สถานการณ์ของตลาดหุ้นไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเรียกได้ว่า แค่เปิดตลาดมาก็ติดลบต่อเนื่อง และระยะเวลา 5 เดือนที่ผ่านมา SET Index ติดลบไป 8% ซึ่งสวนทางกับตลาดหุ้นโลกที่มีการปรับตัวสูงขึ้น 10% ส่งผลให้สถานการณ์ของ SET Index มีการปรับตัวลดลงไป 370 จุด ถือเป็นการตกต่ำที่สุดในรอบกว่า 4 ปี มูลค่าตลาดหายไปมากกว่า 4 ล้านล้านบาท ทำให้ตลาดหุ้นไทยอยู่อันดับท้ายสุดของโลก
ทิศทางการถดถอยของหุ้นไทย จนเกิดแนวลบอย่างต่อเนื่องนั้น เกิดจากการที่นักลงทุนต่างชาติแห่เทขายหุ้นไทยนับตั้งแต่ต้นปี 2567 นักวิเคราะห์มองว่าส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐฯ กับไทย ที่มีความกว้างประมาณ 3% โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยไทยอยู่ที่ 2.50% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ อยู่ที่ 5.50%
และหากนับตั้งแต่ต้นปี 2567 จนถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2567 นักลงทุนต่างชาติเทขายสุทธิหุ้นไทยไปกว่า 97,581.20 ล้านบาท
คำถามคือ ปัจจัยอะไรที่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยจนสร้างให้เกิดแรงเทขายในกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ
ปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบให้ดัชนีหลักทรัพย์ฯ ถดถอยอย่างต่อเนื่องในห้วงยามนี้คือ ความกังวลต่อปัญหาสงครามและนโยบายการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ยังคงไม่มีคำตอบ
ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศ ที่ดูจะส่งผลอย่างชัดเจนคือสถานการณ์ทางการเมืองของไทยที่ยังไร้เสถียรภาพ ซึ่งประเด็นนี้ส่งผลต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน โดยเฉพาะสถานะของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ถูกยื่นถอดถอนจาก 40 สว. กรณีการแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
อีกปัจจัยคือ เห็นได้จากภาคประชาชนยังคงมีแนวโน้มที่จะเก็บสำรองเงินสดไว้มากกว่าจะนำออกมาใช้จ่าย แม้ว่าภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวต่อเนื่อง
ซึ่งนี่อาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติพากันเทขายหุ้นทิ้ง ทำให้ตลาดหุ้นไทยทรุดหนักเหมือนคนป่วยที่ยังรอการกระตุ้นชีพ
นอกจากนี้ปัญหาความขัดแย้งไม่ลงรอยกันระหว่างรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน กับธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีแนวคิดขัดแย้งกันโดยเฉพาะนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท พร้อมทั้งกระแสข่าวที่รัฐบาลเศรษฐามีความพยายามที่จะเข้าแทรกแซงแบงก์ชาติด้วยการมองหาบุคคลที่จะเข้ามานั่งในตำแหน่งประธานคณะกรรมการ ธปท. นั่นคือ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน และอดีตรัฐมนตรีคลัง นอกจากนี้ยังมี ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ อดีตที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย ที่มีรายชื่ออยู่ในโผนี้เช่นกัน ข้อมูลนี้ถูกเปิดเผยโดยสำนักข่าวบลูมเบิร์ก โดยอ้างอิงจากแหล่งข่าว
ความขัดแย้งด้านนโยบายการทำงานระหว่างรัฐบาลนายกเศรษฐา และธนาคารแห่งประเทศไทยที่มี ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่รัฐบาลปัจจุบันอยากหาคนที่มีแนวนโยบายสอดคล้องกันมาทำงานมากกว่า
ขณะที่อีกข้อมูลหนึ่งที่น่าขบคิด นอกจากต้องการผู้ที่มีแนวนโยบายหรือแนวคิดที่คล้ายกันเพื่อให้รัฐบาลเศรษฐา ทำงานง่ายขึ้นแล้ว คือ การที่แบงก์ชาติเคยเผยข้อมูลเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ประเทศไทยมีเงินทุนสำรองสุทธิอยู่ที่ 9,046,562.80 ล้านบาท อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่รัฐบาลต้องการคนทำงานที่สามารถควบคุมได้มากกว่า ผู้ว่าแบงก์ชาติคนปัจจุบัน
แน่นอนว่าข้อมูลเหล่านี้ไม่ใช่ข้อมูลที่เป็นความลับ เมื่อสำนักข่าวต่างประเทศเป็นผู้รายงาน นั่นย่อมส่งผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติที่มองเห็นความไม่มั่นคงด้านเศรษฐกิจของไทยและเทขายหุ้น หอบหิ้วเงินกลับบ้านตัวเอง และทำให้กระดานหุ้นไทยติดลบตัวแดงต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2567
ปัจจัยที่ส่งผลต่อตลาดหุ้นไทย คงเป็นปัญหาเร่งด่วนที่รัฐบาลไทยต้องเร่งแก้ ด้วยการสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นต่อนักลงทุน และมองหานโยบายที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว