มีเรื่องประหลาดของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ต้องติดตามอีกแล้ว กับ WARRIX บริษัท วอริกซ์ สปอร์ต จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬาของไทยภายใต้แบรนด์ “WARRIX” ที่ผู้บริหารนำหุ้นไปขายนอกตลาด 14,942,530 หุ้น ในราคาต่ำกว่าราคาตลาดถึง 21% และพบว่าหุ้นที่ฝากกับคัสโตเดียนหายไป 15 ล้านหุ้น กรณีที่เกิดขึ้นทำให้ราคาหุ้น WARRIX ร่วงไปถึง 19% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ย้อนรอย WARRIX ผู้ผลิตชุดกีฬาทีมชาติไทย
WARRIX ถือเป็นแบรนด์เสื้อผ้า และอุปกรณ์กีฬาของไทย ก่อตั้งโดย วิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุลประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ที่เติบโตจากโรงงานทอผ้า ซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัว จุดเปลี่ยนที่ทำให้ WARRIX เติบโตอย่างรวดเร็ว คือการเป็นผู้ได้รับสิทธิ์ผลิตเสื้อผ้าให้กับฟุตบอลทีมชาติไทย ตั้งแต่ปี 2560 ถึงปัจจุบัน โดยมีรายได้ย้อนหลัง 3 ปี ดังนี้
- ปี 2564 รายได้ 658.09 ล้านบาท กำไรสุทธิ 14.24 ล้านบาท
- ปี 2565 รายได้ 1,074.62 ล้านบาท กำไรสุทธิ 128.49 ล้านบาท
- ปี 2566 รายได้ 1,251.01 ล้านบาท กำไรสุทธิ 127.38 ล้านบาท
- งวด 6 เดือนแรก ปี 2567 รายได้ 677.84 ล้านบาท กำไรสุทธิ 37 ล้านบาท
สำหรับผลการดำเนินงานของ WARRIX เติบโตขึ้นตามลำดับ โดยช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 บริษัทมีรายได้จากการขายและบริการ จํานวน 677.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 171.92 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 33.98% เมื่อเทียบกับงวด 6 เดือนแรกของปี 2566 มีสาเหตุหลักจากการเติบโตของยอดขายทั้งกลุ่มสินค้าลิขสิทธิ์ตามกระแสความนิยมในฟุตบอลทีมชาติไทยที่มีการแข่งขัน AFC Asian Cup และการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกโซนเอเชีย ส่งผลให้สินค้าทีมชาติมียอดขายเติบโตขึ้น และทําให้สินค้าประเภทอื่นมียอดขายเพิ่มขึ้นตามไปด้วย WARRIX เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ปี 2565 จำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน 180 ล้านหุ้น ราคาพาร์หุ้นละ 0.50 บาท ราคาเสนอขายหุ้นละ 6.30 บาท คิดเป็นมูลค่าระดมทุน 1,134 ล้านบาท ราคาหุ้นขึ้นไปสูงสุดที่ประมาณ 11 บาท และราคาล่าสุด วันที่ 30 ส.ค. 67 อยู่ที่ 3.60 บาท
ผู้บริหารขายหุ้น – หุ้นหาย
วันที่ 21 สิงหาคม 2567 วิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ได้ทำการจำหน่ายหุ้นWARRIX จำนวน 14,942,530 หุ้น 2.49% ของหุ้นที่จำหน่ายแล้วของบริษัทฯ ให้แก่บริษัท ไฮ-เทคแอพพาเรล จำกัด ซึ่งผู้ผลิตและส่งออกเสื้อผ้ากีฬา โดยรับจ้างผลิต (OEM) ให้แบรนด์ชั้นนำระดับโลก ที่มีกลุ่มครอบครัววิตนากรถือหุ้นใหญ่ โดยมีประสิทธิ์ วิตนากร ประธานกรรมการบริหาร มีสัดส่วนการถือหุ้นคิดเป็น 20.32%
