#6 Degrees of Separation – เพราะความเป็นไปได้เชื่อมหากันไม่เกินหกทอด
•
ในบรรดายานพาหนะต่างๆ ในโลก ตลาดมันมีการพลิกกันไปมา บริษัทที่เคยเป็นเจ้าตลาดก็อาจตกเป็นที่สอง แต่ในภาพรวม “การแข่งขัน” ในตลาดมันก็มีสูงมาก
ยกเว้นตลาดเครื่องบินเชิงพาณิชย์ ที่ทุกวันนี้ส่วนแบ่งตลาดเกิน 90% เป็นของแค่ 2 บริษัท คือ Boeing กับ Airbus
•
สงสัยมั้ยครับว่าทำไมมันเป็นแบบนี้? ถ้าสงสัย คุณมาถูกที่แล้ว เพราะเราจะให้คำตอบ
คือเราคงจะไม่เล่าย้อนไปอดีตอันไกลโพ้นว่า Boeing สร้างธุรกิจจากการสร้างเครื่องบินสมัยสงครามโลกให้กองทัพอเมริกายังไง หรือ Airbus นั้นเกิดจากการร่วมทุนของชาติมหาอำนาจยุโรปยังไง แต่จะตัดมาปัจจุบันเลย ซึ่งเป็นภาวะที่ Boeing และ Airbus แทบจะเป็นเครื่องบินเพียง 2 ยี่ห้อที่สายการบินใหญ่ๆ ทั่วโลกเลือกใช้
เออ ทำไมกัน?
•
คำตอบมีหลายระดับ ระดับพื้นฐานเลยคือเคสของอุตสาหกรรมประกอบเครื่องบินพาณิชย์มันมีสิ่งที่ทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “อุปสรรคในการเข้าตลาด” ระดับคลาสสิค
•
คือมันมีตั้งแต่เรื่องใบอนุญาตประกอบธุรกิจที่ต้องมีเพราะธุรกิจนี้นั้นต้องมี “มาตรฐานความปลอดภัย” สูงมาก แต่มีใบอนุญาตก็ไม่พอต้องมีทุนวิจัยและพัฒนามหาศาล (เพราะเครื่องบินรุ่นนึงต้องพัฒนาเป็นสิบปีกว่าจะออกมา) ซึ่งเงินวิจัยอย่างเดียวก็ไม่พอต้องมีเงิน “ล็อบบี้” รัฐบาลด้วย และสุดท้ายก็คือต้องมีทุนการผลิตมากมายมหาศาลเพราะจะประกอบเครื่องบินลำๆ หนึ่งต้นทุนคือหลักพันล้านบาท
•
พูดง่ายๆ มันไม่ใช่ใครนึกจะลุกมาทำเครื่องบินขายก็จะทำได้ มันมีอุปสรรคทุกระดับ และก็ไม่ต้องนึกถึง Startup ใหม่ๆ จะมาแข่งในตลาดเลย มันเป็นไปไม่ได้
•
แต่ถามว่ามีมั้ย คำตอบคือมี แต่มีในระดับ “ภูมิภาค” อะไรแบบนี้ ซึ่งทั่วๆ ไปคือกำลังการผลิตจะต่ำกว่ามากและสุดท้ายคือจะโดน Boeing และ Airbus ซื้อกิจการไป
•
ซึ่งที่โหดกว่านั้น เอาจริงๆ ทั้ง Boeing และ Airbus นั้นก็ไม่ได้ผลิตแค่พวกเครื่องบินพาณิชย์ให้สายการบินเท่านั้น แต่พวกนี้ผลิตเครื่องบินรบด้วย โดยอย่างในปี 2021 ช่วงโควิดที่อุตสาหกรรมการบินซบเซา บริษัทอย่าง Boeing ก็กระหน่ำผลิตเครื่องบินรบแบบครึ่งหนึ่งของรายได้บริษัทมาจากเครื่องบินรบ ส่วน Airbus นั้นก็มีรายได้ประมาณ 20% จากเครื่องบินรบ หรือพูดง่ายๆ สองบริษัทนี้นั้นไม่ได้แค่ร่วมกันครองตลาดเครื่องบินพาณิชย์ แต่มันไปกินตลาดเครื่องบินรบด้วย
•
และในแง่นี้ มันก็เลยนำมาสู่อีกประเด็นที่เกี่ยวพันว่าทำไม “รัฐ” ถึงปล่อยให้เกิดการ “ผูกขาด” ตลาดเครื่องบินได้ ทั้งๆ ที่ลักษณะตลาดมันผูกขาดสุดๆ กีดกันการแข่งขันมากๆ และเอาเงินระดมให้รัฐบาลออกนโยบายเข้าข้างตัวเองอย่างบ้าคลั่งดังที่ว่ามา
•
คำตอบเร็วๆ คือ เพราะอุตสาหกรรมพวกนี้มันคือเป็น “เทคโนโลยีสงคราม” ครับ หรือเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับ “ความมั่นคง” และวิธีคิดเรื่องการกำกับดูแลมันจะต่างจากอุตสาหกรรมอื่นๆ เลย
