วายแอลจีชี้ทองคำยังมีโอกาสปรับขึ้นได้ต่อ หลังระยะสั้นพยายามสร้างฐานที่โซน 2,400 ดอลลาร์สหรัฐ แม้หลังราคาทำระดับสูงสุดครั้งใหม่จะมีการย่อตัวลงมา แต่เมื่อราคาสร้างฐานได้ ภาพรวมในปีนี้ยังสามารถไปถึงเป้าหมาย 2,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ได้ พร้อมเปิดปัจจัยบวกยังแน่น ทั้งนโยบายดอกเบี้ยเฟดที่ใกล้เข้าสู่วงจรขาขึ้นขาลง ความอ่อนแอทางเศรษฐกิจ ปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ และความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจหลังการเลือกตั้งสหรัฐ
นางพวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (YLG) กล่าวว่า หลังราคาทองคำตลาดโลกปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง จนขึ้นทำระดับสูงสุดเป็นประวัติกาลอีกครั้งที่ 2,483 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ และเกิดแรงขายทำกำไรสลับเข้ามาบ้าง ทำให้ราคามีการพักฐานลงมาในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม ราคายังพยายามสร้างฐานที่โซน 2,400 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ ดังนั้นเมื่อการสร้างฐานเสร็จสิ้น ราคามีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นได้ต่อ ตามแนวโน้มทองคำในระยะยาวที่ยังคงแข็งแกร่ง โดยวายแอลจียังคงเป้าหมายราคาทองคำในปีนี้ ว่ายังสามารถขึ้นทดสอบได้ถึงระดับ 2,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์
โดยปัจจัยสนับสนุนให้ทองคำยังเป็นขาขึ้นในปีนี้ยังคงมีอยู่อย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะปัจจัยการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อย่างน้อย 2 ครั้งในปีนี้ ซึ่งจาก CME FedWatch Tool บ่งชี้คาดการณ์ตลาดว่า เฟดจะเริ่มต้นวงจรดอกเบี้ยขาลง ในการประชุมเดือนก.ย. และมีโอกาสปรับลดได้อีกก่อนจะสิ้นสุดปี 2567 ซึ่งจะขึ้นอยู่กับข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ ที่เจ้าหน้าที่เฟดหลายท่านระบุว่าเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินนโยบายในอนาคต อย่างไรก็ดี นอกจากเรื่องอัตราดอกเบี้ยเฟดแล้ว ยังมีปัจจัยสนับสนุนอีก 3 ปัจจัย คือ
ปัจจัยความไม่แน่นอนจากการเปลี่ยนแปลงผู้นำของสหรัฐฯ ซึ่งอาจมีผลต่อนโยบายเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จึงเป็นอีกปัจจัยสนับสนุนทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย โดยล่าสุด นางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดี มีโอกาสขึ้นมาเป็นแคนดิเดตจากพรรคเดโมแครต ในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ แทนที่ นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน และทำให้คะแนนนิยม ขึ้นมาใกล้เคียงกับ นายโดนัลด์ ทรัมป์ แคนดิเดตจากพรรครีพับลิกัน ส่งผลให้การเลือกตั้งยังมีความไม่แน่นอนที่สูงมาก
ปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงมีความน่าเป็นห่วง เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันยังคงยืดเยื้อในหลายภูมิภาค และการเลือกตั้งสหรัฐที่ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ ซึ่งมีโอกาสที่จะนำไปสู่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน รวมไปถึง ยุโรป ในประเด็นการขึ้นภาษีด้วยเช่นกัน ดังนั้น จึงเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ต้องคอยจับตาอย่างต่อเนื่อง และจะเป็นปัจจัยให้มีแรงซื้อพยุงเมื่อราคาทองคำมีการพักตัวลง
รวมถึงในระยะยาว ธนาคารกลางทั่วโลกยังทยอยสำรองทองคำเพิ่มขึ้น ท่ามกลางกระแส De-Dollarization หรือการลดบทบาทสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าดีมานด์จากจีนในระยะสั้นจะเริ่มชะลอไปบ้าง จากภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตได้ต่ำกว่าคาดการณ์ ในขณะที่ล่าสุด สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ได้รายงานว่า อินเดียเตรียมปรับลดอัตราภาษีนำเข้าทองคำจาก 15% เหลือ 6% ซึ่งเป็นการกระตุ้นดีมานด์เพิ่มเติม