หลังจากกรณี ดิไอคอน กรุ๊ป ธุรกิจขายออนไลน์ที่กำลังถูกสื่อและสังคมตีแผ่ในหลายแง่มุม ทั้งในด้านความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้เข้าร่วมเครือข่าย หรือแม้แต่แม่ทีมระดับสูง สูญเสียเงินเป็นจำนวนมาก ขณะที่ไม่สามารถขายสินค้าได้ จนสินค้าเหลือค้างสต๊อก กระทั่งสินค้าหมดอายุในที่สุด
แน่นอนว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นครั้งนี้เบื้องต้นยังไม่สามารถประเมินค่าออกมาเป็นตัวเลขได้อย่างชัดเจน ขณะที่ “บอสพอล หรือ วรัตน์พล วรัทย์วรกุล” ซีอีโอ และผู้ก่อตั้ง อาณาจักรธุรกิจออนไลน์แห่งนี้ เพิ่งถูกจับกุม พร้อมกับบอสอีก 17ราย หลังมีผู้เสียหายเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษเป็นจำนวนมาก
Connect The Dots อยากชวนถอดบทเรียน ในมิติของ พรบ. ขายตรงและตลาดแบบตรง ข้อกำหนดต่าง ๆ ที่ควรรู้ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง สคบ. ที่เคยพบข้อพิรุธ และเรื่องเงียบลงหลังส่งเรื่องให้ 3 หน่วยงานตรวจสอบ
พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ประกอบด้วยกันหลายหมวด โดยในหมวดและมาตราที่สำคัญ ที่ประชาชนควรศึกษา ทำความเข้าใจให้ถี่ถ้วนคือ
หมวด 2 การประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง ม.19 ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงดำเนินกิจการในลักษณะที่เป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจขายตรงหรือในการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง โดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าวซึ่งจำนวนจากผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น
มาตรา 21 ที่เกี่ยวกับการจ่ายผลตอบแทน ถูกกำหนดไว้ว่า จะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
- ผลตอบแทนจะต้องไม่เกิดจากการรับสมัครบุคคลหรือแนะนำผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทนขายตรงเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจขายตรง
- ผลตอบแทนจะต้องมาจากการขายสินค้าหรือบริการแก่ผู้บริโภค หรือซื้อเพื่อบริโภคเอง
- ไม่บังคับให้ผู้จำหน่ายอิสระซื้อสินค้า
- ต้องไม่ชักจูงให้ผู้จำหน่ายอิสระซื้อสินค้าในปริมาณมากเกินไปอย่างไม่สมเหตุผล
- ต้องแสดงวิธีการคิดคำนวณการจ่ายผลตอบแทนที่ตรงกับความเป็นจริง หรือเป็นไปได้จริง
- หรือลักษณะอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด
นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดอีกหนึ่งมาตรา คือมาตรา 22 ที่กำหนดว่า ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการสมัครเข้าเป็นสมาชิก ค่าฝึกอบรม ค่าวัสดุอุปกรณ์ส่งเสริมการขาย หรือค่าธรรมเนียม จากผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทน
ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดนตรงกับธุรกิจขายตรง คือ สคบ. หรือ สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งมีกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง คอยกำกับดูแลโดยเฉพาะตั้งแต่การขอใบอนุญาตดำเนินธุรกิจ รวมถึงตรวจสอบข้อสงสัย หรือข้อพิรุธบางอย่าง
และแม้ว่า สคบ. จะเคยพบพิรุธการทำธุรกิจของ ดิไอคอน กรุ๊ป ตั้งแต่ปี 2561 และเคยส่งหนังสือถึง 3 หน่วยงานให้ตรวจสอบ ทั้ง 1.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ให้พิจารณาว่าเข้าข่ายธุรกิจแชร์ลูกโซ่หรือไม่ เนื่องจาก กระทรวงการคลังเป็นผู้ดูแลกฎหมายโดยตรง 2. ผู้บัญชีการตำรวจแห่งชาติ ผ่านทาง พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. เพื่อให้ดำเนินการเกี่ยวกับบริษัทดังกล่าว และ 3. ส่งถึง เลขาธิการอาหารและยา (อย.) เกี่ยวกับเรื่องการโฆษณาสินค้า
ทว่า เรื่องกลับเงียบหายไปตั้งแต่นั้น จนเวลาล่วงเลยมาถึงปัจจุบัน กระทั่ง ดิไอคอน กรุ๊ป มีรายได้ 4-5 พันล้าน และก่อความเสียหายให้แก่คนหมู่มาก
นอกจากการตรวจสอบกับ สคบ. แล้ว อีกหนึ่งช่องทางการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของบริษัทขายตรงคือ สมาคมการขายตรงไทย ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจขายตรงในไทยที่ดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จะสามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกสามัญ และสมาชิกวิสามัญของสมาคม
อย่างไรก็ดี ธุรกิจขายตรงในประเทศไทย ปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 60,000 ล้านบาท ต้องบอกว่าสถานการณ์ของผู้ประกอบการธุรกิจขายตรงในไทย มีผลประกอบการลดลงด้านยอดขาย ส่งผลให้ภาพรวมของธุรกิจขายตรงซบเซา เมื่อเทียบกับมูลค่าตลาดรวมในปี 2565 อยู่ที่ 63,800 ล้านบาท
ส่วนหนึ่งของการซบเซาของตลาดขายตรง มาจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เป็นผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง รวมถึงการเติบโตของตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค ที่มีตัวเลือกมากขึ้นในตลาด รวมถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เจาะตลาดไทยได้เพิ่มขึ้น
ธุรกิจขายตรงในไทยที่ดำเนินกิจการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และอยู่ในระดับท็อปของประเทศ ได้แก่ 1. บริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด 2. บริษัท กิฟฟารีน สกายไลน์ ยูนิตี้ จำกัด 3. บริษัท ซูเลียน (ประเทศไทย) จำกัด 4. บริษัท เลกาซี่ คอร์ป จำกัด และ 5. บริษัท ซัคเซสมอร์ บีอิ้งค์ จำกัด (มหาชน)
จากเคส ดิไอคอน กรุ๊ป เป็นบทเรียนสำคัญให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานที่ต้องตรวจสอบอย่าง สคบ. คำถามคือ ในปี 2561 เพราะเหตุใดเรื่องที่ สคบ. พบพิรุธและส่งตรวจสอบนั้นจึงเงียบหาย กระทั่งเกิดความเสียหายและกลายเป็นคดีธุรกิจขายตรงมหากาพย์เช่นนี้
และกรณีนี้ จะสร้างผลกระทบด้านลบต่อความน่าเชื่อถือของธุรกิจขายตรงที่ดำเนินธุรกิจอย่างถูกกฎหมายหรือไม่