ตั้งแต่เมื่อปีก่อน มี่เสวี่ย (Mixue) ไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟจากจีนเข้ามาบุกตลาดของหวานไทยและขยายสาขากว่า 200 สาขาแล้ว และในปีนี้ก็เพิ่งมี วีดริ๊งก์ (WeDrink) จากจีนตามมาอีกราย สะท้อนภาพการหลั่งไหลเข้ามาของธุรกิจจีนมากมายในช่วง 2-3 ปีมานี้ และสร้างความกังวลใจให้ชาวไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย เพราะธุรกิจจีนเหล่านี้มีความโดดเด่นมากในด้านราคา ในขณะที่คุณภาพไม่ห่างกัน
ท่ามกลางกระแสธุรกิจจีนในไทย เมื่อเร็ว ๆ นี้ เพิ่งมีการเปิดตัวแฟรนไชส์ไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟน้องใหม่ในไทยอย่าง หมิงคิ (Minkki) ที่เป็นแบรนด์จากบริษัทสัญชาติไทย เข้ามาแข่งขันตลาดเดียวกันด้วยราคาพอ ๆ กัน ท้าชิงส่วนแบ่งกับมี่เสวี่ยและวีดริ๊งก์ ทำให้ชาวไทยจำนวนหนึ่งดีใจที่มีธุรกิจไทยไปถ่วงดุลส่วนแบ่งตลาดสักที
แต่เฮกันได้ไม่นานก็ต้องหุบยิ้ม เมื่อมีคนตาดีไปค้นในฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และพบว่า บริษัท หมิงคิ (ประเทศไทย) จำกัด มีสัดส่วนผู้ถือหุ้นสัญชาติไทย 510,000 บาท คิดเป็น 51% และสัญชาติจีน 490,000 บาท คิดเป็น 49% จากทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวถือเป็นสัดส่วนสูงสุดที่ชาวต่างชาติสามารถถือในบริษัทสัญชาติไทยได้ หากชาวต่างชาติลงทุนเกิน 49% จะถือเป็นนิติบุคคลต่างด้าว ซึ่งจะทำให้มีข้อจำกัด รวมถึงต้องดำเนินการหลายอย่างเพิ่มเติม
นั่นทำให้หมิงคิถูกตั้งข้อสังเกตว่าผู้ถือหุ้นคนไทยอาจเป็นเพียงแค่นอร์มินีของทุนจีนก็เป็นได้ พร้อมทั้งชื่อแบรนด์ที่มีคำว่า “หมิง” ยังเป็นภาษาจีนอีก
หลังจากเกิดเป็นประเด็นไม่นาน คุณหมุงหมิง นิจชิตา วัฒนเสถียรสินธุ์ เจ้าของแบรนด์ก็ได้ออกมาเผยว่า ชื่อแบรนด์มาจากชื่อเล่นของตัวเอง และยืนยันว่า “แบรนด์นี้มีต้นกำเนิดในไทยตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566…หมิงเป็นกรรมการบริษัทและเป็นผู้มีอำนาจลงนามเพียงคนเดียว เป็นคนไทย100% ส่วนผู้ถือหุ้นเราเป็นพาร์ทเนอร์ เป็นเพื่อนกัน จะเป็นสัญชาติใดในโลกก็มาถือได้ ย้ำว่าไม่ใช่นอร์มินีของใครแน่นอน ยืนยันข้อมูลว่าเป็นความจริงค่ะ”
ถึงอย่างนั้น สิ่งที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อนคือ ธุรกิจจีนบุกตลาดไอศกรีมไทยมานานแล้วตั้งแต่ก่อนยุคโควิด ภายใต้ฉากหน้าที่ขึ้นชื่อว่า “แบรนด์ไทย” นั่นคอไอศกรีม Top 3 ของไทย ครีโม (Cremo) ที่ผลิตและจัดจำหน่ายโดยบริษัท จอมธนา จำกัด ตั้งแต่ปี 2521 ได้ทำข้อตกลงขายหุ้น 96.46% ให้กับ อีลี่กรุ๊ป (Inner Mongolia Yili Industrial Group) จากจีน มูลค่ากว่า 80 ล้านดอลลาร์ เมื่อปี 2561 และสัดส่วนของผู้ถือหุ้นไทยก็ค่อย ๆ น้อยลงตั้งแต่ตอนนั้น จนทุกวันนี้มีสัดส่วนผู้ถือหุ้นไทยเพียงแค่ 0.37% ในขณะที่ผู้ถือหุ้นจีนมีสัดส่วนถึง 99.63% รายชื่อกรรมการทั้งสองคน เป็นชาวจีนทั้งหมด
การควบรวมครั้งนั้น ช่วยให้ทั้งครีโมและอีลี่เติบโตในระดับโลก แต่ในขณะเดียวกันก็สะท้อนถึงอิทธิพลของธุรกิจจีนที่เข้ามาควบคุมธุรกิจไทยไว้ได้ในทุกระดับ และนั่นก็อาจไม่ได้มีแค่ข้อดี เพราะเมื่อทุนส่วนใหญ่มาจากจีน ประโยชน์ส่วนใหญ่ก็คืนกลับไปที่จีนเช่นกัน…
………………………..
[ประสบการณ์ตรงจากผู้เขียน]
*โปรดใช้วิจารณญาณ
สุดท้ายนี้ ขอปิดด้วยมีอินไซด์เล็ก ๆ เผยการ(เกือบ)ร่วมงานกับอีลี่กรุ๊ปของผู้เขียนเอง มีชาวจีนติดต่อมาขอให้พากย์เสียงภาษาไทยสำหรับแคมเปญโฆษณาผลิตภัณฑ์ของครีโม และผลิตภัณฑ์อื่นอีกสองแบรนด์ในเครือของอีลี่ โดยเสนอค่าตอบแทนแค่หลักร้อยเท่านั้น อ้างว่าได้รับงบจากอีลี่มาเท่านี้ ทั้งที่อีลี่เป็นเครือผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากนมวัวที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย มีเงินจ่ายสนับสนุนทีมชาติในฟุตบอลยูโร 2024 รวมทั้งจ้างดาราไทยชื่อดังเป็นพรีเซนเตอร์ของครีโมได้ แต่กลับจ่ายเงินหลักร้อยให้กับคนทำงานโปรดักชันไทย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น นี่เป็นการจ้างงานต่อกันอีกที อาจเกิดการหักหัวคิวที่ไม่เป็นธรรมระหว่างทางได้ ซึ่งทางผู้เขียนได้ติดต่อแจ้งทางแบรนด์ให้ตรวจสอบแล้ว หลังจากรับเรื่องก็เงียบหายไปเลยครับ….
อย่างไรก็ตาม เคสนี้สะท้อนปัญหาการกดราคาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในแทบทุกธุรกิจจีน ซึ่งไม่สำคัญว่าบริษัทนั้นจะเป็นทุนใหญ่ระดับไหน แต่เท่าที่ผู้เขียนพบเจอมาส่วนใหญ่เป็นแบบนี้เยอะมาก หากใครมีประสบการณ์การร่วมงานกับธุรกิจทุนจีนแบบไหนอยากแบ่งปัน ก็ลองเข้ามาแลกเปลี่ยนกันได้ในคอมเมนต์เลยครับ