นายยศกร ฟอลเล็ต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็กซ์สปริง จำกัด หรือ XSpring AM เปิดเผยว่าในครึ่งแรกของปี 2567 ที่ผ่านมาแม้จะเป็นช่วงที่ภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นไทยไม่ค่อยสดใสแต่ XSpring AM สามารถสร้างผลงานได้อย่างน่าพอใจ โดยสามารถเพิ่มสัดส่วนสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหาร (AUM) ให้เติบโตขึ้นจาก 2,928 ล้านบาท เมื่อสิ้นปี 2566 เป็น 8,501 ล้านบาทในวันที่ 30 มิ.ย. 2567 คิดเป็นอัตราการเติบโต 22.70% โดยปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตในครั้งนี้มาจากการสร้างความแตกต่างในบริการของ XSpring AM ที่เน้นกลยุทธ์ในการใช้ Ecosystem ของกลุ่ม XSpring ที่มีบริการทางการเงินอย่างครบวงจรเข้ามาต่อยอดความต้องการทางการเงินและการลงทุนของลูกค้าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยการยึดความต้องการของลูกค้าเป็นศูนย์กลาง เช่น การส่งต่อลูกค้าจากบริษัทแม่กระจายมายังสินค้าและบริการของบริษัทอื่น ๆ ในกลุ่มเพื่อตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าแบบ 360 องศา และมั่นใจว่าการผนึกกำลังของกลุ่ม XSpring จะทำให้ผลงานครึ่งปีหลังเติบโตต่อเนื่อง
โดยรายได้รวมของครึ่งแรกของปี 2567 อยู่ที่ 408 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากครึ่งแรกของปี 2566 คิดเป็น 88.02% ส่วนกำไรในครึ่งแรกของปี 2567 อยู่ที่ 51 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากครึ่งแรกของปี 2566 คิดเป็น 50% ซึ่งรายได้หลักยังคงมาจากดอกเบี้ยจากการธุรกิจปล่อยสินเชื่อ 255 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 68.87% (YoY) แต่รายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการก็เติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญ 121 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 278.13% (YoY) โดยรายได้ส่วนนี้มาจากธุรกิจบริหารจัดการกองทุนจาก บลจ.เอ็กซ์สปริง (XAM) เป็นหลัก
ในขณะที่รายได้จากธุรกิจการลงทุน และส่วนแบ่งจากบริษัทร่วมทุนอย่าง KTX ลดลงจากสภาวะตลาดที่มีความผันผวน และหุ้นที่ปรับตัวลงทั่วโลก อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมาค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญคือการตั้งสำรอง (Credit loss) ที่ 47 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 261.54% (YoY) และการขยายทีมขายในธุรกิจต่างๆของบริษัท ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขการเติบโตของค่าธรรมเนียมและบริการจากธุรกิจ XAM ที่เพิ่มสูงขึ้นตามแผนในช่วงต้นปี ที่ 171 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35.11% (YoY) รวมค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น 352 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 56.44% (YoY)
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ XSpring AM เมื่อได้รับการส่งต่อลูกค้ามาแล้วก็มีกลยุทธ์เพื่อตอบสนองให้ลูกค้าอย่างแตกต่าง โดยเฉพาะในครึ่งปีที่ผ่านมา เราได้เปิดกองทุนที่มุ่งเน้นลงทุนทั้งสินทรัพย์ในตลาดทุนและนอกตลาด เช่น กองทุนXSpring AM Private Real Estate Fund ที่เน้นลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ สามารถสร้างผลตอบแทนที่โดดเด่น และเป็นทางเลือกที่นักลงทุนสนใจท่ามกลางผลตอบแทนในตลาดทุนที่ยังไม่สดใส และถือเป็นการเพิ่มโอกาสให้นักลงทุนสามารถลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ได้ง่ายขึ้น โดยส่วนหนึ่งที่กองทุนประเภทนี้ได้รับความสนใจ เนื่องจากมีโอกาสสร้างผลตอบแทนการลงทุนในโครงการไม่ต่ำกว่า 10%
ทั้งนี้นอกจากสินทรัพย์นอกตลาดที่จะนำมาขับเคลื่อนกลยุทธ์ของ XSpring AM แล้ว ในครึ่งปีหลัง สินทรัพย์ต่างประเทศก็จะเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่จะนำมาผสมผสานในการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ให้ลูกค้า โดยคาดว่าแนวโน้มและทิศทางการลงทุนในต่างประเทศยังคงสดใสมากกว่าไทย แม้ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจอาจจะถดถอยในเขตเศรษฐกิจสำคัญจะเพิ่มขึ้น แต่ต่างประเทศมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า รวมไปถึงการเปิดรับนวัตกรรม และการจัดการทางการค้าที่ลดทอนความเสี่ยงลงจากการทุ่มตลาด ทำให้โอกาสในการลงทุนยังมีมากกว่า
สำหรับสินทรัพย์ที่ XSpring AM แนะนำให้ลงทุนในช่วงที่เหลือของปีนี้จะยังคงเน้นไปที่การลงทุนแถบสหรัฐอเมริกาและยุโรป อย่างไรก็ดีเนื่องจากคาดการณ์ผลประกอบการของกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีเริ่มปรับตัวลดลง จึงแนะนำให้เข้าลงทุนในกลุ่มหุ้นที่มีความผันผวนต่ำ (Defensive) หรือกลุ่มที่จะได้ประโยชน์จากนโยบายการย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ (Reshoring) เนื่องจากถือเป็นนโยบายที่เห็นตรงกันของทั้งพรรคเดโมแครต และพรรคริพลับลิกัน (Bipartisan) ส่วนภูมิภาคยุโรปที่เริ่มลดอัตราดอกเบี้ยแล้ว มองว่าเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจเนื่องจากทำให้ต้นทุนทางการเงินบางส่วนในยุโรปลดลง เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะในหมู่ประเทศตอนใต้ของยุโรป เช่น อิตาลี สเปน เป็นต้น
ด้านตลาดหุ้นไทยมองว่าแม้แนวโน้มการปรับประมาณการกำไรต่อหุ้นของไทย (EPS: Earning Per Share) ในภาพรวมจะยังคงลดลง แต่ถือว่าเริ่มนิ่งขึ้น แม้ว่าสภาพบรรยากาศโดยรวมยังมีความกดดันจากบรรยากาศทางการเมืองที่ไม่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตัดสินคดีความทางการเมืองที่เกี่ยวเนื่องกับนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันในวันที่ 14 ส.ค. 2567 ประกอบกับเศรษฐกิจที่ยังอ่อนแอ และเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นอีกครั้งจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน โดยคาดว่า GDP ของไทยทั้งปีนี้จะอยู่ที่ 2.00% จึงแนะนำให้เลือกลงทุนเป็นรายอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) หรือกลุ่มบริการสุขภาพ (Healthcare) ที่กำไรในหมวดอุตสาหกรรมยังคงปรับตัวขึ้น ในภาพรวมประเมินว่าดัชนีจะสามารถยืนอยู่แนวรับระยะสั้นที่ 1,280 จุด ได้ โดยมีแนวรับถัดไปที่ 1,200 – 1,250 จุด และแนวต้านทางเทคนิคที่ 1,430 – 1,470 จุด