ท่ามกลางการเฝ้ารอโฉมหน้ารัฐมนตรีเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาลที่นำโดยนายกหญิงคนที่สองของไทยอย่าง “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 และเป็นคนที่ 3 จากตระกูลชินวัตร ที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้
“นายกหญิงอายุน้อย” คืออีกประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงจนเป็นกระแส คำถามคือ “ทิศทางและนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” จึงไม่ถูกพูดถึงเป็นประการแรก เมื่อปัจจุบันเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงและยังไม่มีเสถียรภาพมากเท่าที่ควร รวมถึงปัญหาที่กำลังรุมเร้า
ช่วงค่ำวันที่ 22 สิงหาคม 2567 NationTV จัดงาน Vision for Thailand 2024 โดยมีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แสดงวิสัยทัศน์ในหัวข้อ “ทิศทางเศรษฐกิจจะขับเคลื่อนไปอย่างไร ทิศทางการเมืองไทยนับต่อจากนี้” โดยเรื่องที่ทักษิณพูดในงานส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทย เช่น หนี้ครัวเรือน นโยบายการเก็บภาษี นโยบาย Soft Power นโยบาย Entertainment Complex เป็นต้น รวมไปถึงนโยบายการจ่ายเงินดิจิทัลของรัฐบาล ที่ประกาศแผนและแนวทางการแจกเงินใหม่ โดยจะจ่ายให้กลุ่มเปราะบางและผู้พิการเป็นกลุ่มแรก ในเดือนกันยายน 67 กลุ่มที่สองสำหรับบุคคลทั่วไป ในเดือนตุลาคม 67
ทั้งที่ก่อนหน้านี้ นายกที่มาจากพรรคเพื่อไทยอย่าง เศรษฐา ทวีสิน ที่เป็นอดีตนายกฯ และนายกอุ๊งอิ๊ง ให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกันว่า ทักษิณ ชินวัตร ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับแนวทางการบริหารงานของรัฐบาล ซึ่งดูเหมือนจะสวนทางกับสิ่งที่ทักษิณกล่าวในงานของ NationTV นี่อาจทำให้เข้าใจได้ว่า นโยบายที่พรรคเพื่อไทยใช้นำทางรัฐบาลปัจจุบันยังคงอยู่ใต้เงาของอดีตนายกรัฐมนตรีจากตระกูลชินวัตรหรือไม่
Connect the Dots จะชวนวิเคราะห์ว่า นายกคนใหม่ที่ชื่อ “แพทองธาร” จะต้องเผชิญกับความท้าทายด้านเศรษฐกิจที่ยังต้องรอการแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง
ความต่อเนื่องของคณะทำงาน หรือแนวทางที่ควรสานต่อ
การลงจากตำแหน่งของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี หลังเข้ามาบริหารประเทศยังไม่ครบปี หลายเสียงวิจารณ์ว่า นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกที่ขยัน ทำงานทุกวัน แต่ยังไม่เห็นผลงานเป็นที่ประจักษ์ โดยเฉพาะด้านการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ที่ยังไม่เป็นรูปธรรม หลายนโยบายยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น เช่น นโยบายเงินดิจิทัล ประชาชนจำนวนไม่น้อยกังวลว่าจะได้รับเงินหมื่นหรือไม่ เมื่อนายกต้องเปลี่ยนตัว
นโยบายเงินดิจิทัลไม่ใช่เป็นเพียงประเด็นเดียวที่ถูกตั้งคำถามในวงกว้างของสังคม ไทยกำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจหลายด้าน สิ่งที่ ครม.ชุดใหม่ควรทำคือ การสานต่อแนวทางการทำงาน โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจจาก ครม.ชุดเดิม นั่นเพราะมีการทำงานมาแล้วเกือบ 1 ปี และไม่ว่า ครม. ทีมเศรษฐกิจจะมาจากพรรคการเมืองใดในฝ่ายรัฐบาล อย่างน้อยควรมีแนวทางที่สอดคล้องกัน
หนี้ครัวเรือน กำลังซื้อชะลอตัว ปัญหาเศรษฐกิจที่รอการแก้ไข
ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2567 ระบุว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยอยู่ที่ระดับ 90.8% ต่อจีดีพี โดยสัดส่วน 1 ใน 3 ของหนี้ทั้งหมด เป็นหนี้สินที่ไม่สร้างรายได้ หรือหนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล
หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงส่งผลกระทบต่อการบริโภค กำลังซื้อถดถอย และไทยมีระดับหนี้ครัวเรือนสูงเกิน 80% ต่อจีดีพี ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานสากล มานานกว่า 10 ปี แม้จะไม่ง่ายที่จะแก้ปัญหาภายในเวลาอันสั้น แต่เป็นเรื่องที่ ครม.ใหม่ต้องเร่งแก้ เพราะนี่เป็นปัญหาที่สร้างผลกระทบเป็นระลอกคลื่นต่อไปไม่สิ้นสุด
ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ ผลกระทบได้ มากกว่าเสีย?
