ระบบการเงินไร้ตัวกลาง ที่ทลายข้อจำกัดของระบบการเงินดั้งเดิม
คุณจะเชื่อหรือไม่หากเราบอกว่า ในปัจจุบันมีการลงทุนความเสี่ยงต่ำที่ให้ผลตอบแทนได้ถึง 20% ต่อปี ที่หากจะไปตามหาจากธนาคารที่ใดก็ไม่สามารถทำได้ เพราะสิ่งที่เรากำลังจะพูดถึงนั้นไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ของระบบการเงินในรูปแบบดั้งเดิม แต่เป็นระบบการเงินรูปแบบใหม่ที่สามารถทำงานได้โดยไร้ผู้คน ‘ระบบการเงินไร้ตัวกลางอย่าง Decentralize Finance’ หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อของ ‘DeFi’ นั่นเอง
แต่ก่อนที่จะถามหาว่าจะลงทุนใน DeFi ได้อย่างไรนั้น Creative Investment Space จะขออนุญาตแนะนำให้คุณเข้าใจก่อนว่า ที่มาของผลตอบแทน 20% นั้นมาจากไหน และเราจะทำอย่างไรให้สามารถอยู่รอดได้ในตลาด DeFi เพื่อให้เงินลงทุนของท่านไม่ตกไปอยู่ในมือของกลุ่มมิจฉาชีพ ที่ใช้เทคโนโลยีฉกฉวยโอกาสจากผู้อื่น
อย่างที่ทราบกันดีว่าในปี 2009 ที่ ‘ซาโตชิ นาคาโมโตะ’ ได้ให้กำเนิดสกุลเงินเข้ารหัส ‘บิตคอยน์ (Bitcoin)’ ที่ใช้เทคโนโลยี ‘บล็อคเชน (Blockchain)’ ฐานข้อมูลไร้ตัวกลางที่กระจายการเก็บข้อมูลไปสู่ผู้ใช้งานเครือข่ายของบล็อคเชนทุกคน โดยระบบจะสร้างแรงจูงใจให้ผู้ใช้งานที่ทำตามกฎ ‘ได้รับผลตอบแทน มากกว่าผู้ที่ต้องการจะโกงระบบ’ เพราะนอกจากจะทำได้ยาก ยังไม่คุ้มกับผลตอบแทนที่ได้มาอีกต่างหาก
หากจะสรุปโดยง่ายบิตคอยน์บล็อคเชนนั้นถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาทางด้านการโอนมูลค่าในรูปแบบ บุคคลสู่บุคคล หรือ ‘Peer to Peer’ โดยหลีกเลี่ยงปัญหาเรื่องความผิดพลาดในการโอนเท่านั้น ในขณะเทคโนโลยีฐานข้อมูลกระจายศูนย์ของบล็อคเชน หากเปรียบเทียบเป็นของเล่นแล้วนั้น ก็เปรียบเสมือนกับ ‘เลโก้’ ที่นำไปต่อประกอบเป็นนวัตกรรมอื่นๆ ได้อีกมากมาย ซึ่งก็มีนักพัฒนาหลายกลุ่มที่พยายามจะเลียนแบบบิตคอยน์ โดยการแข่งกันสร้างบล็อคเชนของตัวเองขึ้นมาที่ทำงานเร็วกว่า และดีกว่า แต่ก็ไม่มีเหรียญใดที่สามารถเอาชนะบิตคอยน์ได้เลย
จนมาถึงคลื่นลูกที่สองของบล็อคเชนเมื่อ วิทาลิค บูเจอริน (Vitalik Buterin) โปรแกรมเมอร์ชาวรัสเซียสัญชาติแคนาดา ได้ตระหนักได้ว่าระบบฐานข้อมูลแบบรวมศูนย์ (Centralize Database) ที่มีตัวกลางคอยจัดการทุกอย่างตามอำเภอใจนั้น ส่งผลต่อผู้ใช้งานรายย่อยมากเพียงใด เมื่อผู้ดูแลระบบของเกมออนไลน์ที่มีชื่อว่า ‘World of Warcraft’ ได้ทำการลดค่าพลังของตัวละครเขาลง
จากเหตุการณ์ครั้งนั้นเขาจึงหันมาศึกษาเทคโนโลยีกระจายศูนย์อย่างบิตคอยน์ และบล็อคเชน อย่างจริงจัง จนในปี 2015 เขาได้ทำการเปิดตัวบล็อคเชนที่กลายมาเป็นบล็อคเชนอันดับสองของโลกอย่าง ‘อีธีเรียมบล็อคเชน (Ethereum Blockchian)’ โดยความพิเศษของบล็อคเชนตัวนี้คือเป็นฐานข้อมูลกระจายศูนย์ที่สามารถเขียน ‘สัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract)’ หรือการเขียนโปรแกรมสั่งการลงบนบล็อคเชนเพื่อสร้าง ‘แอปพลิเคชั่นไร้ตัวกลาง (Decentralize Application หรือ Dapps)’ ได้เป็นครั้งแรกของโลก
