บริษัท เบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ (Berkshire Hathaway) ของวอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) ได้เพิ่มหุ้นของ Domino’s Pizza (NYSE: DPZ) เข้าในพอร์ตการลงทุนในไตรมาสที่ผ่านมา จำนวน 1,277,256 หุ้น 3.7% ของบริษัท มูลค่า 550 ล้านดอลลาร์ (ในช่วงปลายกันยายนที่ผ่านมา) นับเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดในไตรมาส แต่ Domino’s มีดีอย่างไร ทำไมปู่วอร์เรนถึงทุ่มทุนก้อนใหญ่ซื้อไว้ติดพอร์ต
เรื่องราวของ Domino’s
Domino’s Pizza เริ่มต้นมาจากสองพี่น้อง ทอม และ เจมส์ โมนาฮัน (Tom and James Monaghan) ในปี 1960 พวกเขากู้เงิน 900 ดอลลาร์ไปซื้อ Dominick’s Pizza ร้านพิซซ่าเล็ก ๆ ในเมืองอิปซิแลนติ รัฐมิชิแกน ทอมทุ่มเทให้กับร้านอย่างมาก โดยให้ความสำคัญกับการจัดส่งที่สะดวกและรวดเร็วด้วยรถเต่าของเขาเอง แต่เจมส์ไม่อยากออกจากงานประจำมาทำร้าน ภายใน 8 เดือนหลังเปิดร้าน เจมส์จึงแลกหุ้นร้านส่วนของตัวเองกับรถเต่าที่พวกเขาใช้ส่งพิซซ่าในตอนนั้น
ในปี 1965 ทอมก็ทำร้านจนมีเงินมากพอซื้อร้านพิซซ่าเล็ก ๆ อีก 2 ร้าน ทอมอยากให้ทุกร้านใช้ชื่อแบรนด์เดียวกัน แต่เจ้าของเดิมไม่อนุญาตให้เขาใช้ชื่อ Dominick’s พนักงานในร้านจึงได้เสนอให้เปลี่ยนชื่อเป็น “Domino’s” ซึ่งทอมก็เห็นด้วย จึงได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อ Domino’s Pizza อย่างเป็นทางการในปี 1965 และเปิดร้านแฟรนไชส์แรกในปี 1967
จนมาปี 1983 Domino’s ก็เติบโตจนสามารถเปิดสาขาในต่างประเทศสาขาแรกที่วินนิเพก ในแคนาดา และสาขาแรกนอกทวีปอเมริกาที่ควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย ในยุค 90s Domino’s ขยายสาขาไปต่างประเทศได้กว่า 40 ประเทศ มีสาขาต่างประเทศกว่า 1,000 สาขา ก่อนที่ทอม โมนาฮันจะเกษียณไปในปี 1998
ในปี 2004 Domino’s แข็งแรงพอทั้งในแง่ของแบรนด์และเครือข่าย จึงได้เข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กด้วยชื่อ DPZ เริ่มซื้อขายด้วยราคา 6.37 ดอลลาร์
ในปัจจุบัน Domino’s มีหน้าร้านรวม 21,002 สาขา ในกว่า 90 ประเทศทั่วโลก (Q3 2024) กลายเป็นแบรนด์พิซซ่าเครือใหญ่ที่สุดในโลก มากกว่าคู่แข่งอย่าง Pizza Hut และ Papa John’s รวมถึงแบรนด์ที่ดูจะประสบความสำเร็จในไทยมากกว่าอย่าง The Pizza Company ด้วย
ไม่ใช่แค่แบรนด์พิซซ่า แต่เป็นบริษัทขนส่ง(?)
