สัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นที่กลายเป็น Talk of the Town ในแวดวงธุรกิจของไทย คงหนีไม่พ้น “ศึกสายเลือดดุสิตธานี” หลังจากที่ผู้ก่อตั้งโรงแรมดุสิตธานีอย่าง ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย เสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 2563 เหล่าทายาททั้ง 3 ของดุสิตธานีเกิดความขัดแย้งกันเรื่อยมา
ทายาททั้ง 3 ของดุสิตธานี คือ ชนินทร์ โทณวณิก บุตรชายคนโต, สินี เธียรประสิทธิ์ (แต่งงานกับฐิตินันท์ เธียรประสิทธิ์) และสุนงค์ สาลีรัฐวิภาค (แต่งงานกับพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค)
ความขัดแย้งครั้งนี้อาจรุนแรงถึงขั้นที่จะไม่เผาผีกันเลยดีเดียว
ย้อนกลับไปในช่วงเริ่มต้น ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ได้ก่อตั้ง บ. ชนัตถ์และลูก จำกัด เมื่อปี 2553 ด้วยทุนจดทะเบียน และมีทายาททั้งสามร่วมถือหุ้น สำหรับการลงทุนในบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DUSIT ในสัดส่วน 49.74%
และหากดูที่โครงสร้างของผู้ถือหุ้นใน บ. ชนัตถ์และลูก มีตระกูลโทณวณิก ถือหุ้น 26.66% โดยชนินทธ์ถือหุ้น 24.40% และส่วนที่เหลือเป็นของณัฐพร, ศิรินันท์ และ ศิรเดช โทณวณิก ถือหุ้นคนละ 0.42%
ตระกูลเธียรประสิทธิ์ ถือหุ้นรวม 26.65% โดยมี สินี ถือหุ้น 26.57% และที่เหลือเป็นของ ณัฐสิทธิ, พัฒนีพร, ลลิตา และภมรศักดิ์ เธียรประสิทธิ์
และตระกูลสาลีรัฐวิภาค ถือหุ้นรวม 21.68% โดยมี สุนงค์ ถือหุ้น 21.6% ที่เหลือเป็นของ ชลิตา, ภัทรพรรณ, ภัทรพร และภัทร สาลีรัฐวิภาค
สุดท้ายคือ กองมรดกของท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ถือหุ้น 24.99%
ชนินทธ์ โทณวณิก บุตรชายคนโตของทายาทดุสิตธานี เข้ามาบริหารแบบเต็มตัว หลังจากครอบครัวสูญเสียผู้ก่อตั้งไปอย่างไม่มีวันกลับ โดยชนินทธ์ ได้แสดงความสามารถด้านการบริหารด้วยการขยายกิจการไปหลายด้าน รวมถึงการตั้งบริษัทใหม่ และโครงการที่ดูจะเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงคือ โครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ที่มีมูลค่าสูงถึง 46,000 ล้านบาท ท่ามกลางมรสุมที่ธุรกิจโรงแรมในไทยต้องเผชิญ ชนินทธ์ ยังลุยปรับปรุงเปลี่ยนโฉมโรงแรมดุสิตธานี
ทว่า สิ่งที่กลายเป็นชนวนให้ความขัดแย้งระหว่างพี่น้องทายาทดุสิตธานีปะทุขึ้น น่าจะเป็นเพราะ ทายาทคนโตอย่างชนินทธ์ ได้ดึงเอาลูกของตัวเองเข้ามารับผิดชอบโครงการต่างๆ ของตระกูล มากกว่าจะกระจายงานและความรับผิดชอบออกไปยังพี่น้อง หรือหลานๆ
และความอดทนของพี่น้องคงมีขีดจำกัด จนในที่สุด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2568 สองสาวทายาทดุสิตธานี ทำการสำคัญที่นำมาซึ่งจุดแตกหัก คือ การเปลี่ยนตัวกรรมการบริษัท ชนัตถ์และลูก จำกัด จาก ชนินทธ์ โทณวณิก เป็น นายภัทร สาลีรัฐวิภาค และนางสาวลลิตา เธียรประสิทธิ์
และที่ทำให้อำนาจในการบริษัทของ ชนินทธ์ โทณวณิก ถูกควบคุมคือ การเปลี่ยนแปลงรายชื่อกรมการผู้ลงนามผูกพันบริษัท เป็น นางสินี เธียรประสิทธิ์ หรือ นางสาวลลิตา เธียรประสิทธิ์ ลงลายมือชื่อร่วมกับ นางสุนงค์ สาลีรัฐวิภาค หรือนายภัทร สาลีรัฐวิภาค
ทว่า ความขัดแย้งของทายาทดุสิตธานี ไม่ได้จำกัดวงแห่งไฟหายนะอยู่เพียงแต่ธุรกิจในตระกูลเท่านั้น แต่ไฟความขัดแย้งลุกลามไปยังบริษัทในตลาดหุ้น นั่นคือ ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 32/2568 เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2568 บริษัท ชนัตถ์และลูก จำกัด ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DUSIT ไม่อนุมัติงบการเงินสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 แม้ว่าจะผ่านการรับรองจากผู้สอบบัญชีแล้ว และผู้ที่ไม่อนุมัติงบการเงินคือ นางสินี เธียรประสิทธิ์ และนางสุนงค์ สาลีรัฐวิภาค
