นายพรชัย รีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนมิถุนายน 2567 จากการประมวลผลข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจรายจังหวัดจากสำนักงานคลังจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเพื่อจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคพบว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือน มิถุนายน 2567 สะท้อนความเชื่อมั่นเศรษฐกิจใน 6 เดือนข้างหน้าที่ยังขยายตัวได้ โดยเฉพาะภาคตะวันออกและภาคเหนือ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการบางส่วนยังมีความกังวลต่อสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรและการท่องเที่ยว รวมถึงความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก” โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
[ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกอยู่ที่ระดับ 81.1]
สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะความเชื่อมั่นในภาคบริการ จากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวของทั้งภาครัฐและเอกชน ประกอบกับมาตรการรัฐเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทย
ผู้ประกอบการบางส่วนคาดว่าภาวะเศรษฐกิจในประเทศมีทิศทางขยายตัวได้ต่อเนื่อง มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและ โลจิสติกส์ทางบก เพื่อสร้างความเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดในพื้นที่อุตสาหกรรมและแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความสะดวกในการท่องเที่ยวมากขึ้น
[ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคเหนืออยู่ที่ระดับ 77.2]
สะท้อนความเชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากจะเข้าสู่ช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในภาคอุตสาหกรรรม มีความเชื่อมั่นในภาคบริการที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากใกล้เข้าสู่ฤดูการท่องเที่ยว ประกอบกับภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนและมาตรการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวทั้งในเมืองหลักและเมืองรอง ซึ่งจะช่วยดึงดูดให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น
[ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคใต้อยู่ที่ระดับ 76.0]
สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยมีปัจจัยหลักมาจากความเชื่อมั่นในภาคบริการและภาคการอุตสาหกรรม จากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในหลายพื้นที่
รวมถึงอุปสงค์ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับยางพาราและอาหารทะเลแปรรูป
[ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ระดับ 74.2]
สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้น จากความเชื่อมั่นในภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากจะเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยว และทิศทางราคาผลผลิตเกษตรมีแนวโน้มสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการบางส่วนยังมีความกังวลเกี่ยวกับสภาพอากาศที่แปรปรวนและความเชื่อมั่นในภาคบริการจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและกิจกรรมตามเทศกาลต่าง ๆ ภายในจังหวัด รวมถึงผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
[ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันตกอยู่ที่ระดับ 72.9]
สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ส่วนหนึ่งได้รับแรงหนุนจากภาคการส่งออกขยายตัว ประกอบกับมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยวและนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ ทั้งนี้ ยังต้องติดตามเกี่ยวกับความแปรปรวนของสภาพอากาศ การระบาดของโรคและแมลง ซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงความผันผวนของตลาดการเงินโลก และการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ถ้าของไทย
[ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคกลางอยู่ที่ระดับ 71.4]
สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยมีปัจจัยบวกจากภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม ที่เข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูก สภาพอากาศมีความเหมาะสมและมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อผลผลิต
นอกจากนี้ แนวโน้มธุรกิจภาคอุตสาหกรรมในภาพรวมมีสัญญาณขยายตัวได้ จากการส่งออกและความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูป ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีการลงทุนเพื่อขยายกิจการมากขึ้น
[ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ กทม. และปริมณฑลอยู่ที่ระดับ 65.8]
สะท้อนความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากความเชื่อมั่นในภาคบริการและภาคการลงทุน ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย แต่ยังต้องติดตามประเด็นความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ โลก รวมถึงความผันผวนของราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยน
*หมายเหตุ
ค่าดัชนีอยู่ในช่วง 0-100
> 50 แนวโน้มความเชื่อมั่น “ดีขึ้นกว่าปัจจุบัน”
< 50 แนวโน้มความเชื่อมั่น “ชะลอกว่าปัจจุบัน”
= 50 แนวโน้มความเชื่อมั่น “ทรงตัว”