สมาร์ตโฟนจอพับนับเป็นเทรนด์ที่มาแรงสำหรับแวดวงสมาร์ตโฟน หลายแบรนด์ได้มุ่งพัฒนาออกมาแข่งขันกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งตัวดังอย่าง Galaxy Fold จาก Samsung หรือจะเป็นตัวท็อปวงการจอพับอย่าง Huawei Mate XT ซึ่งต่างก็ประสบความสำเร็จกับสมาร์ตโฟนจอพับของตัวเอง แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นกับบริษัทผู้บุกเบิกจอพับในวงการสมาร์ตโฟน Royole ที่วันนี้ล้มละลายแล้ว
แม้จะเป็นรายแรกที่นำพานวัตรกรรมจอพับมาสู่อุตสาหกรรมสมาร์ตโฟน ในรุ่น Royale Flexpai ที่วางจำหน่ายเมื่อปี 2018 แต่ดูเหมือนเครดิตนี้จะไม่ช่วยให้ Royole แข่งขันในตลาดได้ทัดเทียมกับรายอื่น ๆ อะไรคือเหตุผลที่ทำให้จอพับจอแรกต้องแตกสลาย และการมาก่อนไม่เท่ากับชนะเสมอไป?
ไม่สามารถเปลี่ยนนวัตกรรมให้กลายเป็นเงิน
ไม่เป็นที่กังขาเลยว่านวัตรกรรมจอ OLED บางพับได้ของ Royole นั้นล้ำหน้าและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสมาร์ตโฟนแค่ไหน แต่สิ่งสำคัญในการทำธุรกิจที่ Royaole ขาดไปคือการเปลี่ยนนวัตกรรมเหล่านั้นให้กลายเป็นเม็ดเงิน พวกเขามีปัญหามาตั้งแต่การควบคุมต้นทุนในการผลิตจำนวนมาก (Mass Production) จนทำให้ไม่สามารถผลิตสินค้าได้มากพอ
แม้รู้ทั้งรู้ว่าขายังไม่แข็ง แต่ Royole ตั้งเป้าจะหยัดยืนด้วยตัวเองให้ได้ จึงไม่ได้ปิดจุดอ่อนตัวเองด้วยการร่วมมือกับโรงงานผู้ผลิตอื่น ๆ มองพวกเขาเป็นคู่แข่งมากกว่าหุ้นส่วน ทำให้พลาดทางลัดในการเติบโต
ในขณะเดียวกัน ช่วงที่ Royole Flexpai ออกมาใหม่ ๆ ในเวลานั้นผู้บริโภคยังไม่คุ้นเคยและมั่นใจในการใช้สมาร์ตโฟนจอพับ ซึ่งเป็นสินค้าหลักของแบรนด์ เปิดตัวมาด้วยราคาที่ค่อนข้างสูง (ราคาไทยประมาณ 40,000 กว่าบาท) ในขณะที่การรองรับของซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ยังไม่มากพอจะใช้กับจอพับ (มาเร็วกว่าชาวบ้านไปหน่อย) แถมตัวดีไซน์ก็ยังทำมาไม่เนี๊ยบ (พับแล้วส่วนข้อพับไม่แนบสนิทกัน) ทำให้ผู้บริโภคยังไม่ยอมรับการมาถึงของสมาร์ตโฟนแบบนี้ และขายได้ทั้งปีไม่ถึง 60,000 เครื่อง
มาก่อนไม่ได้แปลว่าดีกว่า สู้มาช้าแต่มาพร้อม
หลังจากการเปิดตัวจอพับไม่นาน แบรนด์อื่นในตลาดก็นำไปสานต่อในรูปแบบที่ดีกว่าและในจังหวะเวลาที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ ทั้ง Samsung และ Huawei ต่างก็ประสบความสำเร็จกับสมาร์ตโฟนจอพับของตัวเอง เพราะมีเงินทุนเหลือเฟือ เชี่ยวชาญด้านการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ และมีฐานลูกค้าจำนวนมากรองรับ พร้อมให้การตลาดได้ทำหน้าที่ของมัน ต่างกับ Royole ที่เริ่มใหม่หมดด้วยตัวเองและยังไม่สามารถทำให้ผู้บริโภคเปิดใจ
การบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ
อย่างที่บอกว่ามือถือพับได้ของแบรนด์ไม่ทำเงิน แต่ Royole ยั้งไม่ทัน ใส่เงินทุนมหาศาลหมดไปกับการคิดค้นและผลิตสมาร์ตโฟนจอพับ รวมถึงการทำการตลาดไปแล้ว แต่พอตัวสินค้าที่ทุ่มทุนสร้างดันไม่ทำเงินมากเท่าที่หวัง ทำให้บริษัทมีปัญหาเรื่องกระแสเงินสด ไม่มีเงินมากพอมาหล่อเลี้ยงการดำเนินการของบริษัท
ทั้งคนในและพนักงานของ Royole บอกตรงกันว่าการจัดการของบริษัทไม่มีประสิทธิภาพและขาดความยืดหยุ่น ตัว หลิว จื่อหง (Liu Zihong) CEO แม้จะมีปริญญาเอกด้านวิศวกรรม แต่ไม่ได้มีความรู้มากพอด้านการบริหารธุรกิจ และยังไม่มีทีมบริหารมืออาชีพคอยสนับสนุน ทำให้ไม่สามารถรับมือกับปัญหาในการดำเนินธุรกิจที่ซับซ้อนได้ดีนัก
นอกจากนี้ ข้อผิดพลาดครั้งใหญ่ของ Royole คือความพยายามในการเข้าตลาดหุ้นสหรัฐที่ล้มเหลวถึงสองครั้ง ครั้งแรกจากการแพร่ระบาดของโควิด19 อีกครั้งจากปัญหาโครงสร้างองค์กร ทำให้บริษัทไม่สามารถหาเงินทุนเพิ่มจากการขายหุ้นได้ นั่นจึงส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความมั่นใจในบริษัทของสถากบันการลงทุนด้วย สถานการณ์ทางการเงินจึงแย่ลงเรื่อย ๆ เป็นหนี้รวมกว่า 3,100 ล้านหยวน ค้างค่าจ้างพนักงานกว่า 60 ล้านหยวน
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าที่ผ่านมา Royole จะไม่ประสบความสำเร็จเลย เทคโนโลยีจอแสดงผลแบบยืดหยุ่นที่บางที่สุดในโลกก็ยังเป็นเครดิตสำคัญของบริษัท รวมถึงหน้าปัดรถยนต์แบบโค้งรุ่นแรกของโลกที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์แบบยืดหยุ่น และการร่วมมือผลิตหน้าจอบนกระเป๋าหลุยส์วิตตอง (Louis Vuitton) ในปี 2019 ด้วย
ทั้งนี้ เมื่อบริษัทไม่สามารถต่อยอดความสำเร็จเหล่านั้นและแก้ปัญหาค้างคาที่เกิดขึ้นได้ สุดท้ายจึงถูกประกาสให้ล้มละลาย และเตรียมขายทรัพย์สินของบริษัทออกไปเร็ว ๆ นี้
สุดท้ายลองคอมเมนต์บอกกันหน่อยว่าสมาร์ตโฟนจอพับแบรนด์ไหนที่คุณถูกใจมากที่สุด?