ตอนนี้หลายคน โดยเฉพาะแฟนเพลงวงคาราบาว น่าจะพอรู้ข่าวแล้วว่า แอ๊ด ยืนยง โอภากุล หัวหน้าวงคาราบาวประกาศไม่ยุบวงแล้ว หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยเตรียมตัวลาวงการเนื่องจากสังขารที่ร่วงโรย ตอนนี้เปลี่ยนเป็นการพักวงแค่เดือนเมษายนแทน
ส่วนสาเหตุที่ตัดสินไปต่อกับงานดนตรี น้าแอ๊ดก็เผยออกมาด้วยความเดือดดาลแล้วว่า “ต้องการสู้กับนายทุนผูกขาดตลาดเบียร์” เพราะแกขายเบียร์คาราบาวและตะวันแดงไม่ได้ และทิ้งท้ายเท่ ๆ ว่า “ผมอยากให้คนบางกลุ่มรู้ว่า พวกเรายาจกแบบนี้จะรบกับมึง คอยดูก็แล้วกัน”
แต่ถึงจะพูดแบบนั้น น้าแอ๊ดเป็นยาจกเหรอ จะรบกับนายทุน แล้วน้าแอ๊ดกับเจ้าสัวเสถียรไม่ใช่นายทุนเหรอ อาจต้องมาลองไล่ดูเบื้องหลังกันหน่อยว่านอกจากการเป็นหัวหน้าวงเพื่อชีวิตอันดับหนึ่งแล้ว ในด้านธุรกิจน้าแอ๊ดถืออะไรอยู่ในมือบ้าง
คาราบาวกรุ๊ป
น้าแอ๊ดได้รู้จักกับเจ้าสัวเสถียรตั้งแต่สมัยเปิดโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงแรก ๆ ปี 2542 และในปี 2544 ได้ปรึกษาเสถียรว่าอยากทำธุรกิจเอาไว้รองรับบั้นปลายชีวิต ซึ่งตอนแรกน้าแอ๊ดอยากทำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขาย แต่เจ้าสัวเสถียรเบรกไว้ และเสนอให้ทำเครื่องดื่มชูกำลังแทน เพราะน่าจะเหมาะกับฐานแฟนเพลงของคาราบาว จึงได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัท คาราบาวตะวันแดง จำกัด ขึ้นมาในปี 2544 เพื่อผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มคาราบาวแดง พอธุรกิจเติบโตมากขึ้นก็ตัดสินใจตั้งบริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และนำเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2557 ในชื่อหุ้น CBG ปัจจุบันราคาประมาณ 63.50 บาทต่อหุ้น มี Market Cap ประมาณ 61,750 ล้านบาท น้าแอ๊ดถือหุ้นใหญ่เป็นอันดับ 3 ที่ 7.05% (ข้อมูล ณ วันที่ 9 เมษยน 2567)
ในปัจจุบัน คาราบาวกรุ๊ป ทำรายได้มหาศาลปีละเป็นหมื่นล้าน จากงบการเงินล่าสุดในปี 2566 ทำรายได้จากการขายไป 18,853 ล้านบาท กำไรกว่า 1,924 ล้านบาท
คาราบาวตะวันแดง
บริษัท คาราบาวตะวันแดง จำกัด ที่น้าแอ๊ดร่วมก่อตั้ง ปัจจุบันเป็นหนึ่งในบริษัทย่อยของคาราบาวกรุ๊ป ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มหลากหลาย ทั้งเครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มชูกำลังอัดก๊าซ เครื่องดื่มเกลือแร่ เครื่องดื่มวิตามินซี กาแฟ และน้ำดื่ม รายได้รวมปี 2565 12,234 ล้านบาท กำไรกว่า 1,323 ล้านบาท
ตะวันแดง ดีซีเอ็ม
บริษัท ตะวันแดง ดีซีเอ็ม จำกัด คืออีกหนึ่งบริษัทย่อยในเครือคาราบาวกรุ๊ป บริหารจัดการช่องทางการจัดจำหน่ายสำหรับธุรกิจในประเทศ ครอบคลุมทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้าที่กลุ่มบริษัทฯ เป็นเจ้าของ และรับจ้างจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้บุคคลภายนอกด้วย ปี 2565 มีรายได้รวมกว่า 11,628 ล้านบาท กำไรกว่า 195 ล้านบาท
เอเชียแปซิฟิกกลาส
บริษัท เอเชียแปซิฟิกกลาส จำกัด อีกหนึ่งบริษัทย่อยในเครือ ประกอบธุรกิจผลิตและจัดหาขวดแก้วเพื่อใช้เป็นบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มบำรุงกำลังและเครื่องดื่มอื่น ๆ รายได้รวมปี 2565 กว่า 2,188 ล้านบาท กำไรกว่า 496 ล้านบาท
มองโกล
นอกจากบริษัทในเครือคาราบาวกรุ๊ปแล้ว น้าแอ๊ดยังมีธุรกิจครอบครัวอย่าง บริษัท มองโกล จำกัด ผลิตและขายเทปบันทึกเสียง แผ่นซีดี แผ่นวีซีดีประพันธ์บทเพลง จดทะเบียนมาตั้งแต่ปี 2544 รายได้รวมปี 2565 กว่า 19 ล้านบาท กำไร 463,777 บาท
และจากคำพูดของน้าแอ๊ดที่ว่า “ลงทุนโรงเหล้าโรงเบียร์ไป 8,000 กว่าล้าน มีเงินผมด้วย” ก็น่าจะหมายถึงว่าน้าแอ๊ดเองก็ได้เสียจากบริษัท ตะวันแดง 1999 จำกัด ที่ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งรวมถึงเบียร์คาราบาวและเบียร์ตะวันแดงด้วยเช่นกัน
รวม ๆ แล้วน้าแอ๊ดมีมูลค่าทรัพย์สินกว่า 5,000 ล้านบาท บอกเลยว่าระดับนี้เรียกยาจกไม่ได้แล้ว และถ้าจะเรียกเจ้าสัวหรือนายทุนอีกคน ก็คงไม่ผิดอะไร
ทั้งนี้อย่างไรการเข้ามาชิงส่วนแบ่งในตลาดเบียร์ไทยก็เป็นความท้าทายสูงสำหรับเจ้าสัวเสถียรและน้าแอ๊ด เพราะมีมูลค่ารวมกว่า 2.6 แสนล้านบาท และสองบริษัทใหญ่อย่างบุญรอดบริวเวอรี่ และ ไทยเบฟเวอเรจ เองก็ครองส่วนแบ่งกว่า 95% แล้ว ความหวังที่จะชิงมาได้ 10% ในปี 2567 ของตะวันแดงคงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ 10% ที่ว่าก็คิดเป็นมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้าน ใหญ่กว่าตลาดเครื่องดื่มชูกำลังที่คาราบาวกรุ๊ปคุ้นเคยเสียอีก
ถึงอย่างนั้นเจ้าสัวเสถียรก็ยังยืนยันว่า “เรายังคงตั้งความหวังส่วนแบ่ง 10% ในปี 2567 ถ้าไม่ได้ ปีหน้าเราก็จะเอาให้ได้” ซึ่งดูจากประวัติการท้าชนทั้งในหลากหลายตลาดของเจ้าสัวเสถียรแล้ว ก็มีความเป็นไปได้อยู่ ส่วนการไปต่อในวงการดนตรีของน้าแอ๊ดจะช่วยได้มากน้อยแค่ไหนคงต้องรอติดตาม