การไม่อนุมัติงบการเงินของ DUSIT ทำให้ต้องเลื่อนประชุมผู้ถือหุ้นออกไปเป็นวันที่ 28 พฤษภาคม 2568 ซึ่งน่าจะกระทบต่อวาระอื่นๆ ที่รอการอนุมัติจากที่ประชุมด้วยเช่นกัน และนี่จะทำให้ดุสิตธานีไม่สามารถส่งงบการเงินไตรมาส 1/2568 ได้ทันในวันที่ 15 พฤษภาคม 2568
ทั้งนี้การส่งงบการเงินไม่ทันตามกำหนดของ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้ ตลาดหลักทรัพย์ ต้องดำเนินการตามข้อกำหนด โดยจะขึ้นเครื่องหมาย SP ที่ระบุว่ามีการ “ระงับการซื้อขายหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราว” จนกว่าบริษัทจะนำส่งงบการเงินไตรมาส 1/2568 เป็นที่เรียบร้อยเสียก่อน
นางสาวมัณฑนี สุรกาญจน์กุลเลขานุการบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่าหากผู้ถือหุ้นมีมติแต่งตั้งผู้สอบบัญชีสำหรับรอบปีบัญชี 2568 เรียบร้อยแล้ว บริษัทฯจะดำเนินการนำส่งงบการเงินไตรมาส 1/2568 ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเร็วที่สุด และยืนยันว่างบการเงินที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่นั้น เป็นงบการเงินที่จัดทำขึ้นอย่างถูกต้องทุกประการ ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่เรื่องความถูกต้องของงบการเงินหรือธรรมาภิบาลของบริษัทฯ
บริษัทฯ ตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อภาพลักษณ์ของบริษัทฯ และความเชื่อมั่นของนักลงทุน จึงกำลังหาทางออกที่เหมาะสม โดยยึดถือผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นโดยรวมเป็นสำคัญ และเชื่อมั่นว่า สถานการณ์ความเข้าใจที่ไม่ตรงกันนี้จะสิ้นสุดโดยเร็ว เนื่องจากสถานการณ์นี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อบริษัทฯ และผู้ถือหุ้นทุกราย
สำหรับรายชื่อผู้ถือหุ้นบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 บริษัท ชนัตถ์และลูก จำกัด 422,821,310 หุ้น สัดส่วน 49.74 %, อันดับ 2 บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) 145,238,320 หุ้น สัดส่วน 17.09 %, อันดับ 3 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 34,500,000 หุ้น สัดส่วน 4.06 %, อันดับ 4 นายวิชิต ชินวงศ์วรกุล 32,886,000 หุ้น สัดส่วน 3.87 % และอันดับ 5 นางจารุณี ชินวงศ์วรกุล 17,793,300 หุ้น สัดส่วน 2.09 %
ความขัดแย้งของทายาทดุสิตธานี ร้อนถึง ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ที่ต้องเดินสายให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนแทบทุกสำนักว่า บริษัทฯ ไม่ได้มีปัญหาด้านงบการเงินแต่อย่างใด และงบนี้ได้รับการตรวจสอบและอนุมัติจากผู้สอบบัญชี คณะกรรมการตรวจสอบ รวมถึงคณะกรรมการของบริษัทแล้ว และบริษัทพร้อมเปิดเผยข้อมูลต่อนักลงทุนอย่างโปร่งใส สม่ำเสมอ จนได้รับรางวัล Best IR และ Outstanding IR Award ติดต่อกันหลายปี
ผลประกอบการปี 2567 บริษัทฯ มีรายได้รวม 11,204 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 74.8% แยกเป็นสัดส่วนรายได้จากธุรกิจโรงแรม 44.4% พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 34.2% อาหาร 13.1% การศึกษา 3.8% และอื่นๆ 4.5% มี EBITDA 1,650 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 91.4% จากปีก่อนหน้าที่ 862 ล้านบาท แต่ยังมีผลขาดทุนสุทธ์อยู่ที่ -237 ล้านบาท ลดลง 58.4% เมื่อเทียบกับปีก่อนอยู่ที่ -570 ล้านบาท
ทายาทดุสิตธานี คงเห็นแล้วว่า ความขัดแย้งของตระกูลกระทบกับธุรกิจและความมั่นใจของผู้ถือหุ้น รวมถึงเป้าหมาย การลงทุน ท่ามกลางการแข่งขันสูงในทุกธุรกิจที่ดุสิตธานีลงทุน หากปล่อยให้ความขัดแย้งยืดเยื้อคงไม่เป็นผลดีต่อธุรกิจที่บรรพบุรุษบุกเบิกไว้จนสร้างชื่อเสียงระดับประเทศ และเป็นที่รู้จักในระดับโลกเช่นทุกวันนี้