แล้วทำไม ‘สัญญาอัจฉริยะ’ และ ‘แอปพลิเคชั่นไร้ตัวกลาง’ จึงเป็นอะไรที่สำคัญขนาดนั้น เพราะมันทำให้เราสามารถเขียนเงื่อนไขคำสั่งของโปรแกรมทีไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงได้ แม้แต่ตัวผู้เขียนเอง สมมติว่า นาย A ต้องการจะทำการซื้อขายกับนาย B โดยมีเงื่อนไขอยู่ว่า นาย B ต้องโอนเงินไปให้นาย A และนาย A จะต้องกดยืนยันการส่งของไปให้นาย B หากมีใครคนใดคนหนึ่งไม่ทำตามเงื่อนไขนี้ จะทำให้การซื้อขายที่เกิดขึ้นกลายเป็นโมฆะทันที จะเป็นนาย C หรือนาย D ก็ไม่ได้ ซึ่งบล็อคเชนนั้นใช้คนในเครือข่ายคอยตรวจสอบความถูกต้องของการทำธุรกรรม จึงเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะโกงกันผ่านสัญญาอัจฉริยะที่ถูกเขียนมาอย่างรัดกุม
ทำให้กิจกรรรมในโลกของบล็อคเชนก็ถูกยกระดับขึ้นไปอีก เพราะการเกิดขึ้นขึ้นของสัญญาออัจฉรริยะช่วยให้บล็อคเชนกลายเป็นเทคโนโลยีที่เรียกว่า ‘Trustless’ หรือไม่จำเป็นจะต้องเชื่อใจอีกฝ่ายที่จะทำธุรกรรมด้วย เพราะตัวสัญญาอัจฉริยะจะคอยดำเนินการทุกอย่างโดยโปร่งใส ตรวจสอบได้ และที่สำคัญคือไม่เกิดความผิดพลาดจากมนุษย์ในขั้นตอนกระบวนการ (Human error) เลยแม้แต่น้อย จะมีเพียงก็แต่การเขียนตัวโค้ดคำสั่งการของสัญญาอัจฉริยะให้รัดกุมขึ้นก็เท่านั้น
การมาถึงของอีธีเรียมช่วยดึงดูดนักพัฒนาที่ต้องการจะสร้าง Dapps ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเกมโลกเสมือน งานศิลปะในรูปแบบของ NFT และระบบการเงินไร้ตัวกลางอย่าง DeFi ก็ได้กำเนิดขึ้นเพราะอีธีเรียมบล็อคเชนเอง ทำให้ในโลกของบล็อคเชนนั้นมี Dapps ที่ให้บริการทางการเงินอย่างมากมายไม่ว่าจะเป็น Aave แพลตฟอร์มที่ให้บริการกู้ยืมในรูปแบบของ Peer to Peer หรือ Synthetix แพลตฟอร์มที่เปิดให้คุณสามารถสร้างสินทรัพย์สังเคราะห์ หรือ อนุพันธ์ (Derivatives) โดยนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาค้ำประกันเองไว้
และหนึ่งในนั้นคือ Uniswap แพลตฟอร์ม ที่ดึงดูดเงินของนักลงทุนเข้าสู่โลกของ DeFi มาได้อย่างมหาศาล โดย Uniswap นั้นทำหน้าที่เป็น กระดานแลกเปลี่ยนเหรียญคริปโตฯ ไร้คนกลาง (Decentralize Exchange หรือ DEX) ที่มาพร้อมกับฟังก์ชั่นปฏิวัติวงการอย่าง AMM หรือ Automated market maker กลไกในการควบคุมการซื้อขายเหรียญอย่างอัตโนมัติ เพราะก่อนหน้านี้นั้นการหาซื้อเหรียญคริปโตฯ ไม่ได้ง่ายเหมือนในปัจจุบัน โดยสามารถได้รับจากการขุด การซื้อขายกันโดยตรง และการซื้อผ่านกระดานเทรดที่เปิดให้บริการในรูปแบบของ Centralize Exchange หรือ CEX ซึ่งมีเพียงแค่คู่เหรียญบางเหรียญที่ทางกระดานเทรดเปิดให้เทรดเพียงเท่านั้น
แต่การจะให้บริการกระดานเทรดได้นั้นสิ่งที่จำเป็นที่สุดเลยคือตัวแพลตฟอร์มเองต้องมี ‘สภาพคล่อง (Liquidity)’ ที่มากพอต่อการให้บริการ ดังนั้น Uniswap จึงได้เปิดให้คนทั่วโลกสามารถนำเหรียญเข้ามาฝากในระบบ และคิดค่าบริการในการแลกเปลี่ยนเหรียญ 0.3% เพื่อนำรายได้ตรงนี้มาแจกจ่ายเป็นผลตอบแทนให้แก่คนที่เอาเหรียญมาฝากในระบบ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาแพลตฟอร์ม DeFi ก็หมดปัญหาสภาพคล่องในทันทีเพราะหันมาใช้โมเดลของ Uniswap กันเสียหมด
