หลังจาก GULF เข้าซื้อหุ้น KBANK เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ที่ผ่านมา และส่งผลให้ GULF มีสัดส่วนการถือหุ้นใน KBANK เป็น 5.2% มูลค่าประมาณ 20,000 ล้านบาท และกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 3 คำถามคือ ทำไมกัลฟ์ ที่อยู่ในสายพลังงานมาตั้งแต่เริ่มต้นถึงเข้ามาลงทุนในธุรกิจสายการเงิน
แม้ว่าผู้บริหารของกัลฟ์ จะบอกว่า นี่เป็นการลงทุนปกติ แต่ความจริงและสิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่แบบนั้นเสมอไป
หากลองพิจารณาแนวทางการลงทุนของกัลฟ์ ในธุรกิจต่าง ๆ เช่น ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจสื่อสาร ธุรกิจการเงิน และธุรกิจธนาคาร
และหากซูมดูให้ลึกถึงรายละเอียด สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ กิจการที่กัลฟ์เลือกลงทุนนั้น ล้วนแต่เป็นเบอร์หนึ่งในธุรกิจนั้น ๆ แทบทั้งสิ้น
เริ่มกันที่ การเดินทางจากธุรกิจผู้ผลิตไฟฟ้าไปสู่ธุรกิจโทรคมนาคม ด้วยการเทคโอเวอร์ บมจ. อินทัช โฮลดิ้ง (INTUCH) โดยถือหุ้นทั้งใน บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส และยังได้ขยายไปสู่ธุรกิจดาวเทียมใน บมจ.ไทยคม (THCOM) ที่อยู่ในกลุ่ม INTUCH
ก่อนจะสยายปีกไปยังธุรกิจธนาคาร ผ่าน ADVANC และธุรกิจพลังงานเบอร์หนึ่งของไทยอย่าง OR บมจ. ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก ธนาคารกรุงไทย (KTB) ในการยื่นเข้ารับใบอนุญาตธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) ก่อนจะรุกธุรกิจคริปโทเคอเรนซี่ Binance ในเวลาต่อมา
โครงสร้างธุรกิจของ GULF แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ
1. ธุรกิจพลังงาน ซึ่งครอบคลุม Gas-fired Power Generation พลังงานหมุนเวียน และธุรกิจก๊าซ
2. โครงสร้างพื้นฐาน และสาธารณูปโภคระหว่างพัฒนา 4 โครงการ ได้แก่ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง M6 และ M81, ระบบจำหน่ายไฟฟ้า และระบบทำความเย็นแบบรวมศูนย์ One Bangkok, ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3, ท่าเรือ LNGTerminal มาบตาพุด ระยะที่ 3
3. ธุรกิจดิจิทัล โดยดำเนินการ ศูนย์ข้อมูล, Could และศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล
4. การลงทุนถือหุ้นใน ADVANC และ THCOM
การลงทุนในธุรกิจที่มีความแตกต่างกัน อาจทำให้วิเคราะห์ได้ว่า เพราะเหตุใด กัลฟ์ จึงสนใจและเข้าซื้อหุ้น KBANK
นักวิเคราะห์ประเมินจังหวะก้าวของกัลฟ์ในครั้งนี้ว่า กัลฟ์คงไม่ได้ต้องการปันผลกำไรจากราคาหุ้นเท่านั้น แต่กัลฟ์ น่าจะต้องการความมั่นคงมากกว่า ในกรณีที่สามารถซื้อหุ้นและกลายมาเป็นผู้ถือหุ้นอันดับหนึ่งได้ในอนาคต
คำถามคือ ทำไมต้องธนาคารกสิกรไทย
แม้ว่า ธนาคารสีเขียวจะถูกก่อตั้งจากตระกูลล่ำซำ แต่ปัจจุบันตระกูลล่ำซำถือหุ้นใน KBANK เพียง 10% เท่านั้น และอย่างที่เราได้เห็นจากการลงทุนในธุรกิจอื่น ๆ ก่อนหน้า กัลฟ์ มักจะเลือกเบอร์ต้น ๆ ของธุรกิจในกลุ่มนั้น ๆ เสมอ เช่นเดียวกับ KBANK ที่มีจุดเด่นด้าน Digital Banking และระบบโครงสร้างผู้ถือหุ้นเปิดทางให้สามารถเทกโอเวอร์ได้ง่าย
แตกต่างจากธนาคารกรุงไทย ที่เป็นของรัฐ ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่เป็นไปไม่ได้เลยที่จะเข้าไปซื้อหุ้น ขณะที่ธนาคารกรุงเทพ ที่มีตระกูลโสภณพนิช เป็นผู้ถือหุ้นหลัก คงไม่มีทางที่จะเปิดโอกาสให้คนนอกตระกูลเข้ามาถือหุ้นสำคัญได้ง่าย ๆ
และหากกัลฟ์ ต้องการที่จะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ KBANK สามารถทำได้หรือไม่ ก็ต้องบอกว่ามีความเป็นไปได้ เมื่อพิจารณาจากงบการเงินของกัลฟ์ ณ สิ้นไตรมาส 1/2568 GULF มีสินทรัพย์ 522,478 ล้านบาท เงินสด 53,406 ล้านบาท หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย 338,644 ล้านบาท และ GULF มีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิ ต่อส่วนของผู้ถือหุ้น 1.96 เท่า
และแม้จะมีหนี้สินสูงนับแสนล้าน แต่เงินสดกว่า ห้าหมื่นล้านบาท ซึ่งหากกัลฟ์ ต้องการที่จะต่อยอดพอร์ตหุ้น KBANK ในมือจริง อาจรอผลประกอบการจากธุรกิจอื่น ๆ ในมือแล้วค่อย ๆ ซื้อหุ้น KBANK ต่อ หรือกู้เงินเพิ่มในทีเดียว
แน่นอนว่า นี่เป็นเพียงการคาดการณ์ ซึ่งอาจเป็นไปได้ทั้งการที่กัลฟ์ ค่อย ๆ สะสมหุ้นของ KBANK ไปเรื่อย ๆ ซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ 1 ปี หรือจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลง แต่อีกหนึ่งข้อมูลที่น่าสนใจคือ KBANK ถือหุ้น บริษัท เมืองไทย กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด อยู่ 51% ซึ่งบริษัทนี้ถือหุ้นในบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) 75% และข้อมูลปี 2567 บริษัทประกันชีวิต มีสินทรัพย์ 643,071 ล้านบาท รายได้ 91,848 ล้านบาท กำไร 5,606 ล้านบาท
นั่นหมายความว่า หากกัลฟ์ มีโอกาสที่จะเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นอันดับหนึ่งของ KBANK นั่นหมายถึงการได้สิทธิบริหารบริษัทประกันในพอร์ตด้วยหรือไม่
จังหวะก้าวของกัลฟ์ นับจากนี้น่าติดตามอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะออกหน้าไหนก็ตาม