เรื่องภาษียังเป็นประเด็นที่ต้องพูดถึงและย้ำเตือนกันอยู่ทุกปี เนื่องจากเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อความเจริญของประเทศโดยตรง เพราะ ภาษี = รายได้ของรัฐบาล = เงินที่จะถูกใช้ในการพัฒนาประเทศ แต่ในขณะเดียวกัน นั่นก็ยังหมายถึงรายจ่ายประจำปีของประชาชนด้วย ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่จะยอมจ่าย
จริง ๆ แล้วทุกคนจ่ายภาษีอยู่แล้วทุกวัน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จ่ายครบตามหน้าที่ น่าเสียดายที่เรื่องภาษียังไม่ถูกบรรจุในหลักสูตรภาคบังคับชั้นมัธยมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยอย่างจริงจัง ทั้งที่มันนับว่าเป็น “หน้าที่พลเมือง” อย่างแท้จริง ทำให้ประชากรไทยจำนวนมากยังขาดความเข้าใจเรื่องภาษี และอาจไม่รู้ว่าภาษีคือหน้าที่ของทุกคน
ภาษีที่ทุกคนต้องจ่ายอย่างเลี่ยงไม่ได้และเป็นภาษีส่วนใหญ่ที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในแต่ละปีคือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT (Value Added Tax) ซึ่งจัดเก็บได้กว่าปีละ 9 แสนล้านบาท จากทุกการซื้อขายที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันตั้งแต่เด็ก 7 ขวบซื้อขนม หรือผู้สูงอายุซื้อยาหม่อง เพราะส่วนใหญ่ถูกคิดรวมเข้าไปในสินค้าและบริการอยู่แล้ว (อ่านเพิ่มเติมเรื่อง VAT 7% คือภาษีของใครได้ที่ https://www.facebook.com/share/p/12CmH1SqA6U/ )
แต่ภาษีที่เป็นปัญหาเพราะไม่ใช่ทุกคนที่มีหน้าที่เสียจะยอมจ่ายตามหน้าที่ คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
จากสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร ปัจจุบันมีประชากรไทยราว 66 ล้านคน ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานเผยว่า ราว 40 ล้านคนมีงานทำ แต่ข้อมูลสถิติการจัดเก็บภาษีของสรรพากรพบว่ามีแรงงานเพียง 11 ล้านคนเท่านั้นที่ยื่นแบบภาษีเงินได้ และมีผู้ที่จ่ายภาษีเงินได้จริงแค่ประมาณปีละ 4 ล้านคน คิดเป็น 10 % ของคนทำงานหรือเพียง 6% ของคนทั้งประเทศ
จาก 11 ล้านคนนี้ ส่วนที่ไม่ได้จ่ายภาษีแต่ยื่นแบบแสดงรายได้ครบถ้วนก็น่าจะหมายความว่ามีรายได้ยังไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี แต่คนทำงานมีรายได้ที่อยู่นอกระบบภาษีราว 29 ล้านคนนี่แหละที่กำลังหลบเลี่ยงการยื่นแบบและเสียภาษีตามหน้าที่อยู่
เหตุผลของคนหนีภาษีนั้นมีหลากหลาย แต่ข้ออ้างยอดฮิตคือ “จ่าย VAT แล้ว เป็นการเสียภาษีให้ประเทศเหมือนกัน” หรือบ้างก็บอกว่า “จ่ายไปก็ไม่คุ้มเพราะภาษีไม่ถูกนำมาพัฒนาประเทศอย่างเต็มที่”
ใครยังคิดแบบนี้อยู่ขอให้รู้เอาไว้ว่า การจ่าย VAT นับเป็นการเสียภาษีจริง แต่หากคุณมีรายได้ถึงเกณฑ์เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้วไม่ยอมยื่นแบบเสียภาษี คุณก็จะมีความรับผิดชอบไม่ต่างจากเด็กประถมซื้อขนมที่จ่ายแค่ VAT เหมือนกัน
ส่วนการนำภาษีไปพัฒนาประเทศนั่นเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องจัดสรรงบประมาณไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จะทำได้ดีไม่ดีก็ขึ้นอยู่ที่ว่าตอนเลือกตั้งเราเลือกใครมานั่นแหละ (บางคนไม่ได้เลือกแต่ได้เป็นนะ) แต่การเสียภาษีเป็นหน้าที่ของเรา ต้องแยกให้ออก ไม่ใช่เอาข้อบกพร่องของคนอื่นมาอ้างไม่ทำหน้าที่ของตัวเอง
ด้วยการหลบเลี่ยงภาษีนี่แหละ ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “เศรษฐกิจเงา” หรือธุรกิจที่ไม่อยู่ในระบบภาษีจำนวนมาก World Economics ประเมินว่าไทยอาจมีเศรษฐกิจเงามากถึง 46.5% ของ GDP ติดอันดับที่ 15 ของโลก คิดเป็นเงินกว่า 30 ล้านล้านบาท ซึ่งนี่คือรายได้ของประเทศส่วนที่รัฐไม่สามารถเก็บภาษีได้ ทำให้สูญเสียรายได้มหาศาลและจะกระทบต่องบประมาณในการพัฒนาประเทศด้วย
ด้วยเหตุนี้ ก่อนหน้านี้เราถึงได้เห็นไอเดียนโยบายด้านภาษีประหลาด ๆ เพื่อเก็บภาษีมากขึ้นอย่างการขึ้น VAT 15% แล้วมาลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุดและนิติบุคคลที่ 15% หรือที่เรียกกันว่า “เพิ่มภาษีคนจนลดภาษีคนรวย” นั่นแหละ ซึ่งแม้หลักการมันไม่ได้แย่ แต่บริบทประเทศไทยมันไม่ได้ เพราะฉะนั้นจ่ายเถอะ การคลังเขาจะได้ไม่เลอะเทอะแบบนี้
อย่างไรก็ตามเชื่อว่าคนที่ยื่นคนที่จ่ายจะอย่างไรก็จ่าย แต่คนที่หนีคนที่เลี่ยง ถ้าเลี่ยงได้หรือยังไม่โดนภาษีย้อนหลัง อย่างไรก็คงไม่เปลี่ยนใจง่าย ๆ อยู่แล้ว ทั้งนี้มันขึ้นอยู่กับสรรพากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแหละว่าจะไล่ต้อนกลุ่มเศรษฐกิจเงาเข้ามาสู่ระบบได้มากน้อยแค่ไหน แต่พวกเราทุกคนก็สามารถมีส่วนช่วยได้ด้วยการแจ้งเบาะแสการหลบเลี่ยงภาษีได้ที่ https://interapp61.rd.go.th/taxcomplain2/taxcomplain_landing/home.html (อยากให้สรรพากรมีรางวัลสำหรับคนแจ้งด้วย คงแจ้งและปรับกันสนุกเหมือนขนส่งเลยแหละ)
สุดท้ายนี้ก็ถึงเวลายื่นภาษีเงินได้กันแล้ว อย่าลืมเตรียมข้อมูลรายได้และรายการลดหย่อนให้พร้อม แล้วไปยื่นแบบทุกประเภทได้ที่ https://www.rd.go.th/272.html