🇰🇷 ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์เกาหลี หรือแม้แต่ข่าวเศรษฐกิจ ก็มีการกล่าวถึง “แชโบล” ว่าเป็นกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทรงอิทธิพลในเกาหลีใต้ แล้วที่มาที่ไปของแชโบลเป็นอย่างไร มีความสำคัญอย่างไรกับเศรษฐกิจเกาหลีใต้ ลองมาอ่านกันดู
แชโบล (ภาษาเกาหลีใต้ คือ 재벌) มาจากคำว่า ตระกูลที่มั่งคั่งในภาษาเกาหลี ซึ่งในปัจจุบันมีบริษัทที่ถูกจัดว่าอยู่ในกลุ่มแชโบลประมาณ 40 บริษัท บริษัทแชโบลที่เป็นที่รู้จัก เช่น Samsung, LG, Hyundai, Lotte, SK Group เป็นต้น บริษัทแชโบลแต่ละบริษัทมีบริษัทลูกมากมาย และมีรายได้มากกว่า 80% ของ GDP ของประเทศเกาหลีใต้ทั้งประเทศ
🤔 ความแตกต่างของแชโบลในเกาหลีใต้ กับเคเรตสึในญี่ปุ่น
ถ้าในประเทศเกาหลีใต้มีแชโบล ประเทศญี่ปุ่นก็มีเคเรตสึ เคเรตสึ (Keiretsu) เป็นกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น บริษัทที่เป็นที่รู้จัก เช่น Mitsui, Sumitomo, Mitsubishi, Dai-Ichi Kangyo เป็นต้น
ทั้งแชโบลและเคเรตสึนั้น มีความเหมือนตรงที่เป็นกลุ่มบริษัทที่ทรงอิทธิพล และสร้างรายได้ให้กับประเทศได้เป็นสัดส่วนมหาศาล แต่สิ่งที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัด คือ แชโบลนั้นมีการจัดการแบบเข้าสู่ศูนย์กลาง เน้นการทำงานแบบครอบครัวเป็นหลัก และมักมีการจับคู่แต่งงานลูกหลานในตระกูลที่สามารถเกื้อกูลกัน แต่เคเรตสึนั้นกลับใช้การจัดการโดยใช้ผู้บริหารมืออาชีพมากกว่า
📌 ต้นกำเนิดของแชโบล
ในช่วงปี 1960 ประเทศเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก โดยมี GDP ต่อหัวต่ำกว่า100 ดอลลาร์สหรัฐฯ และเมื่อนายพลปาร์คจุงฮี ขึ้นเป็นประธานาธิบดีในปี 1961 ก็ได้วางแผนพัฒนาประเทศให้เข้าสู่ประเทศอุตสาหกรรม จึงมีการผลักดันกลุ่มบริษัทเอกชนที่มีศักยภาพสูงประกอบไปด้วยกลุ่มบริษัท Hyundai, Daewoo, Samsung และ Gold Star (LG) ให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด
ภายในเจเนอเรชั่นเดียวเท่านั้น ประเทศเกาหลีใต้กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก โดยมีGDP ต่อหัวอยู่ที่ 32,000 ดอลล่าร์สหรัฐ และแม้การปกครองแบบเผด็จการจะจบลงในปี 1988 แต่บริษัทในกลุ่มแชโบลก็ยังคงมีอำนาจ และมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจของเกาหลีใต้อย่างต่อเนื่อง มาจนถึงปัจจุบัน
💬 ความคิดเห็นต่อสังคมกับกลุ่มแชโบล
แม้ว่าแชโบลจะเป็นหัวหอกที่สำคัญของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การครอบครองสัดส่วนที่ใหญ่เกินไปก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการทำธุรกิจกับบริษัทเล็กๆ อย่าง SMEs หรือบริษัทต่างชาติ ไม่เพียงแต่แชโบลจะได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาล ซึ่งมาพร้อมกับข้อหาหลีกเลี่ยงภาษี การได้รับข้อยกเว้น และการปฏิบัติที่พิเศษกว่าคนทั่วไป
แม้แชโบลจะมีสัดส่วนทางเศรษฐกิจในประเทศเป็นจำนวนมาก แต่กลับจ้างงานคนในประเทศเพียง10% เท่านั้น แรงงานกว่า 90% ในประเทศ ทำงานให้กับธุรกิจ SMEs ทำให้การกระจายรายได้กระจุกตัวอยู่แค่บางกลุ่มเท่านั้น
▪️ความไม่เป็นธรรมในการทำธุรกิจ
▪️การฮั้วกันกับรัฐบาล
▪️หากมีปัญหา รัฐบาลต้องเข้ามาอุ้ม เพราะยิ่งใหญ่เกินกว่าที่จะล้ม
▪️เพิ่มช่องว่างรายได้ ระหว่างคนจนและคนรวย
ที่มา
https://www.moneybuffalo.in.th/business/get-to-know-chaebol-the-capital-magnate-group-that-controls-south-koreas-economy
https://www.bnomics.co/reborn-rich-chaebol-korea-economic/
https://workpointtoday.com/k-drama-chaebol-heirs/
https://foreignbrief.com/analysis/the-rulers-of-south-korea/
https://www.investopedia.com/terms/c/chaebol-structure.asp