ข่าวการแลกพอร์ตหุ้นอสังหาฯ ที่ไทยเบฟเวอเรจถืออยู่ทั้งหมดในบริษัทเฟรเซอร์ส พร๊อพเพอร์ตี้ (Frasers Property) ในสิงคโปร์ กับหุ้น F&N ที่ TCC Asset Limited ถืออยู่ การแลกเปลี่ยนดังกล่าวอาจบ่งชี้ได้ว่า ไทยเบฟ มีแผนเตรียมรุกตลาดอาหารและเครื่องดื่มในระดับที่กว้างขึ้นหรือไม่
เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2567 บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) (“ไทยเบฟ” และบริษัทย่อย รวมเรียกว่า “กลุ่ม”) เสนอการแลกหุ้นผ่านบริษัท InterBev Investment Limited (“IBIL”) กับ TCC Assets Limited (“TCCAL”) (“ข้อเสนอการแลกหุ้น”) โดยการแลกหุ้นครั้งนี้จะไม่มีการจ่ายเงินสดจาก IBIL หรือไทยเบฟ
ภายใต้ข้อเสนอการแลกหุ้นนี้ IBIL จะโอนหุ้น Frasers Property Limited (“FPL”) ที่ถืออยู่ทั้งหมด คิดเป็นร้อยละ 28.78 ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วให้กับ TCCAL และ TCCAL จะโอนหุ้น Fraser and Neave Limited (“F&N”) ที่ถืออยู่ คิดเป็นร้อยละ 41.30 ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วให้กับ IBIL
เมื่อข้อเสนอการแลกหุ้นเสร็จสมบูรณ์ ไทยเบฟจะไม่มีการถือครองหุ้น FPL อยู่ และจะมีสัดส่วนการถือหุ้นใน F&N (ถือหุ้นโดยอ้อมผ่าน IBIL) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 28.31 เป็นร้อยละ 69.61 ในทางกลับกัน TCCAL จะมีสัดส่วนการถือหุ้นใน F&N ลดลงจากร้อยละ 58.90 เป็นร้อยละ 17.60 ในขณะที่สัดส่วนการถือหุ้นใน FPL จะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 58.10 เป็นร้อยละ 86.89
สรุปง่ายๆ นี่คือการแลกเปลี่ยนหุ้นที่เกิดขึ้นระหว่างบริษัทในเครือของไทยเบฟเอง คำถามคือ อะไรเป็นเป้าหมายที่แท้จริงของการแลกหุ้นในครั้งนี้
คำตอบน่าจะอยู่ที่ เมื่อการแลกหุ้นเสร็จสมบูรณ์ ไทยเบฟจะไม่มีหุ้นในธุรกิจอสังหาฯ อีกต่อไป ขณะที่หุ้นในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มจะเพิ่มขึ้น เป็น 69.61% นี่ถือเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่เสริมความแข็งแกร่งให้ไทยเบฟ ในฐานะเจ้าตลาดอาหารและเครื่องดื่มในระดับภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และผลิตภัณฑ์นมที่มีทิศทางการเติบโตขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ และไทยเบฟ จะกลายเป็นบริษัทที่มีรายได้สูงถึง 3.35 แสนล้านบาท จาก 4 กลุ่มธุรกิจ คือ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอลล์ ผลิตภัณฑ์นม และธุรกิจอาหาร
โดยนายประภากร ทองเทพไพโรจน์ ผู้บริหารสูงสุดการเงินและการบัญชีกลุ่มของไทยเบฟ กล่าวว่า เป้าหมายของข้อเสนอการแลกหุ้นคือการเสริมความแข็งแกร่งของเราในฐานะผู้นำที่มั่นคงและยั่งยืนของภูมิภาคอาเซียน และตอกย้ำความเป็นผู้นำในธุรกิจเครื่องดื่มและอาหารอย่างแท้จริง ด้วยการถอนการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอลล์ของไทยเบฟ และตราสินค้าเครื่องดื่ม และอาหารของ F&N ในการขยายความสามารถในการเข้าถึงตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเสริมสร้างความแข็งแกร่งผ่านความร่วมมือกับด้านการดำเนินงาน และทำให้ไทยเบพมีความแข็งแกร่งทางการเงินมากขึ้น โดยมีกำไรสุทธ์จากประมาณการณ์ล่วงหน้าเพิ่มขึ้น รวมถึงมีอัตราส่วนหนี้สินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) ที่ดีขึ้น
ความแข็งแกร่งที่จะเกิดขึ้นกับไทยเบฟ น่าจะทำให้ไทยเบฟสยายปีกธุรกิจอาหารและเครื่องเหนือคู่แข่งในอาเซียนได้ เมื่อดูจากรายได้ตั้งแต่ต้นปีถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2567 ไทยเบฟมีรายได้ 2.78 แสนล้านบาท ขณะที่ บ.ซานมิเกล ของฟิลิปปินส์ มีรายได้ 2.47 แสนล้านบาท ขณะที่ อินโดฟู้ด CBP ซึ่งมีเพียงธุรกิจอาหาร ผลิตภัณฑ์นม และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอลล์ ของอินโดนีเซีย มีรายได้ 1.57 แสนล้านบาท มาซานกรุ๊ป ที่กลุ่มบุญรอดเข้าไปถือหุ้น ธุรกิจอาหารในเวียดนาม มีรายได้ 1.14 แสนล้านบาท
การขยับตัวของยักษ์ใหญ่ในธุรกิจไม่ใช่แค่การแสดงศักยภาพทางธุรกิจ ที่จะยืนหยัดในฐานะการเป็นเบอร์หนึ่งเท่านั้น แต่ยังเป็นการแสดงให้นักลงทุนได้เห็น และประเมินราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้น-ลดลงจากปัจจัยแวดล้อม ที่จะมีผลต่อกำไรของหุ้น
จังหวะก้าวทางธุรกิจนับจากนี้ของไทยเบฟ คงมีเรื่องให้เราได้ติดตาม เมื่อเจ้าตลาดขยับตัวล้วนแต่เป็นเรื่องที่น่าจับตามองเสมอ