ตลาดหุ้นไทยสัปดาห์ที่ผ่านมา (17 – 19 เม.ย.67) ดิ่งลงแรงถึง 64.30 จุด หรือปรับลดลง 4.60% แตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี 5 เดือน ที่ 1,330.24 จุด จากความวิตกกังวลสถานการณ์สงครามระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน จนตลาดหลักทรัพย์ต้องออก Statement ชี้แจงว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับตัวตามทิศทางเดียวกับตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก โดยปิดตลาดวันที่ 19 เม.ย.67 ดัชนี SET ปรับลง 28.94 จุด หรือลดลง 2.13% จากวันที่ 18 เม.ย.67 มาอยู่ที่ระดับ 1,332.08 จุด รวม 3 วัน ต่างชาติขายทิ้งหุ้นไทยกว่า 1 หมื่นล้านบาท และตั้งแต่ต้นปี ต่างชาติขายหุ้นไทยแล้วกว่า 70,066 ล้านบาท
สัปดาห์นี้ (22 – 26 เม.ย. 67) เริ่มมีสัญญาณที่ดี โดยเปิดมาวันที่ 22 เม.ย. 67 หุ้นไทยกลับมาปิดที่ 1,349.52 เพิ่มขึ้น 17.44 จุด มูลค่าซื้อขาย 43,079.01 ล้านบาท ขณะที่วันที่ 23 เม.ย. หุ้นไทยปรับขึ้นต่อเนื่องและมีสัญญาณบวกขึ้นมายืนเหนือ 1,350 จุดอีกครั้ง ปิดที่ 1357.4 จุด เพิ่มขึ้น 7.94 จุด มูลค่าการซื้อขายยังสูงอยู่ที่ 46,622.77 ล้านบาท จากหุ้นกลุ่มหลัก ได้แก่ พลังงาน (PTT, GULF, EA) กลุ่มค้าปลีก CPALL กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ DELTA เป็นต้น โดยบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยสัปดานี้มีแนวรับที่ 1,315 และ 1,300 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,340 และ 1,350 จุด ตามลำดับ
ตลาดหุ้นไทยรอปัจจัยใหม่หนุน
บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้รีบาวด์กลับมาเช่นเดียวกับตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย หลังคลายกังวลสงครามระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน แต่ยังคงต้องจับตาการรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนของไทย ตัวเลขส่งออกเดือนมี.ค. 2567 ของไทย ตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ที่จะสะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในอนาคต รวมถึงตัวเลข GDP ไตรมาส 1 ของสหรัฐฯ โดย Bloomberg Consensus คาดว่าจะขยายตัว 2% ชะลอจากไตรมาส 4 ปี 2566 ที่ 3.4% และตัวเลข PCE หรือดัชนีรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล ซึ่งจะสะท้อนตัวเลขเงินเฟ้อที่คาดว่ายังทรงตัวในระดับสูง ส่งผลต่อการลดอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐในช่วงปลายปีนี้
“คาดว่าตลาดฯจะเคลื่อนไหวไซด์เวย์เพื่อรอปัจจัยใหม่ โดยมีแนวรับที่ 1,350 – 1,355 จุด ส่วนแนวต้านอยู่ที่ 1,365 จุด”
ขณะที่ บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) ประเมิน SET Index มีโอกาสรีบาวด์กลับมาเช่นเดียวกัน โดยหุ้นที่จะรีบาวด์ได้ดีและมีโอกาสได้แรงสนับสนุนจากการทำ Cover Short จากราคาหุ้นลงแรงกว่าตลาดเมื่อสัปดาห์ก่อน รวมถึงปริมาณการ Short Sales มากกว่า 25% ของปริมาณการซื้อขายทั้งหมด และมีค่า Beta (ค่าความผันผวน) มากกว่า 1 โดยมีหุ้น 11 ตัวที่น่าสนใจ ดังนี้ EA-DELTA-COM7-BANPU-KCE-GUNKUL-KTC-DOHOME-SAWAD-MTC
ด้านบล.เอเซีย พลัส มองภาพรวมตลาดหุ้นไทยไตรมาส 2 มีโอกาสพ้นจุดต่ำสุด และมีหลายปัจจัยเข้ามาสนับสนุน ได้แก่
– ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 1 ปี 2567 ที่มีโอกาสเติบโตเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2566 จากฐานที่ต่ำ และมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนจากเงินบาทที่อ่อนค่าค่อนข้างแรงถึง 7% โดยมีหุ้นที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทที่อ่อนค่า คิดเป็นสัดส่วนถึง 40% ของมูลค่าตลาด รวมถึงราคาน้ำมันดิบโลกปรับขึ้นแรงเกิน 15% เมื่อเทียบไตรมาสก่อน สนับสนุนให้เกิด Stock Gain ในหุ้น Commodity ที่มีสัดส่วนหลักในตลาด
