ราคาทองคำยังคงแข็งแกร่งแม้ล่าสุดพุ่งทำสถิติใหม่ตลอดการณ์ครั้งใหม่และเกือบทะลุเป้าหมายเดิมที่ให้ไว้ที่ 2,300 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ เป้าหมายใหม่ปี 2567 ที่ 2,350 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ โดยมีปัจจัยบวก 4 ปัจจัย คือ 1. วงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟดสิ้นสุดลงแล้วและเตรียมปรับลดลง 2. สัญญาณทางเทคนิคแข็งแกร่งทะลุทุกแนวต้าน 3. ความต้องการทองคำจากจีนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญกองทุน ETFs จีนซื้อสะสม 3 เดือนต่อเนื่อง 4. แรงซื้อจากธนาคารกลางทั่วโลกยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ราคาทองคำในตลาดโลกได้ปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงทำจุดสูงสุดตลอดกาลอีกครั้งที่ระดับ 2,288 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ ในช่วงเช้า ณ วันที่ 3 เม.ย. 2567 ส่งผลให้นับจากต้นปีที่เปิดตลาดระดับ 2,062 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จนถึงระดับ All Time High ราคาทองคำปรับขึ้นมาแล้วถึง 226 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ หรือ +10.93% ส่วนราคาทองคำแท่งในประเทศ 96.5% เปิดตลาดเมื่อต้นปีที่ 33,550 บาทต่อบาททองคำ และได้ปรับตัวขึ้นมาถึงบริเวณ 39,600 บาทต่อบาททองคำ ส่วนทองคำรูปพรรณล่าสุดราคาได้ทะลุ 40,000 บาท ความร้อนแรงของราคาทองคำในครั้งนี้ แม้ในระยะสั้นอาจเริ่มเห็นแรงขายทำกำไร แต่เมื่อราคาย่อตัวจะเป็นโอกาสเข้าซื้อใหม่ ในระยะยาวนั้นค่อนข้างมีความแข็งแกร่ง ซึ่งปัจจัยสนับสนุนหลักๆมาจาก 4 ปัจจัยดังนี้
1. การคาดการณ์ที่ว่าวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สิ้นสุดลงแล้ว และเตรียมปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ พร้อมคาดการณ์ตลาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยถึง 3 ครั้งในปีนี้ ซึ่งเป็นส่งผลกดดันดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐให้ร่วงลง จนเป็นปัจจัยหนุนราคาทองคำให้ทะยานขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. เป็นต้นมา และจากการประชุมเฟดรอบล่าสุดในเดือนมี.ค. Dot Plot ระบุว่าเจ้าหน้าที่เฟดคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ 3 ครั้งในปีนี้เช่นกัน
2. โมเมนตัมทางเทคนิค หลังจากราคาทะลุเป้าหมายของปีนี้
ราคาทะลุแนวสำคัญทางเทคนิคหลายประการ ทั้งนี้ ในวันที่ 1 มี.ค. 2567 ราคาทองคำได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ ส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวเป็นทิศทางขาขึ้น สามารถเบรกเส้นค่าเฉลี่ย และยังเคลื่อนไหวอยู่เหนือเส้นค่าเฉลี่ยได้ทุกระยะ พร้อมทั้งทะลุจุดสูงสุดเดิมของราคาทองคำอย่างต่อเนื่อง เมื่อย่อตัวลงก็มีการยกระดับต่ำสุดขึ้นมาได้ ซึ่งทำให้ภาพรวมราคาทองคำเปลี่ยนจากแกว่งตัว (Sideway) เป็นปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง (Bullish)
3. ความต้องการทองคำที่แข็งแกร่งจากจีน
ราคาทองคำในจีนซื้อขายในระดับราคาที่สูงกว่าราคาทองคำในตลาดโลก (Premium) เป็นหนึ่งในตัวเลขที่สะท้อนปริมาณความต้องการทองคำในจีนได้เป็นอย่างดีในเวลาที่ปริมาณความต้องการทองคำในจีนที่เพิ่มสูงขึ้น แรงซื้อทองคำจากชาวจีนจะเป็นปัจจัยผลักดันราคาทองคำในประเทศจีนให้ปรับตัวสูงขึ้นตาม นอกจากนี้ ยังเกิดมีการไหลเข้าของเงินทุนสู่กองทุนซื้อขายแลกเปลี่ยนทองคำของจีน (ETFs) เป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน โดยมีกระแสเงินทุนไหลเข้า 778 ล้านหยวน (109 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และผลักดันสินทรัพย์ภายใต้การจัดการกองทุน (AUM) พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 3.1 หมื่นล้านหยวน (4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)
4. แรงซื้อทองคำจากธนาคารกลางทั่วโลกที่ยังคงดำเนินต่อไปในปี 2567
ธนาคารกลางทั่วโลกเดินหน้าถือครองทองคำเพิ่มอีก 39 ตันในเดือนม.ค. นำโดยตุรกีและจีนเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ โดยเพิ่มการถือครองทองคำ 12 ตัน และ 10 ตัน ตามลำดับ ส่งผลให้ธนาคารกลางทั่วโลกซื้อสุทธิทองคำเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน ดังนั้นแล้ว แรงซื้อจากธนาคารกลางจึงจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ ขณะที่ World Gold Council คาดว่าปี 2024 จะเป็นปีที่แข็งแกร่งอีกปีหนึ่งของความต้องการทองคำจากธนาคารกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในตลาดเกิดใหม่