ช่วงปีที่ผ่านมาธุรกิจไอศกรีมในไทยเรียกได้ว่าเป็นทะเลแดงที่เดือดจัด จากการเข้ามาของแบรนด์ไอศกรีมหน้าใหม่ ๆ แต่แบรนด์เจ้าตลาดในไทยอย่าง Dairy Queen ก็ไม่หวั่นเติบโตสร้าง All-Time High และพัฒนากลยุทธ์ใหม่ ๆ เพื่อเป็นที่ 1 อยู่เสมอ
ในงานแถลงข่าวของ Dairy Qeen เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 คุณธนกฤต กิตติพนาชนม์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไมเนอร์ ดีคิว จำกัด ได้เผยว่าปี 2566 Dairy Queen ทำรายได้สูงสุดเป็นประวัติกาลแม้มีคู่แข่งหน้าใหม่เข้ามาหลายราย
และยังเติบโตสูง 70% จากปี 2564 ภาพรวมโตถึงปีละ 30% ด้วยแคมเปญต่าง ๆ และเมนูแปลกใหม่ที่ครองใจผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ทั้งตัวที่เป็นข้าวเหนียวมะม่วง ชาไทย หรือโอวัลตินภูเขาไฟที่ตีล้านถ้วยแตกได้ในเวลาเพียง 1 เดือน
แต่นั่นคือความสำเร็จที่ผ่านมา สิ่งที่สำคัญกว่าสำหรับแชมป์คือ การรักษาแชมป์
Dairy Queen จึงไม่หยุดเพียงเท่านี้ จึงได้พัฒนากลยุทธ์ใหม่ ๆ ออกมาเพื่อสร้างสรรค์ประสบการณ์ดี ๆ ให้กับผู้บริโภคมากขึ้น
ปีนี้ Dairy Queen ต้องการเป็น “The playground for a sweet pause” ตอบสนองอินไซด์จากลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการพักผ่อนจากความเหนื่อยล้า และได้สนุกไปกับรสชาติของหวานแสนอร่อย ปรับแบรนด์ให้มีความ สนุก ทันสมัย และมีพลังมากขึ้น ซึ่งสิ่งนี้คือหัวใจสำคัญที่จะถูกสะท้อนออกมาผ่านกลยุทธ์ต่าง ๆ
โดยกลยุทธ์ที่น่าสนใจ และเข้ากับยุคสมัยมาก ๆ คือ EV Truck เป็นโมเดลร้านรูปแบบใหม่ของ Dairy Queen ที่แตกต่างจากคู่แข่งทุกราย โดยนอกจากจะเข้ากับการเปลี่ยนผ่านพลังงานในรูปแบบของยานพาหนะไฟฟ้าแล้ว ยังมอบความสะดวกสบายให้กับทั้งคนซื้อและคนขายด้วย เพราะเข้าถึงพื้นที่เป้าหมายได้มากขึ้น จะไปตามงานเทศกาล คอนเสิร์ต งานวัด หรือพื้นที่ไหน ๆ ก็ได้ พร้อมเสิร์ฟซอฟต์เสิร์ฟได้ในทุกที่ แถมยังเป็นการลองทำเลในแต่ละพื้นที่ เผื่อการขยายสาขาของ franchisees ในอนาคตอีกด้วย โดยปีนี้ทาง Dairy Queen ตั้งเป้าไว้ที่ 5 คัน
นอกจากนี้ยังมีร้านในคอนเซปต์ใหม่อย่าง DQ Lounge ที่มีพื้นที่และที่นั่งมากขึ้น เน้นให้ลูกค้านั่งทานชิล ๆ ต่าง จากแบบเดิมที่เน้น Grab & Go ซึ่งนอกจากตัวร้านที่ต่างไป ก็จะมีเมนูเฉพาะด้วย อย่างประเภท เบเกอรี่ หรือ พาร์เฟต์ ซึ่งร้าน DQ Lounge จะเปิดในฐานะสาขาที่ 2 ในห้างหรือพื้นที่ที่มีร้าน Dairy Queen อยู่แล้ว เพื่อเป็นตัวเลือกให้กับผู้บริโภคที่มีความต้องการแตกต่างกัน ซึ่งปีนี้เขาตั้งเป้าไว้ที่ 10 สาขา โดยมีสาขาแรกเปิดแล้วที่ชั้น1 Central Westgate
ซึ่งนอกจากการเพิ่มเติมรูปแบบร้านใหม่ ๆ ในร้านเก่า และแฟรนไชส์เดิมเขาก็ไม่ได้ทิ้งไปไหน แต่ยังทำการรีโนเวตอย่างต่อเนื่องไปราว 15% แล้ว และปีนี้จะรีโนเวตอีก 80 สาขา ให้ร้านยังดูดี ทันสมัย ให้บริการได้ดีอยู่เสมอ พร้อมทั้งขยายสาขาเพิ่มเติมไปตามอาคารสำนักงาน มหาวิทยาลัย และร้านขายส่งด้วย
ซึ่งนี่คือแผนการของเจ้าตลาดไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟของไทย ที่จะยังคงครองตลาดต่อไปด้วยสินค้าที่ดีสม่ำเสมอ และกลยุทธ์ที่แปลกใหม่ ส่วนในฝั่งของคู่แข่งหน้าใหม่ โดยเฉพาะเจ้าจากจีนที่ขยายสาขาอย่างรวดเร็วนั้น คุณธนกฤตมองว่า “ไม่ใช่คู่แข่ง” เพราะ Dairy Queen เสิรฟ์ความพรีเมี่ยมซึ่งต่างกันให้กับลูกค้า และถ้าดูจากแนวทางของแบรนด์แล้ว เราก็น่าจะเห็นได้ว่า Dairy Queen เน้นไปที่การพัฒนาแบรนด์ให้ดียิ่งขึ้นมากกว่าจะแข่งกับใคร
ปัจจุบัน Dairy Queen มีสาขาในไทยกว่า 520 สาขาครอบคลุมทั่วประเทศ ปีนี้จะเปิดเพิ่มให้ได้อีก 40 และตั้งเป้าจะโตให้ได้ถึง 1,000 สาขา โดยไม่ได้เร่งรัด แต่เน้นเติบโตอย่างมีคุณภาพ ตอกย้ำการเป็นเจ้าตลาดและเป็นแบรนด์ขนมหวานพรีเมียม ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคทุกสไตล์ อร่อยได้ในทุกโอกาสและทุกเทศกาลความสุขของคนไทย