ในบรรดาธุรกิจยักษ์ของไทย ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นกลุ่มธุรกิจค้าปลีกอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งแน่นอนว่าเจ้าหนึ่งที่เราพบเห็นสินค้าของเขาอยู่เสมอ คือ “ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)” หรือ “ไทยเบฟ” ของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภัคดี”
การเป็นเจ้าของอาณาจักรเครือธุรกิจยักษ์ของไทย ทำให้เจ้าสัวเจริญติดอันดับ 3 มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในไทย ด้วยทรัพย์สินกว่า 4.73 แสนล้านบาท จากการจัดอันดับของ Forbes ประเทศไทย ปี 2566
แต่กว่าจะร่ำรวยมหาศาลจนชื่อและสินค้าของเขาเป็นที่รู้จักกันทั่วประเทศแบบนี้ เขาเป็นคนหนึ่งที่ต่อยอดและช่วงชิงโอกาสทางธุรกิจได้เป็นอย่างดีเสมอมา วันนี้ Connect the Dots จะพาย้อนรอยดูว่า ความมั่งคั่งและอาณาจักรของเขาเกิดขึ้นมาจากอะไรบ้าง
เจ้าสัวเจริญเกิดเมื่อปี 2487 ในครอบครัวคนจีนที่ขายหอยทอดในย่านธุรกิจทรงวาด มีนามสกุลเดิมคือ “ศรีสมบูรณานนท์” มีชื่อจีนว่า “โซวเคียกเม้ง” หรือ “เม้ง” และได้เรียนที่โรงเรียนเผยอิง โรงเรียนที่ขึ้นชื่อว่าผลิตเจ้าสัวมากที่สุดในไทย แต่ในวัยเด็กทางบ้านก็ไม่ได้บังคับเรื่องเรียนมากนัก และตัวเจ้าสัวเจริญก็เป็นคนที่ชอบค้าขายแต่เด็ก นำของมาขายเพื่อนที่โรงเรียนเป็นประจำ พอจบชั้นป.4 จึงเลิกเรียนหนังสือและออกมาเริ่มทำงานอย่างจริงจัง
จนในปี 2504 ได้มีโอกาสเข้าทำงานในบริษัทคนจีน “ย่งฮะเส็ง” และ “ห้างหุ้นส่วนจำกัด แพนอินเตอร์” ซึ่งได้ทำการค้าขายกับ “โรงงานสุราบางยี่ขัน” และทำให้เขาได้รู้จักกับนักปรุงเหล้ามือดีที่คิดค้นเหล้าดังระดับตำนานอย่าง “แม่โขง” นั่นคือ “จุล กาญจนลักษณ์” และยังได้รู้จักกับ “เถลิง เหล่าจินดา” ผู้ดูแลการจัดซื้อของโรงงาน ด้วยความอ่อนน้อมของเจ้าสัวเจริญ จึงได้รับความเอ็นดูและสนิทสนมกับทั้งคู่มากขึ้น จนได้เรียนรู้การทำธุรกิจสุรามาจากทั้งสอง
เมื่อเข้าสู่แวดวงของเจ้าสัว เจ้าสัวเจริญจึงมีโอกาสได้พบรักกับลูกสาวเจ้าสัวอย่า “วรรณา แซ่จิว” ที่ต่อมาได้แต่งานกันและเปลี่ยนเป็น “คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี” แต่น่าเศร้าที่คุณหญิงเพิ่งจากไปเมื่อไม่นานมานี้
ในช่วงหนึ่งที่สถาณการณ์บ้านเมืองไม่ค่อยสงบดีนัก เจ้าของโรงงานสุราบางยี่ขันไปถอนตัวออกไป ทำให้เจ้าสัวเจริญและคุณเถลิง ตัดสินใจร่วมกันเข้าซื้อมาดำเนินธุรกิจสุราต่อเป็นของตัวเอง ซึ่งได้ร่วมกันขยายธุรกิจให้เติบโต เข้าเทกโอเวอร์อีกหลากหลายธุรกิจมาตลอด
ในปี 2531 ได้รับพระราชทานนามสกุล “สิริวัฒนภักดี”
จนในปี 2538 ก็ถึงเวลาที่ลูกรักของธุรกิจได้ถือกำเนิดขึ้น เป็นปีที่ “เบียร์ช้าง” ออกจำหน่ายในตลาดเป็นครั้งแรก หลังจากที่ผลิตขวดแรกสำเร็จในปีก่อนหน้า ซึ่งขอตั้งโรงงานเบียร์ได้ตั้งแต่ 2534 ที่รัฐบาลเปิดเสรีอุตสาหกรรมเบียร์ในตอนนั้น ซึ่งก็ได้ผลตอบรับดีและเติบโตควบคู่กับธุรกิจสุราอื่น ๆ ในเครือ แข่งกับเบียร์สิงห์ที่ครองตลาดมายาวนานจนเบียร์สิงห์เกือบเจ๊ง
ในปี 2546 ที่อุตสาหกรรมสุรารุ่งเรืองมากแล้ว จึงได้มีการก่อตั้ง “บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)” ด้วยทุนจดทะเบียน 20,000 ล้านบาท เพื่อรวบรวม 58 บริษัทที่เกี่ยวข้องเอาไว้ โดยในปัจจุบันมีบริษัทย่อย 63 บริษัท และไทยเบฟเองก็ขึ้นมาเป็นผู้นำธุรกิจน้ำเมาของไทย
