ปัจจุบันเป็นยุคสมัยที่มีทางเลือกการประกอบอาชีพที่หลากหลายมาก ไม่ใช่อะไรก็รับราชการหรืองานออฟฟิศเหมือนเมื่อก่อน
หนึ่งในรูปแบบงานที่เคยถูกมองว่า “ไส้แห้ง” แต่กลับเป็นทางเลือกสร้างตัวของคนรุ่นใหม่ไม่น้อยคือ ฟรีแลนเซอร์ (Freelancer) หรือ อาชีพอิสระ ที่ไม่ประจำกับองค์กรหรือหน่วยงานไหน รับจ้างเป็นงาน ๆ ไปตามความสะดวก
ซึ่งหนึ่งคนเข้ามาขับเคลื่อนวงการฟรีแลนซ์ไทยให้เติบโตได้แข็งแรงยิ่งกว่าเมื่อก่อนคือ ซีเค เจิง (CK Cheong)
ซีเค เจิง คือผู้บริหารรุ่นใหม่ เป็น CEO ของแพลตฟอร์มฟรีแลนซ์ไทยยอดนิยมอย่าง Fastwork
ที่เปิดโอกาสให้คนมากมายสร้างรายได้จากการเป็นฟรีแลนเซอร์บนแพลตฟอร์ม โดยแพลตฟอร์มนี้ ถือเป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ เข้าถึงฟรีแลนเซอร์มากฝีมือในประเทศได้มากขึ้นด้วย สร้างความสะดวกให้ทั้งกับคนทำงานและคนจ้างงาน และเป็นหนึ่งก้าวสำคัญที่ช่วยปฏิวัติวงการฟรีแลนซ์ไทย รวมถึง SME ให้มีโอกาสเติบโตมากขึ้น
ซึ่งปัจจุบันนอกจากจะเป็นผู้บริหารของ Fastwork แล้วซีเค ยังออกหน้าเป็น Face ของบริษัทอีกด้วย ทำให้เรามักจะเห็นคอนเทนต์วิดีโอของเขาอยู่ทั่วทุกแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย พูดคุยเกี่ยวกับแนวคิดทางธุรกิจ การประกอบอาชีพ และใช้ชีวิตได้น่าติดตาม จนอาจเรียกได้ว่าเป็นอินฟลูเอนเซอร์คนหนึ่งเลยก็ว่าได้
สำเร็จทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังขนาดนี้ ต้องบอกเลยว่าความเป็นมาและแนวคิดของเขาก็น่าสนใจไม่ใช่น้อย
ซีเค เจิง เป็นลูกครึ่งไทยจีน เกิดที่มาเก๊า เมื่อพ่อแม่แยกทางกันก็ถูกส่งไปเรียนที่สหรัฐอเมริกาตัวคนเดียวในวัย 13 ปี เรียนและเติบโตที่นั่น
ระหว่างเรียนมัธยมก็ทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างการเฝ้าบ้าน ดูแลสนามหญ้า จูงหมาเดินเล่น ได้วันละราว ๆ 60 ดอลลาร์ นอกจากนี้ก็มีเงินใช้จ่ายที่ได้จากคุณพ่อทุกปี
ซีเคเป็นคนประหยัดมากและมีนิสัยเป็นนักลงทุนตั้งแต่เด็ก จึงนำเงินส่วนใหญ่ที่ได้ไปลงทุนในหุ้น โดยเลือกลงทุนในหุ้นธุรกิจที่เป็นลูกค้าเขาอยู่แล้วอย่าง Apple, Amazon และ Facebook เพราะรู้สึกว่าเป็นสินค้าและบริการที่คนใช้อยู่ประจำ
หลังจากจบมัธยมปลายก็เข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยที่ Wake Forest University สายการเงินและบัญชีทั้งในระดับปริญาตรีและปริญาโท
ซึ่งระหว่างนั้น ก็มีบริษัทชั้นนำของอเมริกามายื่นข้อเสนอให้ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ ซีเคจึงทั้งเรียนและทำงานไปด้วย ทุก ๆ หน้าร้อนก็ไปฝึกงานที่ Bank of America อยู่ช่วงหนึ่ง จนสุดท้ายก็ได้มาทำงานกับ Deloitte บริษัทบัญชีและที่ปรึกษาด้านการเงิน 1 ในบริษัทตรวจสอบบัญชี BIG4 ของโลก เข้าไปทำในแผนกการจัดซื้อและควบรวมกิจการ หรือ M&A ซึ่งซีเคก็ทำได้ดีและค่าตอบแทนสูง แต่ทำได้ 3 ปีก็ตัดสินใจลาออก
เหตุผลในการบอกลาบริษัทด้านการเงินระดับโลกของซีเค คือความรู้สึกที่ว่า เขาไม่ได้ภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองทำ งานของเขาไม่ได้ช่วยให้สังคมดีขึ้น
มีอยู่ดีลหนึ่งที่ซีเคมักเล่าในรายการต่าง ๆ ว่าเป็นดีลมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านเหรียญ พอควบรวมกิจการสำเร็จเจ้าของใหม่ก็ไล่พนักงานออกครึ่งหนึ่ง ซึ่งนั่นก็ทำให้เขาตระหนักว่างานของตัวเองทำให้คนรวยรวยขึ้น และคนจนจนลง จึงได้ตัดสินใจกลับไทย