นี่เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่เรียกคะแนนเสียงตอนเลือกตั้งได้ค่อนข้างมาก ทว่า ปัจจุบันกลับเรียกเสียงคัดค้านจากภาคเอกชนได้จำนวนไม่น้อย แม้จะเข้าใจในมุมที่ว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นไปเพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ค่าไฟ ราคาพลังงาน ราคาสินค้าที่ปรับตัวไปก่อนแล้วหลายรายการ
แต่ ครม.ใหม่ ควรจะต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่า หากยืนกรานนโยบายนี้จะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง แน่นอนว่า ภาคเอกชนที่ยังไม่พร้อมที่จะปรับค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ จะต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายกลาง รายย่อย นอกจากนี้ยังอาจส่งผลต่อการพิจารณาการย้ายฐานการผลิตในอนาคตของผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ถึงเวลานั้น ภาคแรงงานอาจสูญเสียงานได้ในอนาคต
กระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับกลางถึงรากหญ้า
การสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นกับทุกฟันเฟืองเศรษฐกิจเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน เศรษฐกิจในระดับรากหญ้า ระดับกลาง จำเป็นที่จะต้องทำให้เข้าถึงเม็ดเงินให้ได้มากที่สุด หรือ Cash is King
การเร่งจ่ายเงินตามนโยบายที่รัฐบาลชุดก่อนเตรียมดำเนินการค้างไว้ แม้ว่าจะไม่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจในระยะยาว และกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่ถึง 1% แต่การมีเม็ดเงินในระบบย่อมส่งผลต่อสภาพคล่องในตลาด อย่างไรก็ตาม หาก ครม. ชุดใหม่ภายใต้การนำของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร จะมองหานโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว น่าจะส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจมากกว่า เช่น การเพิ่มโอกาสทางการค้าให้ผู้ประกอบการไทย ให้สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตจากต่างประเทศได้ หรือมาตรการที่จะออกมากระตุ้นตลาดในระดับกลาง ที่ปัจจุบันยังคงเก็บออมเงินไว้มากกว่าจะนำออกมาใช้จ่าย
การประเมินสถานการณ์อย่างชาญฉลาดเป็นเรื่องจำเป็นที่ผู้บริหารประเทศต้องทำ ด้วยการมองผลประโยชน์ที่จะตกกับประชาชนรอบด้านเป็นสำคัญ หรืออาจถึงเวลาที่รัฐบาลควรเดินออกนอกกรอบของนโยบายที่ยึดโยงกับคะแนนเสียงและความเป็นประชานิยมเป็นใหญ่ แต่ควรให้น้ำหนักกับความเหมาะสม พร้อมกับประเมินสถานการณ์ และหาทางแก้ปัญหาด้วยแนวทางที่เหมาะสม