แบดมินตันนับเป็นหนึ่งในกีฬายอดนิยมที่เล่นกันอย่างแพร่หลายทั่วโลก รวมถึงในไทยด้วย ที่เล่นกันในทุกระดับ ตั้งแต่เป็นกีฬาออกกำลังหลังเลิกงาน กิจกรรมพบปะสังสรรค์ จนถึงขั้นจริงจังระดับมืออาชีพ ที่สร้างยอดฝีมือมากมาย รวมถึง วิว-กุลวุฒิ วิทิตศานต์ นักกีฬาแบดมินตันชายทีมชาติไทย ที่กำลังจะชิงชัยเหรียญทองโอลิมปิกในค่ำคืนนี้ด้วย
แม้จะเป็นกีฬาที่หลายคนชื่นชอบ แต่หลายคนก็อาจจะยังไม่รู้ความจริงเบื้องหลังกีฬาหวดลูกขนไก่ ว่าที่จริงแล้วลูกขนไก่ที่เราฟาดกันจนขนหลุดร่วง มันไม่ได้ทำมาจากขนไก่ด้วยซ้ำ
กีฬาแบดมินตันสมัยใหม่ที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน ถูกคิดค้นขึ้นมาช่วงกลางศตวรรษที่ 19 โดยกองทัพอังกฤษที่ประจำการในอินเดียยุคที่ถูกอังกฤษปกครอง มีรากเหง้ามาจากกีฬาพื้นบ้านสมัยก่อนเรียกว่า “แบตเทิลดอร์ และ ลูกขนไก่ (Battledore and shuttlecock)” ที่แพร่หลายในอินเดีย จีน และญี่ปุ่น แต่ตัวลูกขนไก่เอง ถูกคิดค้นขึ้นมานานกว่า 2,000 ปีก่อนแล้ว เล่นด้วยการใช้เท้าเตะรับส่งกัน
ลูกขนไก่ ในภาษาอังกฤษเรียกว่า “Shuttlecock” มีความหมายว่า “ไก่ตัวผู้ที่เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว” ตามลักษณะของมัน ซึ่งก็มีคำว่า “ไก่” อยู่ในนั้นเช่นกัน ซึ่งสมัยก่อน ตอนยังเป็นกีฬาพื้นบ้านในบางประเทศเขาก็ใช้ขนไก่กันจริง หรือแม้แต่ขนนก แต่พอกลายมาเป็นแบดมินตันของอังกฤษ วัสดุที่ใช้จริง คือ ขนเป็ด หรือ ห่าน จำนวน 16 ชิ้น นำมาเรียงตัวซ้อนกัน เสียบลงไปบนหัวไม้คอร์กและโฟมที่หุ้มด้วยหนัง ที่ต้องใช้ขนเป็ดหรือห่าน เนื่องจากมีความแข็งแรงทนทานกว่า ในขณะเดียวกันก็ยังมีน้ำหนักเบา สามารถควบคุมลูกได้ง่ายมากกว่าขนไก่
ในการผลิตลูกขนไก่แต่ละลูกจะต้องใช้ขนจากปีกข้างเดียวกัน เนื่องจากต้องใช้ขนที่มีองศาและทิศทางความโค้งเหมือนกัน ซึ่งจะส่งผลต่อการหมุนของลูก และปีกแต่ละข้างของเป็ดจะให้ขนชั้นดีเพียง 4-6 ชิ้นเท่านั้น จึงอาจต้องใช้เป็ดราว 3-4 ตัวในการผลิตลูกขนไก่เกรด A หนึ่งลูก นั่นทำให้การผลิตลูกขนไก่สักสองโหล จะใช้เป็ดพอ ๆ กับการผลิตหมอนขนเป็ดหนึ่งใบ ที่ใช้เป็ดอย่างน้อย 75 ตัวขึ้นไป
นั่นทำให้การผลิตลูกขนไก่ด้วยขนสัตว์ธรรมชาติถูกประณามจากองค์กรเพื่อสัตว์และสิ่งแวดล้อมทั่วโลก จนในปี 2020 สหพันธ์แบดมินตันโลก (Badminton World Federation) ได้ออกมาประกาศรับรองการใช้ลูกขนไก่จากวัสดุสังเคราะห์แทน ในทุกการแข่งขันระหว่างประเทศที่ได้รับการรับรองจากสหพันธ์ฯ เนื่องจากมีประสิทธิภาพแทบไม่ต่างกัน แต่มีความทนทานสูงกว่า จะช่วยลดการใช้ลูกขนไก่ได้ถึง 25% และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แม้นักกีฬาหลายคนจะบอกตรงกันว่าความรู้สึกมันต่างไปจากการใช้ลูกขนไก่ธรรมชาติ แต่ถ้าใช้เวลาสักหน่อยก็สามารถปรับตัวได้ ในการแข่งขันปารีสโอลิมปิก 2024 นี้ ก็ใช้ลูกขนไก่จากวัสดุสังเคราะห์เช่นกัน
นอกจากนี้ ก็ยังมีลูกขนไก่แบบไนลอนด้วย ซึ่งมีความทนทานสูงมาก แม้คุณสมบัติในการควบคุมและความเร็วอาจไม่เท่าลูกขนไก่สังเคราะห์หรือแบบธรรมชาติ จึงไม่นิยมใช้กันตามทัวร์นาเมนต์ใหญ่ ๆ ระดับชาติหรือระหว่างประเทศ แต่ก็ถูกใช้มากในการแข่งขันเล็กรายการย่อย หรือระดับท้องถิ่น เนื่องจากมีราคาไม่แพงและพังยากกว่า
สุดท้ายนี้ ใครชอบตีแบดลองบอกกันหน่อยครับว่าชอบลูกแบบไหนมากกว่า และอย่าลืมส่งกำลังใจเชียร์นักกีฬาแบดมินตันไทยในโอลิมปิกกันด้วยนะ