ออสการ์ครั้งที่ 96 ที่ผ่านมา เป็นอีกหนึ่งครั้งที่ “เสด็จพ่อโนแลน” หรือ คริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) แสดงความเก๋าเกมในวงการภาพยนตร์ นำ Oppenheimer กวาดไปถึง 7 รางวัล เป็นอีกปีที่ตัวเขาและภาพยนตร์ประสบความสำเร็จอย่างไร้ข้อกังขา ยืนยันอีกครั้งถึงศักยภาพของเขาในฐานะผู้สร้างสรรค์ศิลปะในรูปแบบของภาพยนตร์ แต่โนแลนทำอย่างไรจึงยังคงความขลังและชีวิตให้ภาพยนตร์ได้ในยุคที่สตรีมมิง เข้ามามีบทบาทสำคัญและผู้ชมเสพสื่อหลากหลายมากขึ้น
ประสบการณ์ภาพยนตร์ที่หาชมไม่ได้ผ่าน streaming
ช่วงที่สตรีมมิงเริ่มได้รับความนิยม โดยเฉพาะช่วงหลังโควิด เหมือนเป็นสัญญาณที่บอกใบ้ว่าถึงเวลาที่โรงภาพยนตร์จะต้องจากไป เพราะสตรีมมิงให้ความสะดวกสบาย ความคุ้มค่า และตอบโจทย์ชีวิตสมัยใหม่มากกว่า แต่โนแลนไม่ยอมให้มันเกิดขึ้น ความเก่งกาจของเขาทรงพลังมากพอที่จะฝืนวิถีใหม่นี้ โนแลนสร้างและมอบประสบการณ์การชมภาพยนตร์ที่ตื่นตาตื่นใจ สัมผัสกับภาพ เสียง และรับรู้ถึงอารมณ์ที่ลึกซึ้งเกินกว่าที่การรับชมผ่านสตรีมมิงจะถ่ายทอดได้ในภาพยนตร์ของเขา โรงภาพยนตร์เท่านั้นจึงจะเป็นช่องทางที่ตอบโจทย์ และนี่เป็นเหตุผลที่เขาไม่เคยทำงานขึ้นตรงกับสตรีมมิงไหนเพื่อปล่อยภาพยนตร์ของเขาลงแพลตฟอร์มทันทีเลยสักครั้ง
ราชา IMAX
ด้วยความตั้งใจมอบประสบการณ์ชมภาพยนตร์ที่ดีที่สุด ฟิล์มและโรง IMAX นี่แหละที่จะให้ได้ นั่นทำให้หลัง ๆ มาโนแลนถ่ายภาพยนตร์ทุกเรื่องของเขาด้วยฟิล์ม IMAX ทั้งหมด เพื่อเล่าเรื่องได้ครบถ้วนให้ผู้ชมได้เก็บทุกรายละเอียดอย่างไม่ตกหล่น แบบที่สตรีมมิงหรือสื่อแบบอื่นทำไม่ได้ และบอกเลยว่าแทบจะไม่มีใครใช้ IMAX ได้คุ้มเท่าโนแลนอีกแล้ว เพราะขนาดภาพที่ใหญ่ยักษ์ของเขาไม่เพียงให้ภาพที่กว้างกว่า แต่ยังช่วยเล่าเรื่อง สร้างอารมณ์ให้การรับชมได้สอดคล้องกับเรื่องราวด้วย ถ้าใครได้ชม Oppenheimer แล้วก็คงเข้าใจเป็นอย่างดี
ซับซ้อนแค่ไหนก็เชื่อใจผู้ชม
ภาพยนตร์ของโนแลนนั้นโดดเด่นด้วยการเล่าเรื่องที่ซับซ้อน มีความเป็นวิทยาศาสตร์ สร้างทฤษฎีที่ลึกล้ำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหลุมดำใน Interstellar ทฤษฎีความฝันซ้อนฝันใน Inception การสร้างระเบิดนิวเคลียร์ใน Oppenheimer หรือการย้อนเวลาสุดซับซ้อนใน Tennet แต่โนแลนไม่ได้เล่นท่าง่ายด้วยการเล่าแบบตื้น ๆ เขาลงลึกเท่าที่ลึกได้ และเชื่อใจผู้ชมว่าจะสามารถหาวิธีเข้าใจสิ่งที่เขาต้องการสื่อ ซึ่งนั่นคือวิธีคิดแบบงานศิลปะ ซึ่งถูกเขานำมาเล่าผ่านภาพยนตร์ได้อย่างลงตัวและมีเสน่ห์แบบที่อย่างอื่นทำไม่ได้
ให้ความสำคัญทั้งภาพและเสียง
แม้ว่าหัวใจหลักของภาพยนตร์คือการเล่าเรื่องด้วยภาพ แต่โนแลนไม่เคยละเลยเรื่องเสียงในภาพยนตร์ เพราะนั่นคือประสาทสัมผัสที่มนุษย์ควบคุมการรับรู้มันไม่ได้ ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลต่ออารมณ์ อย่างเรื่องไดอาล็อกที่ฟังยากในเรื่อง Tennet เองก็เป็นความตั้งใจให้ผู้ชมรับรู้ถึงความซับซ้อนเพื่อให้ได้อารมณ์ร่วมแบบหนึ่ง หรือเสียงประกอบใน Dunkirk ที่พาเราร่วมอยู่ในเหตุการณ์ ความเงียบสงัดของ Oppenheimer เหล่านี้ล้วนมีจุดประสงค์ในการเล่าเรื่องที่สำคัญ ทำให้ภาพยนตร์ได้ทำหน้าที่ของมันอย่างเต็มประสิทธิภาพ และทำให้ภาพยนตร์ของโนแลนได้ออสการ์สาขาด้านเสียงอยู่บ่อยครั้ง
Practical Effects ความสมจริงที่มากว่า
หนึ่งเสน่ห์สำคัญของภาพยนตร์โนแลน คือการใช้ Practical Effects รถจริง ระเบิดจริง ฉากจริงเป็นหลัก ซึ่งจะให้ภาพและการเคลื่อนไหวที่สมจริงยิ่งกว่า CGI ที่เขาให้เป็นส่วนเสริมเท่านั้น ทั้งระเบิดจริงใน Oppenheimer ห้องหมุนใน Inception หรือกองทัพทหารนับร้อยพันที่มีแต่คนกับป้าย และมันสร้างความแตกต่างให้กับผลงานของเขาอย่างที่เราคนดูคงหาจากที่อื่นได้ยาก สะท้อนความเก่งของเขาในฐานะผู้สร้างจริง ๆ
ทั้งหมดนี้คือความสามารถของผู้กำกับอัจฉริยะ ผู้เป็นตำนานที่ยังมีลมหายใจ พายุคสมัยของภาพยนตร์ให้คงอยู่ต่อไปท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง ซึ่งความมุ่งมั่นของเขาก็เป็นผล รวมแล้วที่ผ่านมาภาพยนตร์ของโนแลนชนะไปทั้งสิ้น 18 รางวัล จากภาพยนตร์ The Dark Knight, Inception, Interstellar, Dunkirk, Tenet และ Oppenheimer
สุดท้ายนี้ลองคอมเมนต์บอกกันหน่อยว่าคุณชื่นชอบผลงานไหนจากคริสโตเฟอร์ โนแลนมากที่สุด
#People #ChristopherNolan #Oscar