– แนวรับสำคัญทางพื้นฐานที่บริเวณ 1,350 จุด ถือเป็น Valuation ที่น่าสนใจ โดยมี PER67F ที่ 16.6 เท่า (-1SD ในรอบ 10 ปี) และเป็นระดับต่ำสุดรองจากช่วงวิกฤตโควิดปี 2563 ขณะที่ในเชิง PBV มีค่าที่ 1.31 เท่า (-2SD ในรอบ 10 ปี) อีกทั้งยังเป็นบริเวณที่ส่วนต่างผลตอบแทนตราสารหนี้กับหุ้นกว้างมาก โดยมี MEYG ที่ 4.25% (สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต) แนะนำลงทุนหุ้นที่ทยอยฟื้นตามเศรษฐกิจ เช่น CK SCCC MTC BJC KBANK และหุ้นที่กำไร 2Q67 โดดเด่น PTTGC BGRIM
– มาตรการภาครัฐช่วยพยุงเศรษฐกิจ อาทิ การผลักดันนโยบายการคลังผ่านการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ภายในช่วงเวลาเพียง 5-6 เดือน ด้วยมูลค่า 3.48 ล้านล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 9.3% รวมถึงมาตรการกระตุ้นต่างๆ ของภาครัฐ ทั้งการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท, ฟรีค่าธรรมเนียม VISA สำหรับนักท่องเที่ยว และการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะเป็นแรงส่งหุ้นไทยในระยะถัดไป
– มาตรการการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น แม้ทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐ อาจจะคงที่ระดับ 5.5% ยาวนานขึ้น หลังเงินเฟ้อสูงกว่าคาด แต่วัฏจักรดอกเบี้ยขาลงน่าจะเริ่มเห็นในช่วงที่เหลือของปีนี้ ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดว่าจะมีโอกาสปรับลดลงได้ 1 ครั้ง 0.25% ในช่วงเดือนมิ.ย.นี้ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทย คาดว่าจะสร้างความเชื่อมั่นการลงทุนกลับมาได้ และหาก กนง.ลดดอกเบี้ย หุ้นไทยมักปรับขึ้น ในช่วง 1-2 เดือนถัดมา หรือช่วง 2 เดือน ปรับขึ้นเฉลี่ยถึง 9%
– มาตรการสร้างความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพของตลาดหุ้นไทย จะสนับสนุนให้ปริมาณการซื้อขายค่อยๆ กลับมา หลังการเพิ่มชั่วโมงซื้อขายจาก 4 ชั่วโมงครึ่งต่อวัน เป็น 5 ชั่วโมงต่อวัน และมีมาตรการในการกำกับดูแลตรวจสอบ Short Selling, Program Trading คาดเริ่มมีผลบังคับใช้ช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ ผลักดัน Turnover ของ SET มีโอกาสกลับมาสูงกว่า 70% ต่อปี
จับตาหุ้นปันผลกระตุ้นความคึกคัก
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยจากหุ้นปันผลที่จะทยอยประกาศในเดือนเม.ย.นี้ โดยในช่วงวันที่ 22 – 26 เม.ย. และวันที่ 29 – 30 เม.ย. 2567 มีหุ้นขึ้น XD และให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจ ดังนี้
วันที่ 24 เม.ย. – TISCO ปันผล 5.75 บาทต่อหุ้น (คิดเป็น 5.75%) จ่ายปันผล 15 พ.ค. 2567
วันที่ 25 เม.ย. – WHAUP ปันผล 0.19 บาทต่อหุ้น (คิดเป็น 4.81%) จ่ายปันผล 15 พ.ค. 2567
– QH ปันผล 0.10 บาทต่อหุ้น (คิดเป็น 4.35%) จ่ายปันผล 16 พ.ค. 2567
วันที่ 26 เม.ย. – KKP ปันผล 1.75 บาทต่อหุ้น (คิดเป็น 3.30%) จ่ายปันผล 16 พ.ค. 2567
– NYT ปันผล 0.36 บาทต่อหุ้น (คิดเป็น 7.44%) จ่ายปันผล 17 พ.ค. 2567
– MFC ปันผล 1.30 บาทต่อหุ้น (คิดเป็น 6.19%) จ่ายปันผล 16 พ.ค. 2567
– BGC ปันผล 0.08 บาทต่อหุ้น (คิดเป็น 1.13%) จ่ายปันผล 17 พ.ค. 2567
วันที่ 29 เม.ย. – SORKON ปันผล 0.20 บาทต่อหุ้น (คิดเป็น 4.37%) จ่ายปันผล 21 พ.ค. 2567
– SUN ปันผล 0.25 บาทต่อหุ้น (คิดเป็น 4.20%) จ่ายปันผล 20 พ.ค. 2567
วันที่ 30 เม.ย. – BRI ปันผล 0.60 บาทต่อหุ้น (คิดเป็น 8.80%) จ่ายปันผล 16 พ.ค. 2567
– PREB ปันผล 0.40 บาทต่อหุ้น (คิดเป็น 6.56%) จ่ายปันผล 24 พ.ค. 2567
– APP ปันผล 0.15 บาทต่อหุ้น (คิดเป็น 6.05%) จ่ายปันผล 17 พ.ค. 2567
– RPC ปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น (คิดเป็น 5.88%) จ่ายปันผล 21 พ.ค. 2567
– MFEC ปันผล 0.40 บาทต่อหุ้น (คิดเป็น 5.93%) จ่ายปันผล 17 พ.ค. 2567
– TPCH ปันผล 0.40 บาทต่อหุ้น (คิดเป็น 5.80%) จ่ายปันผล 20 พ.ค. 2567
– RSP ปันผล 0.13 บาทต่อหุ้น (คิดเป็น 5.46%) จ่ายปันผล 15 พ.ค. 2567
– PDJ ปันผล 0.10 บาทต่อหุ้น (คิดเป็น 4.81%) จ่ายปันผล 21 พ.ค. 2567