บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2568 โดยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการพิเศษ) อยู่ที่ 51,625 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 45,955 ล้านบาท อัตราบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) อยู่ที่ 83.3% ใกล้เคียงกับปีก่อน
รายได้ที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากความต้องการเดินทางที่ยังเติบโตต่อเนื่อง และการขยายฝูงบิน พร้อมเพิ่มความถี่เที่ยวบิน ส่งผลให้การผลิตที่นั่ง (ASK) เพิ่มขึ้น 21.1% และการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 20.8% โดยมีจำนวนผู้โดยสารรวม 4.33 ล้านคน เพิ่มขึ้น 11.6%
ค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการพิเศษ) อยู่ที่ 37,964 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.8% จากปีก่อน ตามปริมาณการผลิตและการบริการที่เพิ่มขึ้น แม้ต้นทุนน้ำมันจะลดลงราว 1.7%
กำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการพิเศษ) อยู่ที่ 13,661 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,586 ล้านบาทจากปีก่อน คิดเป็นอัตรากำไร EBIT Margin 26.5%
ต้นทุนทางการเงิน (ตามมาตรฐาน TFRS 9) อยู่ที่ 3,481 ล้านบาท มีรายการพิเศษสุทธิเป็นค่าใช้จ่าย 339 ล้านบาท ซึ่งมาจากการด้อยค่าทางบัญชีและการวัดมูลค่าตราสารอนุพันธ์
อย่างไรก็ดี บริษัทมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ส่งผลให้กำไรสุทธิรวมอยู่ที่ 9,839 ล้านบาท และมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานหลัก (EBITDA) หลังหักค่าเช่าเครื่องบิน (Power by the Hour) อยู่ที่ 12,728 ล้านบาท
ในไตรมาส 1 ปี 2568 บริษัทมีเครื่องบินให้บริการ 78 ลำ เพิ่มขึ้น 5 ลำจากปีก่อน ใช้งานเฉลี่ย 13.7 ชั่วโมงต่อวัน พร้อมแผนรับมอบเครื่องบินรุ่นใหม่ Airbus A321 Neo ที่มีระบบความบันเทิงส่วนตัวและ Wi-Fi ฟรีสำหรับสมาชิก Royal Orchid Plus ภายในปีนี้
บริษัทฯ ยังเริ่มติดตั้งระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (In-flight Connectivity) บน Airbus A330-300 ให้บริการแล้ว 2 ลำ โดยเปิดให้ผู้โดยสารแชทและส่งข้อความฟรี และให้สมาชิก Royal Orchid Plus ใช้อินเทอร์เน็ตเต็มรูปแบบได้ฟรีตั้งแต่ 1 พ.ค. 2568 เป็นต้นไป
ณ วันที่ 31 มีนาคม 2568 บริษัทมีสินทรัพย์รวม 297,753 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.8% จากสิ้นปี 2567 และมีเงินสดรวมทั้งสิ้น 124,847 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9,858 ล้านบาท ขณะที่หนี้สินรวมลดลง 1.9% เหลือ 242,314 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 55,439 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.6% โดยอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) และหนี้สินที่มีดอกเบี้ยต่อทุนอยู่ที่ 4.37 เท่า และ 2.23 เท่า ตามลำดับ ดีขึ้นอย่างมากจากช่วงก่อนเข้าสู่แผนฟื้นฟูในปี 2562
และเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2568 คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูอนุมัติการลดมูลค่าหุ้นจาก 10 บาท เหลือ 1.30 บาท เพื่อชดเชยผลขาดทุนสะสมในบัญชี และจากกำไรในไตรมาสนี้ ทำให้บริษัทมีเงินสะสม 9,555 ล้านบาท ซึ่งอาจนำไปสู่การพิจารณาจ่ายเงินปันผลในอนาคต
ส่วนในวันที่ 8 พฤษภาคม 2568 คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูมีมติเลิกกิจการบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด หลังโอนเครื่องบิน Airbus A320 มาทำการบินภายใต้การบินไทยครบถ้วน ซึ่งเส้นทางที่เคยขาดทุนกลับมาทำกำไรได้ จากการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เครื่องบิน เครือข่ายการบิน และการบริหารต้นทุน
ความคืบหน้าแผนออกจากการฟื้นฟู: หลังประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเมื่อ 18 เมษายน 2568 บริษัทได้แต่งตั้งกรรมการชุดใหม่ และจดทะเบียนเรียบร้อยกับกระทรวงพาณิชย์เมื่อ 22 เมษายน 2568 จึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเมื่อ 28 เมษายน 2568 เพื่อขอยุติแผนฟื้นฟู ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล โดยมีกำหนดไต่สวนในวันที่ 4 มิถุนายน 2568 เวลา 9.00 น. บริษัทจะรายงานความคืบหน้าต่อไป