วันที่ 2 กรกฎาคม 2540 คือวันที่ประเทศไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ทำให้ไทยเปลี่ยนสถานะจาก “เสือตัวที่ห้าแห่งเอเชีย” กลายเป็นลูกหนี้คนสำคัญของกองทุนการเงินระหว่างประเทศอย่าง IMF
มูลเหตุมาจากการขาดความตระหนักถึงความเสี่ยงของสถาบันการเงินจนก่อหนี้จากต่างประเทศจนเกินตัว รวมถึงการเก็งกำไรมากเกินพอดีในตลาดอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ไทยยังเผชิญปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดตลอดช่วงปี 2530-2540 ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนถูกยึดไว้ ทำให้ถูกโจมตีค่าเงินบาท สถานการณ์ในเวลานั้นทำให้ภาครัฐต้องนำทุนสำรองระหว่างประเทศไปใช้ในการดูแลเสถียรภาพค่าเงิน การปล่อยลอยตัวค่าเงินบาททำให้ค่าเงินเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐลดลงเรื่อย ๆ ซึ่งสถาบันการเงินที่กู้เงินจากต่างประเทศมากจากเดิมที่กู้ 1 ดอลลาร์ แลกได้ 28 บาท กลายเป็นต้องหาเงิน 55 บาท เพื่อมาชำระหนี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐ นั่นทำให้ ลุกหนี้สถาบันต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้น ในเวลานั้นรัฐบาลต้องปิดสถาบันการเงินมากถึง 56 แห่ง
วิกฤตครั้งนั้นสร้างแรงสั่นสะเทือนไปถึง เถ้าแก่ เจ้าสัว ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยที่ล้วนเจ็บหนัก ต้องขายกิจการ การสูญเสียสินทรัพย์และทรัพย์สินในช่วงเวลานั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้ธุรกิจที่ล้มครืนฟื้นกลับมา
อดีตและปัจจุบัน
กลับมาที่เวลาปัจจุบัน บทเรียนจากวิกฤตการเงินเมื่อ 27 ปีก่อน ทำให้ทั้งภาครัฐ โดยเฉพาะแบงก์ชาติมีความระมัดระวังมากขึ้น รวมถึงผู้ประกอบการในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ไทยที่เปลี่ยนจังหวะก้าว ปรับแผนการดำเนินธุรกิจด้วยความไม่ประมาท
หากเปรียบเทียบตัวเลข GDP ในปี 2540 อยู่ที่ -2.8% ปี 2541 GDP อยู่ที่ -7.6% และปี 2566 GDP อยู่ที่ 1.9% และคาดการณ์กันว่า GDP ปี 2567 จะอยู่ที่ 2.6%
และที่น่าสนใจคือเงินทุนสำรองของไทยในเดือนมิถุนายน ปี 2540 อยู่ที่ 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2567ไทยมีเงินทุนสำรองมากถึง 25.29 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เศรษฐกิจไทยเดินหน้าหรือย่ำอยู่กับที่?
สถานการณ์เศรษฐกิจยังคงเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายกังวล แม้ไทยจะยังไม่ต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตเฉกเช่นในอดีตที่ผ่านมา ทว่า การวางใจต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันดูจะเป็นการประมาทเกินไป
กระนั้นหากจะเปรียบเทียบแบบเม็ดต่อเม็ดระหว่างสถานการณ์ปัจจุบันและอดีตเมื่อ 27 ปีก่อน คงไม่ถูกต้องนัก เมื่อปัจจัยแวดล้อมที่ยึดโยง และเป็นตัวแปรสำคัญแตกต่างกัน ทั้งปัจจัยภายนอก อย่างความขัดแย้งระหว่างประเทศของซีกโลกตะวันตก และตะวันออก การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด19 สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ขณะที่ยังมีสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสที่เพิ่งปะทุขึ้นเมื่อไม่นานนี้
ปัจจัยภายในคือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทย การเปลี่ยนผ่านของผู้นำรัฐบาล ความไม่มั่นใจของแนวทางการบริหารและนโยบายด้านเศรษฐกิจของไทย ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในหมู่นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ รวมถึงประชาชน
ต้องบอกว่าเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันเดินหน้าและมีการพัฒนามาจากอดีตอันเลวร้ายก็คงไม่ผิดนัก แต่ก็ไม่อาจพูดได้เต็มปากว่า เวลานี้เศรษฐกิจไทยอยู่ในทิศทางบวก เมื่อเห็นได้จากตัวเลขติดลบตัวแดงบนกระดานหุ้น แม้ว่าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมและเงินทุนสำรองจะแตกต่างกัน ทว่า เสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังอยู่ในความน่ากังวล หนี้ครัวเรือนเมื่อสิ้นปี 2566 อยู่ในระดับสูงที่ 91.3% ต่อ GDP หรือประมาณ 16.2 ล้านล้านบาท จากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล
นอกจากนี้ นโยบายด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลดูจะฉาบฉวยมากเกินกว่าจะสร้างความยั่งยืน สร้างงาน โดยเฉพาะนโยบายการแจกเงินดิจิทัลที่ต้องใช้เม็ดเงินมูลค่ามหาศาลถึง 5 แสนล้านบาท แต่จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียงไม่กี่สัปดาห์
หากจะสรุปว่า เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอาจจะหนักกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งก็คงจะไม่ผิดหนัก หากแต่จะเป็นไปในลักษณะเลวร้ายแบบ ”ซึมลึก” เสมือนคนป่วยที่ไม่ถูกได้รับการรักษาที่ถูกจุด มีรอยรั่วที่หัวใจ แต่รักษาที่ปอด กระดูกหักที่แขนที่เข้าเฝือกที่ขา
เศรษฐกิจในระดับฐานราก (ภาคประชาชน) อ่อนแอ ไร้กำลังซื้อ ตลาดระดับกลางถึงบนมีความกังวลเน้นออมในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ ไม่มีการลงทุน ตลาดบนถูกผลกระทบด้านดอกเบี้ยนโยบาย และปัจจัยภายนอกเป็นหลัก เรียกว่าเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันป่วยสาหัส แต่ยังไม่แสดงอาการที่ชัดเจน
มรดกหนี้และบทเรียนราคาแพง
นอกจากบทเรียนราคาแพงที่ไทยต้องเรียนรู้จากวิกฤตต้มยำกุ้ง และนำมาปรับใช้เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจเดินทางซ้ำรอยประวัติศาสตร์ อีกสิ่งหนึ่งที่ยังคงเป็นมรดกจากเมื่อ 27 ปีที่แล้วคือ มูลหนี้จากกองทุนฟื้นฟูสถาบันการเงิน (FIDF) ที่ยังเหลืออยู่ประมาณ 5.9 แสนล้านบาท ซึ่งลดลงจาก 1.4 ล้านล้านบาท ไทยจะต้องส่งเงินเข้า FIDF 0.46% ต่อปี และคาดว่าจะใช้หนี้ก้อนนี้หมดในปี 2575-2577 นี่เป็นเครื่องตอกย้ำความผิดพลาดและความประมาทของไทย ในการบริหารการเงินการคลัง