ปีหลัง ๆ มานี้ปัญหาโลกร้อนกลายเป็นปัญหาร้ายแรงที่ทั่วโลกไม่อาจเมินเฉยได้ และเป็นหน้าที่ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันรับผิดชอบ ไม่ว่าจะรัฐบาล ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และผู้บริโภค จึงเกิดเป็นนโยบายที่บรรดาร้านค้าปลีกหลายร้านลดหรืองดการแจกถุง แต่กระแสตอบรับจากผู้บริโภคในไทยกลับไม่ได้ยินดีกับแนวทางนี้นัก
ร้านสะดวกซื้อที่เป็นประเด็นมากที่สุดในประเด็นนี้คงหนีไม่พ้น 7-11 ที่มีนโยบายลดการใช้ถุงพลาสติกของผู้บริโภค โดยจะไม่ได้แถมถุงพลาสติกในทุกการซื้อเป็นปกติเหมือนก่อน แต่มีเงื่อนไขการแถมถุงคือ ต้องซื้อสินค้ายอดรวม 150 บาทขึ้นไป ซื้อสินค้ารวม 5 ชิ้นขึ้นไป ซื้อสินค้าที่มีน้ำหนักมาก หรือ ซื้ออาหารอุ่นร้อน แต่นอกจากนี้ หากผู้บริโภคต้องการถุงพลาสติก จะสามารถซื้อได้ในราคาถุงละ 1 บาท
จึงเกิดเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้บริโภคจำนวนมากว่า ใช้การรักษ์โลกเป็นข้ออ้างในการขายถุงพลาสติก ผลักภาระให้ผู้บริโภค แบบนี้เอาเปรียบผู้บริโภคมากกว่า
นอกจากนี้ยังได้มีการนำร้านสะดวกซื้อที่เจ้าหนึ่งมาเปรียบเทียบกันในประเด็นดังกล่าว นั่นคือ CJ More ซึ่งแถมถุงพลาสติกให้กับทุกการซื้อของลูกค้า ไม่ว่าจะซื้อมากซื้อน้อยก็ตาม ซึ่งผู้บริโภคจำนวนมากแห่ชื่นชม เพราะมองว่าเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภค
แต่สิ่งที่ 7-11 ทำมันเป็นเรื่องผิดบาป และเอาเปรียบผู้บริโภคจริง ๆ เหรอ
ถ้าหากเราย้อนมองไปที่จุดเริ่มต้นของมาตราการลดการใช้ถุงพลาสติกในไทย เริ่มขึ้นในปี 2563 จากมาตรการ Everyday Say No to Plastic Bags ซึ่งห้างร้านต่าง ๆ ก็พยายามออกนโยบายที่ลดการแจกถุงพลาสติกให้กับผู้บริโภค ไม่ใช่แค่ 7-11 เท่านั้น แต่ยังรวมถึงห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตมากมาย ที่ค่อย ๆ เริ่มจากงดแจกในบางวัน หรือเริ่มกำหนดเงื่อนไขในการแจก และถ้าอยากได้ต้องซื้อ แต่บางที่ก็งดแจกไปเลยโดยที่ไม่มีถุงพลาสติกไว้ขายแล้วด้วยซ้ำ
ซึ่งแนวทางการลดถุงพลาสติกแบบนี้ก็มีในไม่น้อยกว่า 77 ประเทศทั่วโลก เพื่อพยายามรับมือกับปัญหาโลกร้อน อย่างน้อยอีก 32 ประเทศก็เก็บภาษีถุงพลาสติก ส่วนบางประเทศอย่าง เคนยา ถุงพลาสติกก็พลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายไปแล้วด้วยซ้ำ โดยผลลัพธ์ที่ได้ในหลายประเทศคือ ลดการใช้ถุงพลาสติกได้จำนวนมหาศาลจริง
กลับมาดูที่มาตรการลดการแจกถุงของ 7-11 ก็จะเห็นว่าเขาไม่ได้ “งด” เพียงแค่ “ลด” การแจกและยังแจกให้อย่างสมเหตุสมผล เพราะหากลูกค้าซื้อน้อยชิ้น ก็ถือหรือใส่กระเป๋าได้ ไม่ได้ลำบากเลย แต่ถ้าจำนวนสินค้าเยอะหรือเป็นของที่ถือไม่สะดวก จำเป็นต้องใช้จริง ๆ เขาก็ยังคงแถมให้ ผู้บริโภคไม่ได้เสียเปรียบอะไรเลย ส่วนการให้ตัวเลือกในการซื้อถุงราคา 1 บาทได้ ก็นับว่าเป็นการวางเงื่อนไขเพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคให้ถุงน้อยลง แบบบางประเทศในยุโรปและหลายรัฐในอเมริกา นับว่าเป็นแนวทางที่ไม่ได้หักดิบจนเกินไป และช่วยให้คนใช้ถุงได้น้อยลงจริง
กลับกัน ร้านสะดวกซื้ออย่าง CJ More ที่แถมถุงในทุกการซื้อไม่ว่าจะของเล็กของใหญ่ หรือมากน้อยแค่ไหน กำลังได้รับการยกย่องจากผู้บริโภคทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรเพื่อลดการใช้ถุงอย่างเป็นรูปธรรมเลย มีเพียงการโพสต์รณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติกเท่านั้น ทั้งที่ถุงจากร้านก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาขยะที่สงผลกระทบต่อโลกร้อน ซึ่งร้านเองก็ควรมีส่วนในการรับผิดชอบ แม้ว่าจะไม่ได้ผลักภาระในการซื้อถุง แต่กำลังผลักภาระในการลดถุงให้ผู้บริโภคอยู่
ถ้าลองสำรวจคำวิจารณ์ที่ 7-11 ได้รับอย่างละเอียด จะพบว่าผู้บริโภคจำนวนมากผูกทุกการกระทำของ 7-11 เข้ากับคำว่า “นายทุน” ซึ่งเป็นคำที่คนไทยรับรู้ด้วยความรู้สึกในแง่ลบ เชื่อมโยงกับการเอารัดเอาเปรียบ จึงกลายเป็นมองว่าการที่ 7-11 ไม่แจกถุงเป็นการเอารัดเอาเปรียบไปเสียอย่างนั้น รวมถึงผูกประเด็นเรื่องการสแกนจ่ายไม่ได้เข้ามาอีก ทั้งที่จริง ๆ แล้วมันคนละประเด็น และไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลย
กระแสด้านลบที่เกิดขึ้นกับ 7-11 จึงอาจไม่ใช่เรื่องที่ยุติธรรมนัก แต่หากผู้บริโภครู้สึกว่าได้รับความไม่สะดวกจริง ๆ จะวิจารณ์ก็คงไม่ผิด เพียงแต่การเปรียบเทียบและชื่นชม CJ More ที่ไม่ได้ลงมือทำอะไรจริงจัง เพื่อแก้ปัญหาที่ทั่วโลกกำลังต้องเผชิญนี้เลย อาจเป็นตรรกะที่ไม่ถูกต้องนัก และอาจเป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามด้วยซ้ำว่า “แบบนี้ดีกว่าจริง ๆ เหรอ”