ซึ่ง Compund แพลตฟอร์มที่เปิดให้ผู้ใช้งานสามารถเข้ามากู้ยืมเงินแบบ P2P Lending ก็นำโมเดลดังกล่าวไปใช้งานเช่นกัน แต่แทนที่จะมอบรายได้จากการใช้งานแพลตฟอร์มให้กับผู้ที่เข้ามาฝากเหรียญ นักพัฒนากลับได้ออกแบบสิ่งที่เรียกว่า Governance Token หรือเหรียญ ‘COMP’ ซึ่งเป็นเหรียญของตัวแพลตฟอร์มเอง ในอัตรา 5-10% ต่อปีให้กับผู้ที่เข้ามาเพิ่มสภาพคล่องให้กับ Compound แทน ซึ่งเหรียญดังกล่าวสามารถใช้ในการโหวตเพื่อกำหนดทิศทางในการทำธุรกิจของ Compound ได้
สิ่งที่เกิดขึ้นคือเจ้าเหรียญ COMP ดัน มีราคาพุ่งทะยานขึ้นจาก 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ ที่เป็นราคาเปิด ไปแตะที่ 300 ดอลลาร์สหรัฐฯ จนทำให้ผู้คนแห่มาฝากเงินเพื่อรับผลตอบแทนจากแพลตฟอร์มเพราะว่า 1. สัญญาอัจฉริยะที่ทำให้ความปลอดอภัยในการฝากเงินมีสูงขึ้น อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบได้เพราะทุกอย่างนั้นถูกบันทึกอยู่บนบล็อคเชน และ 2. อัตราผลตอบแทนที่มีเปอร์เซนต์ทีสูง และราคาของเหรียญ Governance Token ทีสะท้อนการดำเนินงาน และความเชื่อมั่นของแพลตฟอร์ม จึงทำให้ช่วงเดือนธันวาคม 2021 Compound มีเงินทุนหมุนเวียนมากถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เลยทีเดียว
ความน่าสนใจของระบบดังกล่าวคือนอกเหนือจากการฝากเหรียญคริปโตเคอร์เรนซี่อย่าง BTC ETH เพื่อเพิ่มสภาพคล่องเข้าไปยังแพลตฟอร์มแล้วนั้น บางแพลตฟอร์มยังเปิดให้มีการฝากเหรียญ Stable Coin หรือเหรียญที่มีมูลค่าคงที่อย่าง UST ที่ถูกตรึงไว้กับราคาดอลลาร์สหรัฐฯ ในรูปแบบ 1:1 ทำให้สามารถลดความเสียงทางด้านความผันผวนของราคาเหรียญที่นำไปฝากลงได้ ซึ่งในปัจจุบันแพลตฟอร์มอย่าง Anchor จาก Terra Blockchain ก็ได้เปิดรับฝากเหรียญ Stable Coin โดยให้ผลตอบแทนมากถึง 19.48% ในปัจจุบัน
และสำหรับนักลงทุนคนใดที่สนใจจะกระโดดเข้ามายังโลกของ DeFi อยากจะให้คำแนะนำว่า จงศึกษารูปแบบการทำงานของแพลตฟอร์มที่จะฝากเงินให้ดี เพราะท่ามกลางโปรเจคต์ดีๆ ก็ยังคงมีผู้คนที่อาศัยช่องโหว่บางอย่างของแพลตฟอร์มในการเอาเงินของนักลงทุนไปได้ และคำนวนความเสี่ยงทางด้านความผันผวนของราคาเหรียญให้เหมาะสม ซึ่งการฝาก Stable Coin ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจเช่นกัน
ปัจจุบันการเติบโตของ DeFi นั้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และไม่ได้มีเพียงนักลงทุนรายย่อยอีกต่อไป แต่ยังรวมไปถึง นักลงทุนสถาบันอย่างบริษัท และกองทุนต่างๆ ก็หันมาให้ความสนใจต่อตัว DeFi เช่นเดียวกัน หรือแม้แต่ธนาคารไทยพานิชย์ของประเทศไทยเราก็สนใจที่จะลงทุนกับเทคโนโลยีระบบการเงินไร้ตัวกลางตัวนี้เช่นกัน ซึ่งความนิยมที่เพิ่มสูงขึ้นของ DeFi กำลังส่งสัญญานเตือนแก่ระบบการเงินดั้งเดิมอย่างธนาคาร หากไม่ปรับตัว ไม่แน่ว่าในอนาคตผู้คนอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้ธนาคารอีกเลยก็เป็นได้