ปี 2548 ไทยเบฟมีความพยายามเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่ในตอนนั้นมีค่านิยมเรื่องการมีศีลธรรมอันดีที่ดันเป็นวาระแห่งชาติในรัฐบาลของ “ทักษิณ ชินวัตร” และพระสงฆ์จำนวนมากเห็นว่าการเอาธุรกิจน้ำเมาเข้าตลาดหุ้นไทยจะส่งผลเสียร้ายแรงต่อประชาชน
ซึ่งแม้ว่านั่นจะไม่ใช่กิจของสงฆ์ แต่พระสงฆ์หลายรูปก็รวมตัวเกิดเป็น “ม็อบพระ” เข้ากดดันอย่างถึงที่สุด แต่สุดท้ายไทยเบฟก็ไม่สนใจ ไม่ยอมให้ใครมาขัดขวางโอกาสในการเติบโต จดในบ้านไม่ได้ก็ไปจดที่ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์เสียเลย ซึ่งก็สำเร็จดีในปี 2549
แน่นอนว่าด้วยการเป็นธุรกิจศักยภาพสูง ไทยเบฟยังเติบโตต่อเนื่องขึ้นเรื่อย ๆ ทำธุรกิจที่หลากหลายไม่ใช่แค่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ด้วยการเข้าซื้อหลากหลายบริษัทใหญ่ ทั้ง เสริมสุข, F&N, แรงเยอร์, โออิชิ, รวมถึงซื้อเฟรนไชส์ KFC กว่า 200+ สาขา
ทำให้ทั้งมีถึง 4 สายธุรกิจหลัก คือ สุรา เบียร์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และอาหาร
ทำให้มีสินค้าในเครือที่เราพบเห็นได้อยู่เสมอมากมาย ทั้ง เบียร์ช้าง เบียร์อาชา เหล้าแม่โขง เหล้าแสงโสม เหล้าหงส์ทอง โออิชิ น้ำดื่มช้าง โซดาช้าง โซดาร็อคเมาเท็น น้ำดื่มคริสตัล เอส โออิชิ 100พลัส กลุ่มร้านอาหารต่าง ๆ รวมถึงสตาร์บัคและKFC ด้วย
ล่าสุด เจ้าสัวเจริญ เปิดศึกทางธุรกิจอีกครั้งด้วยการประกาศเตรียมลุยธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ที่ปัจจุบันมี “7-11” ครองอันดับหนึ่งอยู่ ด้วยการส่ง “ยุคเกอร์” บริษัทในเครือเข้าไปเปลี่ยนโฉมร้านสะดวกซื้อ 3 หมื่นร้านทั่วประเทศเป็น “ร้านโดนใจ” ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2570 ซึ่งถ้าสำเร็จได้ตามนี้จริง จะมีสาขามากกว่า 7-11 ที่มีกว่า 14,000 สาขาทั่วประเทศ
และนอกจากธุรกิจเครื่องดื่มและอาหารแล้ว เจ้าสัวเจริญยังร่วมก่อตั้ง “แอสเสท เวิลด์” กลุ่มธุรกิจอสังหาแถวหน้าของไทยขึ้นมาด้วย ซึ่งเริ่มมาจากการที่เจ้าสัวเจริญได้เข้าซื้อโรงแรมแม่ปิงเชียงใหม่ใน ปี 2537 หลังจากนั้นก็ได้ก่อตั้ง “ทีซีซี แลนด์” และลงทุนต่อยอดมหาศาลในธุรกิจโรงแรม
โดยที่ผ่านมาเจ้าสัวเจริญคอยยึดหลัก “อดทน เสียสละ เงียบ ร่าเริง” มาตลอด อดทนมุ่งมั่นทำงานให้สำเร็จ เสียสละให้พ้นจากปัญหา เงียบสงบให้เกิดปัญญา และร่าเริงให้สามารถมองโลกในแง่บวกได้
แต่ที่สำคัญคือคติที่ว่า “ยิ่งให้ ยิ่งมี” ซึ่งเจ้าสัวเจริญบอกว่าเป็นคำสอนจากคุณพ่อ และคำสอนของคนจีน ที่เชื่อว่าก่อนที่เราจะดีได้ ต้องช่วยให้คนอื่นมีก่อน เพราะฉะนั้นการทำธุรกิจของเจ้าสัวเจริญจึงไม่ได้เพียงแค่มุ่งมั่นสร้างผลกำไรให้ตัวเองเติบโต แต่จะต้องช่วยคนอื่นให้ได้ประโยชน์ด้วย
และนี่คือเรื่องราวความสำเร็จของเจ้าสัวเบียร์ช้าง เจริญ สิริวัฒนภักดี
ที่มา: https://www.blockdit.com/posts/5dbdbc275d2b0d7be0545318
https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/1540073
http://www.tcc.co.th/index.php?controller=founderhistory
https://www.bangkokbiznews.com/business/business/1092227