จุดเด่นที่แท้จริงของ Domino’s อาจไม่ใช่เรื่องรสชาติ (เพราะแต่ละคนชอบไม่เหมือนกัน) แต่เป็นประสบการณ์จัดส่งที่ไม่เป็นรองใคร เพราะนี่คือสิ่งที่แบรนด์ให้ความสำคัญมาตั้งแต่สมัยทอมเริ่มเปิดร้านแรก ๆ และยังเป็นธีมหลักในการพัฒนาของแบรนด์
ปี 1973 ทางแบรนด์ได้ออกนโยบายจัดส่งภายใน 30 นาที ซึ่งเป็นจุดขายเด่นของแบรนด์ในตอนนั้น ก่อนจะถูกยกเลิกไปภายหลัง เนื่องจากปัญหาด้านความปลอดภัย
แต่นั่นก็ไม่ได้หยุดการพัฒนาประสบการณ์การจัดส่งของ Domino’s แบรนด์ยังคิดค้นอุปกรณ์และวิธีใหม่ ๆ เพื่อช่วยให้จัดส่งพิซซ่าได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ถุงร้อนที่ช่วยให้พิซซ่าอุ่นตลอดเวลาของการจัดส่ง กล่องพิซซ่าที่ดีกว่า แข็งแรง ป้องกันความชื้นและไม่ทำให้หน้าเละ หรือจะเป็นป้ายติดหลังคารถที่ปัจจุบันถูกนำมาใช้โดยรถแท็กซี่
สิ่งที่ทำให้ Domino’s นำหน้าคู่แข่งไปไกลคือการเปิดตัวระบบสั่งพิซซ่าออนไลน์ทางเว็บไซต์และมือถือในปี 2007 ซึ่งถึงแม้จะไม่ใช่รายแรก แต่ทำออกมาได้ดีมาก และพัฒนาต่อมาเรื่อย ๆ จนเป็นระบบที่สั่งให้จบได้ในการคลิ๊กเพียง 5 ครั้งเท่านั้น
ปี 2015 Domino’s ยังพัฒนา DOMINO’S DXP ยานพาหนะที่ออกแบบมาสำหรับส่งพิซซ่าโดยเฉพาะ ที่สามารถจุพิซซ่าได้ถึง 80 ถาด และมีเตาอุ่นร้อนในรถด้วย
ทั้งยังมีการเปิดตัว Domino’s AnyWare บริการที่ให้สั่งพิซซ่าด้วยอุปกรณ์ใดก็ได้ ช่องทางไหนก็ได้ แม้กระทั่งแค่ส่งอิโมจิรูปพิซซ่า ก็ถือว่าเป็นการสั่งซื้อ
ปี 2020 ในช่วงโควิดระบาด ก็มีระบบ Domino’s Carside Delivery ส่งถึงรถใน 2 นาที ที่ตอบโจทย์ตาม New Normal และมาปี 2022 ก็หันมาใช้รถ EV ส่งพิซซ่ากว่า 800 คันในสหรัฐ
ปี 2023 และอีกครั้งในปีนี้ 2024 ก็ได้มีแคมเปญ Emergency Pizza ที่ส่งพิซซ่าฉุกเฉินให้ลูกค้าประจำแบบฟรี ๆ ในยามคับขันอีกด้วย
ทำไมบัฟเฟตต์เลือก Domino’s
เบิร์กเชียร์และบัฟเฟตต์ คุ้นเคยกับการลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น Dairy Queen, Coca-Cola และ Kraft Heinz ซึ่งแบรนด์พิซซ่ายอดนิยมอย่าง Domino’s ก็นับว่าเป็นธุรกิจที่เข้ากันได้ดีกับพอร์ตอาหารของเขา
หนึ่งในจุดแข็งสำคัญของ Domino’s คือการควบคุมต้นทุนและเพิ่มอัตรากำไรด้วยการให้สิทธิ์แฟรนไชส์ในแบรนด์ของตน และเก็บค่าธรรมเนียมและค่าลิขสิทธิ์ นอกจากนี้ บริษัทยังเรียกเก็บค่าบริการจากแฟรนไชส์สำหรับอาหาร อุปกรณ์ และวัสดุต่างๆ รวมถึงหักเปอร์เซ็นต์จากยอดขายเพื่อนำไปใช้ในแคมเปญโฆษณาด้วย ในด้านการเงินจึงนับว่าค่อนข้างล่อตาล่อใจเลย
ที่สำคัญ ในฐานะนักลงทุนเน้นคุณค่า (Value Investors) บัฟเฟตต์และทีมของเขาเชี่ยวชาญในด้านการมองหาหุ้นที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง หุ้นของ Domino’s พุ่งขึ้นมากกว่า 40 เท่านับตั้งแต่ต้นปี 2010 และซื้อขายที่ราคาสูงกว่า 530 ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน ซึ่งใกล้เคียงกับจุดสูงสุดตลอดกาลที่ประมาณ 560 ดอลลาร์ พอราคาปรับตัวลงมา 400 ดอลลาร์ในเดือนกรกฎาคมก็เป็นจังหวะที่ดีให้เบิร์กเชียร์เข้าซื้อในช่วงราคาที่เหมาะสม แม้ว่าพิจารณาจาก P/E แล้วจะไม่ได้ถูกก็ตาม
ทั้งนี้ก็สะท้อนถึงแนวทางการลงทุนที่ชัดเจนของเบิร์กเชียร์ว่าเน้นไปที่การลงทุนในหุ้นบริษัทที่เรียบง่ายและมั่นคง ซึ่งมีราคาไม่สูงนัก มากกว่าการหวังเติบโตจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่แม้จะเติบโตได้ดี แต่มีราคาแพงและผันผวนมาก
สุดท้ายนี้ลองคอมเมนต์บอกกันหน่อยว่าคุณชอบพิซซ่าแบรนด์ไหนมากที่สุด