พอกลับไทยมาก็ได้นัดพบกับเพื่อนที่รู้จักกันผ่านเกมออนไลน์ ซึ่งเพื่อนคนนั้นก็ทำสตาร์ตอัปชื่อ HAUP ซึ่งเป็น Mobility Sharing Application ผู้ให้บริการเช่าและปลดล็อกรถผ่านแอปพลิเคชันเจ้าแรกของไทย ในตอนนั้นบริษัทกำลังประสบปัญหาด้านการเงินอยู่ ซีเคเห็นว่าเป็นธุรกิจที่จะช่วยให้คนมีรถขับได้โดยไม่ต้องซื้อ สร้างประโยชน์ได้อย่างแท้จริง เลยตัดสินใจเข้ามาช่วยพลิกฟื้นธุรกิจนี้ ด้วยการเปลี่ยนโมเดลและระดมทุนได้หลายสิบล้าน
ทำได้ 2 ปี บริษัทเริ่มเติบโตและเป้าหมายของตัวเองกับเพื่อนเริ่มแตกต่างกัน อยากทำอะไรของตัวเองที่ส่งผลให้ประเทศไทยดีขึ้น จึงได้ตัดสินใจขายหุ้นของตัวเองทั้งหมดในบริษัทและแยกทาง
ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นช่วงที่การเงินของ Fastwork กำลังย่ำแย่ นักลงทุนไม่กล้าลงทุนจากสถานการณ์ของโรคระบาด แต่ซีเคเห็นศักยภาพของพนักงานและองค์กร คิดว่าสามารถช่วยได้จึงตัดสินใจเข้ามาซื้อ Fastwork
จากนั้นก็เข้ามาปรับเปลี่ยนทิศทางขององค์กร เน้นคุณภาพของฟรีแลนซ์ และมองว่าเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ SME ไทยสามารถเติบโตได้ง่ายขึ้น
ซีเคมองเห็นว่า พอเกิดโควิดหลายธุรกิจก็ไม่อยากจ้างพนักงานประจำ เพราะไม่อยากมีรายจ่ายประจำ อยากจ่ายตามปริมาณการใช้จริง เพื่อลดค่าใช้จ่าย ซึ่งมันจะดีกับธุรกิจเล็ก ๆ หรือคนที่กำลังเริ่มต้นธุรกิจมากกว่า และนอกจากนี้การประกอบอาชีพในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป คนเริ่มมองหา Work-Life Balance มากขึ้น จัดการเวลาของตัวเองได้ ไม่ต้องเข้าออฟฟิศประจำ ซึ่งการทำ/จ้างฟรีแลนซ์เข้ามาตอบโจทย์นี้
ภายใต้การนำซีเค Fastwork ถือว่าเป็นแพตฟอร์มฟรีแลนซ์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีลูกค้าจากหลากหลายประเทศทั่วโลกอีกหลายล้านคน และฟรีแลนเซอร์ในแพลตฟอร์มกว่าแสนคน มีเป้าหมายอยากดึงดูดต่างประเทศเข้ามาจ้างคนไทย ทำให้คนไทยรวยขึ้นและสนับสนุนให้ SME ไทยเติบโต เพราะเชื่อว่าเป็นธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างแท้จริง
โดยปัจจุบัน Fastwork มีในไทยและอินโอนีเซีย ซึ่งซีเคยังไม่ได้มีแผนจะขยายไปที่อื่นอีก เพราะมองว่าแพลตฟอร์มนี้ถูกสร้างมาเพื่อช่วยคนไทย อยากให้คนที่อื่นมาใช้ฟรีแลนเซอร์ไทยมากกว่า ซึ่งปัจจุบันสาขาฟรีแลนซ์ที่มีความต้องการสูงมาก ๆ คือ SEO และกราฟิก รวมถึงที่มาแรงมาก ๆ คือ งานวิดีโอ และสาขาที่มีโอกาสเติบโตในอนาคตข้างหน้า คือ เกมมิง
แน่นอนว่านอกจากการบริหาร Fastwork แล้ว หลายคนคงได้รู้จักและคุ้นเคยกับซีเคผ่านคอนเทนต์ทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ซีเคจึงมีอีกหนึ่งบทบาทสำคัญบนโลกออนไลน์คือ อินฟลูเอนเซอร์สายการเงิน/ธุรกิจ คอยให้คำแนะนำ ตอบคำถาม และแนวคิดทางธุรกิจ การเงิน รวมถึงการใช้ชีวิตอยู่บ่อย ๆ ซึ่งวิธีคิดและคำแนะนำของซีเคก็มาจากประสบการณ์และความคิดของตัวเขาเอง ซึ่งเข้าใจและตอบโจทย์คนรุ่นใหม่มาก ๆ ทำให้เขากลายเป็นไอดอลของทั้งวัยเรียนและวัยทำงาน
นี่คือเรื่องราวของ ซีเค เฉิง ผู้บริหารรุ่นใหม่ไฟแรง มากด้วยฝีมือ พร้อมวิสัยทัศน์ที่ดีและกว้างไกล ไม่ได้มองแค่เรื่องเม็ดเงินของธุรกิจ แต่ยังห่วงใยถึงคุณภาพชีวิตและการเติบโตของสังคมไทย ผ่านการพัฒนา Fastwork เพื่อเป็นส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการและฟรีแลนซ์ไทยไปถึงฝัน
ที่มา:
https://www.pressreader.com/…/20220929/282183654927383