•
พูดง่ายๆ คือ Boeing นี่ไม่ต้องคิดจะว่าจะมีใครมาสู้ในอเมริกาเลย มันแทบจะเป็นไปไม่ได้ รัฐบาลอเมริกาไม่ได้ปล่อยให้ใครก็ดีมีเทคโนโลยีระดับอาวุธสงครามในมือ และนี่ก็เป็นเหตุผลเดียวกับที่ทำไมรัฐบาลบราซิลนั้นไม่ยอมให้ Boeing ไปเทคโอเวอร์บริษัทผลิตเครื่องบินสัญชาติบราซิลอย่าง Embraer เพราะ Embraer นั้นมีหน้าที่ผลิตเครื่องบินรบให้กองทัพบราซิลด้วย
•
คือจริงๆ มาดู มันก็จะเห็นเลยว่าบริษัทไหนที่มีเทคโนโลยีพัฒนาเครื่องบินพาณิชย์ในมือ มันก็จะมีเทคโนโลยีพัฒนาเครื่องบินรบด้วย และจริงๆ ในทางกลับกัน มันก็หมายความว่าบริษัทไหนที่มีเทคโนโลยีพัฒนาเครื่องบินรบก็จะมีเทคโนโลยีพัฒนาเครื่องบินพาณิชย์ด้วย หรือพูดง่ายๆ ก็คือ “พื้นฐาน” มันเหมือนกัน
•
ก็ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้เองมันเลยทำให้ชาติที่เป็นปฏิปักษ์กับอเมริกาและยุโรปอย่างจีนและรัสเซียนั้นก็มีอุตสาหกรรมเพื่อผลิตเครื่องบินรบใช้เองมานานแล้ว และชาติพวกนี้ก็พยายามจะต่อยอดไปผลิตเครื่องบินเชิงพาณิชย์มาเรื่อยๆ
•
โดยของจีนนี่ล่าสุดปลายเดือนพฤษภาคม 2023 เครื่องบินของบริษัท COMAC ก็เปิดตัวไฟลท์แรกกับสายการบิน China Eastern Airline โดยบินจากเซี่ยงไฮ้ไปปักกิ่งโดยสวัสดิภาพ ซึ่งแม้ว่าจะนี่จะเป็นการเปิดตัว “เครื่องบินจีน” แล้ว เค้าก็คาดว่าใน 10 ปีนี้การผลิตเครื่องบินของจีนก็ยังไม่มีทางจะไปเทียบชั้นพวก Boeing กับ Airbus
•
ส่วนของรัสเซีย เค้าก็มองว่าการคว่ำบาตรจะบีบให้รัสเซียต้องผลิตเครื่องบินพาณิชย์ให้เอง เพราะซื้อจาก Boeing กับ Airbus ไม่ได้ ดังนั้นความหวังเลยอยู่ที่บริษัทผลิตเครื่องบนรบที่อยู่มาตั้งแต่ยุคสหภาพโซเวียตอย่าง Irkut ซึ่งในความเป็นจริงก็มีการออกแบบและเปิดตัวเครื่องบินมาแล้ว แต่การจะเอามาใช้จริงล่าสุดก็เลื่อนไปปี 2025 แล้ว
•
กรณีของจีนและรัสเซียน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีว่า ขนาดรัฐที่มีอุตสาหกรรมเครื่องบินรบของตัวเองมายาวนาน มันยังต่อยอดไปผลิตเครื่องบินพาณิชย์ไม่ได้ง่ายๆ เลย ดังนั้นอุตสาหกรรมนี้่โหดจริงๆ และโลกก็น่าจะอยู่กับ “การผูกขาดคู่” ของ Boeing กับ Airbus ไปอีกยาวนาน
เขียนโดย : อนาธิป จักรกลานุวัตร
•
สามารถติดตามความเคลื่อนไหว connect the dots ได้ที่
Facebook : www.facebook.com/th.connectthedots
YouTube : www.youtube.com/@th.connectthedots
และทาง Spotify Podcast : connectthedotsth
#Connectthedots
•
ที่มา
https://www.cnbc.com/…/why-the-airbus-boeing-companies…
https://www.investopedia.com/…/what-companies-are-major…
https://www.aljazeera.com/…/chinas-first-home-built…
https://simpleflying.com/why-airbus-and-boeing-have-no…/