ที่น่าสนใจ คือเป็นการทำรายการผ่านศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด (TSD) ซึ่งเป็นการขายนอกตลาด ในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดถึง 21% โดยราคาที่ขายให้ ไฮ-เทค แอพพาเรล อยู่ที่ 3.48 บาท/หุ้น ขณะที่ราคาตลาด ณ วันนั้นอยู่ที่ 4.22 บาท/หุ้น
วิศัลย์ ตรวจพบว่าจำนวนหุ้นที่นำไปจำนำเพื่อเป็นหลักประกันเงินกู้โดยการฝากในฐานะเป็นหลักประกันไว้กับคัสโตเดียนนั้น มีจำนวนหุ้นที่หายไปจำนวน 15,000,000 หุ้น โดยที่ยังไม่มีการผิดนัดชำระเงินกู้ วิศัลย์ จึงได้ดำเนินการบอกล้างโมฆียกรรมการกู้ยืมเงินดังกล่าวแล้วและอยู่ในระหว่างการฟ้องร้องดำเนินคดีทางกฎหมายเพื่อติดตามหุ้นที่หายไปดังกล่าว และให้คัสโตเดียนส่งมอบคืนหุ้นที่ฝากไว้เป็นหลักประกันคืนทั้งหมด สำหรับหุ้นจำนวนที่เหลือที่ยังอยู่ในความครอบครองของคัสโตเดียนจำนวน 105,211,000 หุ้น วิศัลย์ ได้ขอคำสั่งศาลอายัดหุ้นดังกล่าวไว้แล้วหลังการขายหุ้นครั้งนี้ ทำให้โครงสร้างการถือหุ้นเปลี่ยนไป ดังนี้
ก.ล.ต.สอบเข้ม หวั่นกระทบนักลงทุน
การขายหุ้นในราคาลดลงถึง 21% ของผู้บริหาร WARRIX ถูกตั้งข้องสังเกตว่าเป็นการถูก Force Sell หรือไม่?
และจะเห็นได้ว่าจำนวนหุ้นที่ DB AG SG DCS CLT ACC FOR SAFARI ASIA LIMITED ถือเท่ากับจำนวนที่วิศัลย์ขอคำสั่งศาลอายัด และถ้าเป็นคัสโตเดียนที่อยู่ในต่างประเทศ กฎหมายไทยให้การคุ้มครองไปถึงหรือไม่? และทำไมวิศัลย์ถึงเลือกฝากหุ้นกับคัสโตเดียนต่างประเทศ?
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ติดตามตรวจสอบกรณีดังกล่าว ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่า การเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นในครั้งนี้ เป็นธุรกรรมโดยการนำหุ้นไปจำนำที่เกิดขึ้นนอกตลาดหุ้น โดยมีคู่สัญญา และเกิดข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชน ดังนั้น กรณีเช่นนี้เอกชนต้องไปดำเนินการฟ้องร้องเอง
ก.ล.ต. จึงให้บริษัทชี้แจ้งรายงานข้อมูล ขณะนี้อยู่ระหว่างรอบริษัทรายงานข้อมูลให้ครบถ้วน หากพบว่ามีการกระทำที่ผิดพ.ร.บ.หลักทรัพย์ ทาง ก.ล.ต.จะดำเนินการตามกฎหมายทันที ยืนยันว่ากรณีนี้ ก.ล.ต. มีการติดตามดูแลอย่างใกล้ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อระบบและนักลงทุนรายย่อย
อย่างไรก็ตาม กรณีนี้มีช่องโหว่ตามกฎหมาย เพราะเป็นการนำหุ้นไปกู้ยืมนอกตลาด ยังไม่เกิดการครอบครอง ซึ่ง ก.ล.ต.อยู่ระหว่างการศึกษาและวางกลไกที่ทำให้มีการเปิดเผยรายงานข้อมูลส่วนนี้ เพื่อสร้างความโปร่งให้กับนักลงทุนครบถ้วนมากขึ้น คาดหวังว่าอยากเห็นเป็นรูปธรรมภายในปีนี้
“กรณีที่นำหุ้นไปกู้ยืมเงินนอกตลาดเป็นสิทธิของผู้กู้และผู้ให้กู้อยู่แล้ว แต่หากส่งผลความเสี่ยงต่อระบบ ก.ล.ต.ต้องปิดโหว่ และทำให้นักลงทุนได้รับข้อมูลอย่างครบถ้วน” พรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต.ระบุ
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการกระทำที่ถูก หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ส่งผลกระทบต่อนักลงทุนแล้ว จากราคาที่ดิ่งลงอย่างรวดเร็ว รอเพียงแต่ผู้บริหารต้องออกมาชี้แจงให้ความกระจ่างต่อไป