สถานการณ์หุ้น THG ในปีนี้ถือว่าน่าติดตามอยู่ไม่น้อย เมื่อมีข่าวให้นักลงทุนต้องคิดวิเคราะห์กันอย่างหนักโดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2567 เมื่อพิจารณาจากผลประกอบการในไตรมาสล่าสุด ของ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มีรายได้ประมาณ 2,526 ล้านบาท ขาดทุนประมาณ 352 ล้านบาท
ราคาหุ้น THG ล่าสุด (20 พฤศจิกายน 2567) อยู่ที่ 15.60 บาท ลดลงอย่างต่อเนื่อง ก่อนหน้านี้ช่วงเดือนกันยายน บล.กรุงศรี เคยแนะนำขายหุ้น THG ให้ราคาเป้าหมายที่ 22 บาท ซึ่งมีมุมมองลบต่อผลการดำเนินงานปีนี้จะแย่กว่ากลุ่ม จากผลกระทบการปรับโครงสร้างของ 2 ธุรกิจเพื่อลดผลขาดทุน
มูลเหตุปัจจัยอาจเกิดจากหลายสาเหตุ นับตั้งแต่ ก.ล.ต. ลงดาบ หมอบุญ วนาสิน กรณีเผยแพร่ข้อความอันอาจก่อให้เกิดความสำคัญผิดเกี่ยวกับผลการดำเนินงานหรือข้อมูลอื่นใดของ THG ในลักษณะมีผลกระทบต่อราคาหรือการตัดสินใจลงทุนในหุ้น THG จากการให้ข้อมูลของหมอบุญ ว่าจะลงนามในสัญญาซื้อขายและนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อโควิด ชนิด mRNA ยี่ห้อ Pfizer ก.ล.ต. พิจารณาลงโทษทางแพ่งให้ชำระเงินค่าปรับรวมเป็นเงิน 2,348,834 บาท และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลา 42 เดือน
แม้หมอบุญจะไม่ได้เป็นผู้บริหารของกลุ่มธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป และไม่มีอำนาจในการบริหารแล้ว แต่นักลงทุนยังคงมองหมอบุญเป็นผู้บริหารคนสำคัญ เพราะเป็นผู้ก่อตั้ง ปัจจุบันหมอบุญมีหุ้นใน THG อยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กรที่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 โดยได้ นพ.ไพบูลย์ เอกแสงศรี ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
อีกหนึ่งสาเหตุคือ รายได้ของโรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมืองที่ปรับตัวลดลง 51.9% ซึ่งนอกจากรายได้จากโรงพยาบาลในเครือธนบุรีแล้ว กลุ่ม THG ยังมีรายได้จากร้านขายยา ทีเอส เฮลท์ โครงการ จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ รวมถึง ARYU International Hospital ในเมียนมา ซึ่งธุรกิจในกลุ่มหลังยังมีการเติบโต ทว่ายังต้องเผชิญกับผลจากอัตราแลกเปลี่ยน และเศรษฐกิจ การเมืองภายในประเทศ และการปรับยอดจากสินค้าคงเหลือทำให้ได้รับส่วนแบ่งกำไรจากกิจกรรมร่วมค้าน้อยลง ตามคำบอกเล่าของรักษาการประธานเจ้าหน้าที่การเงิน บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป นายณฐรักษ์ แสนซุ่ม
ประกอบกับมีการปรับโครงสร้างทางการเงินในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา โดยการเสนอขายหุ้นกู้ เพื่อเพิ่มเสถียรภาพทางการเงินและโอกาสในการทำกำไรในอนาคต จากสาเหตุดังกล่าวทำให้ไตรมาส 3 ปี 2567 THG มีผลขาดทุนสำหรับบริษัทใหญ่ จำนวน 352 ล้านบาท อย่างไรก็ตามหากไม่รวมรายการพิเศษ THG จะมีกำไรสุทธิบริษัทใหญ่จำนวน 34 ล้านบาทซึ่งก็ยังเป็นกำไรที่ลดลงร้อยละ 89.0 เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรจำนวน 310 ล้านบาท
ข่าวล่าสุดที่ช็อกธุรกิจการแพทย์ ถูกเปิดประเด็นโดย นายสนธิ ลิ้มทองกุล เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2567 ว่า นพ.บุญ วนาสิน อดีตประธานกรรมการ และผู้ก่อตั้ง บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หนีไปแล้วหลัง ถูกอดีตลูกสะใภ้ร้องทุกข์ ว่าโดนหมอบุญปลอมลายเซ็นต์เพื่อกู้เงินผ่านเอเยนต์ โดยอ้างว่าจะให้ผลตอบแทน 15% ทำให้คนที่มีเงินเย็นอยากนำเงินมาปล่อยกู้ เบื้องต้นคาดว่าจะมีความเสียหายกว่า 8 พันล้านบาท
เสถียรภาพด้านความเชื่อมั่นในกลุ่มธุรกิจ ของธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป ถูกลดทอนจากข่าวคราวความเคลื่อนไหวนับตั้งแต่ช่วงโควิดเป็นต้นมา แน่นอนว่า แม้ทีมผู้บริหารใหม่จะพยายามอย่างหนักที่จะขยายฐานธุรกิจ โดยเฉพาะการลงทุนเพิ่มในธุรกิจให้บริการทางการแพทย์ โดยเฉพาะการเปิดศูนย์ดูแลและรักษาโรคเฉพาะทาง
ทว่า กลับมาข่าวแง่ลบของหมอบุญออกมาในหน้าสื่ออีกครั้ง แม้ว่าจะหมดอำนาจการบริหาร และมีหุ้นถืออยู่เพียงเล็กน้อย แต่ต้องยอมรับว่า ข่าวนี้อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนอย่างไม่อาจเลี่ยง ภาระหนักน่าจะอยู่ที่ทีมผู้บริหารชุดใหม่ ที่ต้องเร่งเครื่องสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมาโดยเร็ว