‘บมจ.ที.แมน ฟาร์มาซูติคอล’ หรือ TMAN หนึ่งในผู้นำธุรกิจผลิต และ/จัดจำหน่ายเวชภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพชั้นนำของประเทศไทยมากว่า 50 ปี ประกาศราคาเสนอขาย IPO หุ้นละ 16.30 บาท เปิดจองซื้อวันที่ 10-11 และ 15 ต.ค. 67 คาดนำหุ้นเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในเดือนตุลาคมนี้ โชว์ผลดำเนินงานงวด 6 เดือน ม.ค.-มิ.ย. 2567 รายได้จากการขาย 1,105.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้านผู้บริหารมุ่งลงทุนขยายกิจการ เช่น การปรับปรุงประสิทธิภาพและ/หรือขยายกำลังการผลิต ทั้งกลุ่มยาแผนปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร การขยายส่วนงานวิจัยและพัฒนา รวมถึงการขยายธุรกิจในอุตสาหกรรมยาและนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับธุรกิจ และวางเป้าหมายก้าวสู่ผู้นำนวัตกรรมสุขภาพ ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนให้ดียิ่งขึ้น
นายทินพันธุ์ หวั่งหลี รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย เปิดเผยว่า TMAN ได้กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ที่ 16.30 บาทต่อหุ้น เตรียมเปิดให้นักลงทุนจองซื้อวันที่ 10-11 และ 15 ตุลาคมนี้ และคาดว่าจะเข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ภายใต้ชื่อย่อหลักทรัพย์ “TMAN” ภายในเดือนตุลาคมนี้ โดย TMAN จะเสนอขายหุ้นสามัญจำนวนไม่เกิน 102 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.75 บาท คิดเป็นไม่เกินร้อยละ 25.5 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการออกและเสนอขายหุ้นสามัญในครั้งนี้ แบ่งเป็น 1) หุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 71,430,000 หุ้น และ 2) หุ้นสามัญโดยผู้ถือหุ้นเดิมจำนวนไม่เกิน 30,570,000 หุ้น โดยมีวัตถุประสงค์การใช้เงินดังนี้ 1. ใช้เป็นเงินทุนในการขยายกำลังการผลิต และ/หรือปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต หรือการขยายธุรกิจของกลุ่มบริษัทในอุตสาหกรรมยาและนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ และ 2. ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ และเพื่อชำระคืนเงินกู้ยืม
เพื่อแสดงออกถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจของผู้ถือหุ้นและผู้ก่อตั้งบริษัทฯ กลุ่มครอบครัวฐานะโชติพันธ์มีแผนตกลงและยินยอมโดยความสมัครใจที่จะไม่ขาย หรือโอนด้วยวิธีการใดๆ โดยคิดเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 78.0 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นไม่เกินร้อยละ 19.5 ของทุนชำระแล้วภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญ เป็นระยะเวลา 180 วัน นับจากวันที่หุ้นสามัญของบริษัทฯ เริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ (Voluntary Share Lockup) ซึ่งเมื่อรวมกับหุ้นสามัญที่ถูกห้ามขายตามที่กำหนดในข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์ (Regulatory Lockup) โดยคิดเป็นจำนวนทั้งสิ้น 220.0 ล้านหุ้น หรือเท่ากับร้อยละ 55.0 ของทุนชำระแล้วภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญ จะถือเป็นการ Lockup ทั้งหมด จำนวนรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 298.0 ล้านหุ้น ร้อยละ 74.5 ของทุนชำระแล้วภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญ
“การกำหนดราคาหุ้นสามัญที่จะเสนอขายในครั้งนี้ ได้มีการพิจารณาจากการสำรวจความต้องการซื้อหลักทรัพย์ (Book Building) ของนักลงทุนสถาบันและนิติบุคคลที่สามารถเข้าร่วมการสำรวจความต้องการซื้อ (Book Building) ในแต่ละระดับราคา โดยการกำหนดราคาสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และผลการดำเนินงานที่มั่นคงของกลุ่มบริษัท” นายทินพันธุ์ กล่าว
นายประพล ฐานะโชติพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ที.แมน ฟาร์มาซูติคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่มบริษัท วางเป้าหมายก้าวสู่ผู้นำนวัตกรรมสุขภาพ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนให้ดียิ่งขึ้น ผ่านการวางกลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ได้แก่ 1) มุ่งเน้นสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างและได้รับการยอมรับ 2) ขยายฐานลูกค้ากลุ่มลูกค้าโรงพยาบาล ห่วงโซ่ขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมยา 3) พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและมีคุณภาพเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบถ้วน 4) เพิ่มสัดส่วนธุรกิจรับจ้างผลิต (OEM/ODM) 5) เพิ่มสัดส่วนธุรกิจรับจัดจำหน่าย 6) เพิ่มการเติบโตของรายได้จากการขยายการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในต่างประเทศ 7) สรรหาบุคลากรสำคัญที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อรองรับการดำเนินงานในอนาคต 8) ขยายกำลังการผลิตและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต
ล่าสุด บริษัท ที.แมน ฟาร์มาซูติคอล จำกัด (มหาชน) ได้แต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย พร้อมแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์อีก 5 ราย เป็นผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น IPO ของ TMAN ประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด
“การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเปิดโอกาสให้ TMAN เพิ่มขีดความสามารถวิจัยและพัฒนาเวชภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของกลุ่มบริษัทให้รวดเร็วและควบคุมต้นทุนได้ดียิ่งขึ้น และช่วยเพิ่มกำลังการผลิต ตลอดจนยกระดับมาตรฐานการผลิตเวชภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพให้ดียิ่งขึ้น ผ่านการลงทุนเครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีทันสมัย ซึ่งจะเปิดโอกาสให้กลุ่มบริษัทขยายธุรกิจไปยังตลาดใหม่ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้อย่างรวดเร็ว และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันเพื่อเติบโตอย่างยั่งยืน” นายประพล กล่าว
นายตรัส อบสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานปฏิบัติการ TMAN กล่าวว่า ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 กลุ่มบริษัทเป็นเจ้าของแบรนด์เวชภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพรวม 226 แบรนด์ และรับจัดจำหน่ายภายใต้แบรนด์ของบุคคลภายนอก 16 แบรนด์ รวมทั้งสิ้นกว่า 842 ผลิตภัณฑ์ (SKUs) ส่งผลให้งวด 6 เดือนแรกของปี 2567 มีรายได้จากการขาย 1,105.2 ล้านบาท ตามลำดับ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากผลิตภัณฑ์กลุ่มโรคทางเดินหายใจ การขยายตัวของตลาดต่างประเทศและความต้องการใช้ในประเทศ รวมถึงการออกผลิตภัณฑ์ใหม่อาทิ เม็ดอมบรรเทาอาการเจ็บคอแบรนด์ Propoliz และยาอมแก้เจ็บคอแบรนด์ Basina รวมทั้งรายได้จากกลุ่มยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) จากความต้องการกลุ่มลูกค้าร้านขายยาเพิ่มขึ้น และรายได้จากผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น ยาลดไขมันในเลือดแบรนด์ ATTOR ตอกย้ำถึงความแข็งแกร่งในการคิคค้น วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่
นายธนัท พลอยดนัย ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและผลิตภัณฑ์ TMAN กล่าวว่า การจำหน่ายยาในประเทศไทยยังมีศักยภาพเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2566 – 2568 คาดว่ามูลค่าจำหน่ายยาจะเติบโตเฉลี่ยที่ ร้อยละ 5.0 – ร้อยละ 6.0 ต่อปี อ้างอิงจาก Krungsri Research โดยมีปัจจัยจากทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ผู้ป่วยต่างชาติกลับมาใช้บริการในไทยมากขึ้น ตลอดจนการเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประชาชน ทำให้ความต้องการบริโภคยาเพิ่มขึ้น โดยคาดว่ามูลค่าการจำหน่ายยาผ่านโรงพยาบาลจะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 6.3 ต่อปี ส่วนมูลค่าการจำหน่ายผ่านร้านขายยา (OTC) จะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 5.0 ต่อปี นอกจากนี้ จากข้อมูลการคาดการณ์จาก Euromonitor อุตสากรรมสุขภาพยังได้รับปัจจัยบวกจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใส่ใจดูแลสุขภาพ มลภาวะที่เพิ่มขึ้น และการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ของประเทศไทย โดยคาดว่าจะสนับสนุนตลาดวิตามินและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Vitamins and Dietary Supplements) เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 8.4 ต่อปี ในช่วงปี 2564 – 2568 จึงเป็นโอกาสเติบโตของกลุ่มบริษัท
สำหรับแผนการลงทุนรองรับการเติบโตในอนาคต คาดว่าจะใช้งบลงทุนไม่เกิน 777.5 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักร 8 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมโดยประมาณไม่เกิน 298.5 ล้านบาท ประกอบด้วย 1) โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตกลุ่มยาแผนปัจจุบัน โดยลงทุนติดตั้งเครื่องจักร รวมถึงระบบที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตยาแผนปัจจุบันประเภท เม็ด น้ำ และครีม 2) โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดยลงทุนซื้อเครื่องจักรสำหรับการบรรจุผลิตภัณฑ์สมุนไพรลงบรรจุภัณฑ์ 3) โครงการขยายส่วนงานวิจัยและพัฒนา 4) โครงการก่อสร้างคลังสินค้าและอาคารสำนักงานของบริษัท เฮเว่น เฮิร์บ จำกัด 5) โครงการขยายกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยการลงทุนซื้อเครื่องจักรดังกล่าวจะช่วยให้กลุ่มบริษัทสามารถผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารประเภทรูปแบบของแข็ง (Solid Dosage Form) 6) โครงการพัฒนาระบบงานขายบนระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ 7) โครงการซื้อเครื่องมือควบคุมคุณภาพการผลิตกลุ่มยาแผนปัจจุบัน และ 8) โครงการซื้อเครื่องมือควบคุมคุณภาพการผลิตกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและปรับปรุงพื้นที่เพื่อติดตั้งเครื่องจักรสำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแบบน้ำ
ขณะเดียวกัน โครงการลงทุนในอนาคตจำนวน 5 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมโดยประมาณไม่เกิน 479.0 ล้านบาท ได้แก่ 1) โครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ 2) โครงการขยายกำลังการผลิตกลุ่มยาแผนปัจจุบันครั้งที่ 1 โดยลงทุนปรับปรุงอาคารของโรงงานผลิต รวมถึงติดตั้งเครื่องจักร และระบบต่างๆ สำหรับการทดลองผลิตผลิตภัณฑ์ตัวอย่างและผลิตภัณฑ์รูปแบบของแข็ง (Solid Dosage Form) 3) โครงการลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา (Solar Rooftop) 4) โครงการปรับปรุงพื้นที่การผลิตยาแผนปัจจุบัน โดยจะลงทุนปรับปรุงพื้นที่เก็บยา ปรับปรุงอาคารสำหรับการจัดเก็บวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ และปรับปรุงพื้นที่ตามสายการผลิต และ 5) โครงการขยายกำลังการผลิตกลุ่มยาแผนปัจจุบันครั้งที่ 2 โดยโครงการดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility Study)