร่งจัดการปัญหาภายในบ้านให้ได้เสียก่อน มิฉะนั้นนักลงทุนยังคงต้องเผชิญกับผู้ร้ายที่ซ่อนอยู่ตามมุมมืด ไม่รู้ว่าจะโผล่มาทำร้ายนักลงทุนอีกเมื่อไหร่