เงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยใช้เป็นนโยบายสำคัญในการดึงคะแนนเสียงในครั้งเลือกตั้ง และในท้ายที่สุด นโยบายนี้กำลังเข้าสู่ช่วงสำคัญ หลังเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนไปเมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา
การตั้งตารอเม็ดเงิน 1 หมื่นบาทที่ประชาชนจะได้รับจากภาครัฐเพื่อจับจ่าย ภายใต้เป้าหมายของรัฐบาลว่าการลงทุนด้วยงบประมาณ 4.5 แสนล้านบาท หรือประมาณ 2% ของจีดีพี น่าจะช่วยผลักดันเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้มากกว่า 1% ทว่า นักเศรษฐศาสตร์ และนักวิเคราะห์ต่างมองไปในทิศทางเดียวกันว่า นี่เป็นการลงทุนของรัฐบาลที่ได้ไม่คุ้มเสีย เพราะโครงการนี้ไม่น่าส่งให้จีดีพีไทยเติบโตเกิน 1%
หากจะบอกว่านโยบายนี้ไม่ช่วยให้เศรษฐกิจไทยโตเลย คงไม่ถูกนัก เพราะนี่ถือเป็นเงินเม็ดใหม่ที่รัฐบาลใส่เข้ามาในระบบเศรษฐกิจ แม้จะเป็นเงินที่รัฐบาลกู้มา 2.74 แสนล้านบาท หรือประมาณ 1.4% ของจีดีพี ส่วนที่เหลือเป็นเงินที่รัฐบาลใช้คำว่า เป็นการบริหารจัดการจากงบประมาณปีนี้และปีหน้า
ที่ผ่านมา โครงการที่รัฐบาลเป็นเจ้าภาพช่วยให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน และจีดีพีมีการเติบโตนับตั้งแต่บาทแรก แต่โครงการนี้กลับแตกต่างออกไป เพราะแม้ว่ารัฐบาลจะเริ่มจ่ายเงินให้ประชาชนแล้ว แต่จีดีพียังไม่มีการทำงาน นั่นเพราะต้องรอให้ประชาชนนำเงินส่วนนี้ออกไปใช้จ่าย
แน่นอนว่า โครงการนี้ย่อมมีจีดีพีเกิดขึ้นแน่นอน แต่จะไม่ใช่จีดีพีใหม่ ซึ่งจีดีพีใหม่จะเกิดขึ้นได้นั้น ประชาชนจะต้องใช้จ่ายมากกว่าเงินดิจิทัล 1 หมื่นที่ได้รับ หากจะบอกว่าเป็นเรื่องยากในสถานการณ์เศรษฐกิจยามนี้ก็คงไม่ผิดนัก หลายคนอาจเลือกใช้เงินจากรัฐบาล และเก็บเงินของตัวเองกลับเข้ากระเป๋ามากกว่าจะนำออกมาใช้เพิ่มอีกเท่าตัว ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น จีดีพีที่จะเกิดขึ้นจากโครงการนี้ คงไม่ถึง 1%
นักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อยมองว่าโครงการนี้จีดีพีจะขยายตัวเต็มที่ประมาณ 0.4-0.7%
ขณะที่โครงการจากรัฐบาลลุงตู่ที่ออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด ทั้งโครงการคนละครึ่ง เราชนะ เที่ยวด้วยกัน กลับสร้างให้เกิดแรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจ จีดีพีขยายตัวประมาณ 1.5-2.5% คำถามคือ นี่เป็นนโยบายแจกเงินไม่ต่างกัน แต่ทำไมผลที่ได้กลับไม่เหมือนกัน
นักวิเคราะห์สรุปว่า โครงการที่ใช้ในยุครัฐบาลลุงตู่ แม้จะแจกเงินให้ประชาชนใช้จ่าย แต่เป็นการให้แบบมีเงื่อนไข คือ รัฐบาลช่วยจ่ายครึ่งหนึ่งหรือบางส่วน ประชาชนจ่ายครึ่งหนึ่ง นี่จะเป็นการทำให้จีดีพีมีการขยายตัวนับตั้งแต่เงินบาทแรกที่รัฐบาลเบิกจ่ายงบประมาณออกมา
ขณะที่ฝากฝั่งของร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการเงินดิจิทัลอาจยังมีคำถาม รวมถึงอาจมีร้านค้าจำนวนไม่น้อยที่จะไม่เข้าร่วมโครงการ เพราะเงื่อนไขแรกของร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการเงินดิจิทัล ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี แม้จะมีข้อยกเว้นบางประการที่อนุโลมให้ แต่เจ้าของกิจการยังต้องเป็นบุคคลที่ยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอย่างน้อย 2 ปีภาษี
และอีกหนึ่งข้อกำหนดที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเข้าร่วมของร้านค้าคือ การที่ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดทันทีหลังประชาชนมาใช้จ่าย แต่จะต้องมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป หรือร้านค้าจะต้องนำเงินดิจิทัลที่ได้รับจากการใช้จ่ายของลูกค้า ไปซื้อสินค้า หรือวัตถุดิบในการผลิตต่อไป
นโยบายเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท เต็มไปด้วยความคาดหวังทั้งจากภาครัฐที่มีเป้าหมายว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว ประชาชนคาดหวังว่าจะมีเงินมาจับจ่ายใช้สอยในช่วงเศรษฐกิจที่ยากลำบาก แต่ทุกอย่างจะเป็นไปอย่างที่คาดหวังไว้หรือไม่ เม็ดเงิน 4.5 แสนล้านบาทอาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น แต่ระยะยาวดูจะเป็นเรื่องยาก เพราะครึ่งหนึ่งของเม็ดเงินจำนวนนี้มาจากการกู้ยืมของภาครัฐ และส่วนที่เหลือมาจากการจัดสรรงบประมาณจากส่วนอื่นมาใช้ ซึ่งเป็นงบประมาณที่ถูกลดทอนทั้งของปีนี้และปีหน้า และการใช้จ่ายจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้จนถึงไตรมาส 1 ปีหน้า หลังจากนั้นเศรษฐกิจคงเข้าสู่ภาวะซบเซาแบบที่ใครหลายคนเรียกว่า “ต้มกบ”