ใครที่ชอบดูหนังอาจพอสังเกตได้ว่า หลัง ๆ มาเราได้ดูหนังที่หลากหลายขึ้น รวมถึงหนังดีนอกกระแสต่าง ๆ ก็ถูกนำเข้ามาฉายในไทยมากขึ้นกว่าเมื่อก่อนด้วย จากเดิมที่ต่อให้เป็นหนังรางวัล หนังดีอย่างไร ก็หาดูได้ยาก ทุกวันนี้มีโอกาสเข้าถึงง่ายมากขึ้น จากการที่ค่ายผลิตหนังไทย เริ่มหันมาสนใจโมเดลธุรกิจ “ซื้อหนังเข้ามาฉาย” มากขึ้น
เดิมทีหนังใหญ่ที่เข้าไทยจะถูกนำเข้ามาฉายและจัดจำหน่ายโดยค่ายหนังยักษ์ใหญ่อย่าง Waner Bros., Sony ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นหนัง Blockbuster ที่ฮิตติดกระแสระดับโลกอยู่แล้ว รับประกันว่าคนอยากดู ขายได้ดีในระดับหนึ่ง เป็นสูตรสำเร็จ ในขณะเดียวกัน ภาพยนตร์นอกเหนือจากที่ค่ายหนังใหญ่นำเข้ามาแล้วก็จะมีแอปสตรีมมิงต่าง ๆ นำเข้ามาแปลเป็นคอนเทนต์เผยแพร่ในไทย ที่ช่วยให้เราเข้าถึงหนังที่หลากหลายมากขึ้น
แต่ถ้าในระดับฉายโรง หนังเล็ก ๆ หนังอินดี้ หรือหนังนอกกระแสที่แม้จะดีแค่ไหน ชนะมากี่รางวัล คำวิจารณ์ดีอย่างไร ก็มักจะไม่ค่อยมีโอกาสได้มา(เฉิด)ฉายในบ้านเรานัก แม้ว่าจริง ๆ แล้วในไทยจะมีผู้นำเข้าหนังประกวดสายรางวัลอยู่เยอะ แต่นั้นก็ยังไม่มากพอ และหนังดี ๆ ยังตกหล่นหลายเรื่อง
แต่สิ่งเหล่านี้กำลังเปลี่ยนไป เพราะค่ายภาพยนตร์ที่ซื้อหนังเข้ามาฉายนั้นกำลังมีมากขึ้น
ปัจจัยสำคัญที่เริ่มดึงดูดค่ายหนังไทยให้เริ่มซื้อลิขสิทธิ์หนังเข้ามาฉายโรงอาจเป็นเพราะในช่วง 2-3 ปีมานี้ หนังจากสตูดิโอเล็ก ๆ เริ่มประสบความสำเร็จมากขึ้น ซึ่งเป็นหนังที่ซื้อได้ในราคาไม่แพง และสร้างกำไรได้มาก ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ หนังจากค่าย A24 ที่หนังของเขามาแรงขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่หลายปีก่อน และจุดพลุใหญ่ปลุกกระแสได้เมื่อ ‘Everything Everywhere All at Once (2022)’ ชนะออสการ์ถึง 7 สาขา
แต่ถึงอย่างนั้นหนังของค่ายก็ไม่มีรายใหญ่เจ้าไหนซื้อไป
ซึ่งนั่นก็ดันไปเข้ามือ Out of the Box บริษัทลูกของ GDH ที่สร้างขึ้นมาเพื่อจัดจำหน่ายโดยเฉพาะ ด้วยความต้องการเติบโตมากกว่าแค่ผู้สร้างหนัง ซึ่งเรื่องแรกที่ถูกซื้อเข้ามาฉายคือ ‘Past Live (2023)’ หนังโรแมนซ์/ดราม่า ที่เล่าเรื่องราวของ 2 เพื่อนรักวัยเด็กที่ต้องห่างหายและแยกย้ายกันไปเติบโต และกลับมาพบกันอีกครั้ง
และไม่ใช่แค่ GDH เท่านั้นที่หันมาสนใจหนังนอกกระแส แต่อีกค่ายหนัง 100 ล้าน มาแรงอย่าง เนรมิตรหนัง ฟิล์ม ก็ได้คว้าหนังดีจาก A24 เข้ามาฉายในไทยผ่าน ฉายแสง แอด.เวนเจอร์ ซึ่งก็ได้หนังที่สร้างจากเรื่องจริงอย่าง ‘Dream Scenario’ มาฉายเมื่อปลายปีก่อนด้วย
โดยโมเดลธุรกิจนี้ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีสร้างรายได้ชั้นดีที่ Win ทั้งคนดู Win ทั้งค่าย เพราะถ้าสตรีมมิงหรือโรงไหนอยากได้หนังเหล่านี้ไปฉายล่ะก็ ต้องซื้อผ่านทางค่ายอีกที ซึ่งกลุ่มลูกค้าก็จะเป็นสตรีมมิงอย่าง Netflix หรือ Prime Video นี่แหละครับ ที่เขารอรับต่อหลังฉายโรงเสร็จ
อีกปัจจัยที่หนุนให้หนังนอกกระแสจากนอกโตได้ในไทย เพราะซีเนไฟล์ หรือนักดูหนังแบบเอาจริงเอาจังในบ้านเราเยอะขึ้น และได้รับการซัพพอร์ตอย่างดีจาก Art House ต่าง ๆ ที่คอยหนุนวัฒนธรรมการเสพหนังนอกกระแสอยู่เสมอ ที่รู้จักกันดีคือ House Samyan และ Doc Club & Pub ที่คอยเอาหนังรางวัลจากเทศกาลต่าง ๆ เข้ามาฉายให้คอหนังดูเป็นประจำ
ซึ่งแม้ว่าหนังเหล่านี้จะไม่ได้มีกลุ่มผู้ชมที่กว้าง แต่เขาเสพกันอย่างเหนียวแน่น เพราะในขณะที่หนัง Box Office จาก Hollywood หรือหนัง 100 ล้านของไทย ยืนโรงเต็มที่ก็ 2-3 เดือน หนังนอกกระแสเหล่านี้กลับยืนโรงเล็ก ๆ ได้นานครึ่งปี อย่างเช่นกรณีของหนัง ‘Drive My Car (2021)’ ที่ยืนโรงต่อเนื่องนาน 6 เดือน ไม่รวมรอบพิเศษที่เอากลับมาฉายซ้ำ
ทั้งโมเดลธุรกิจที่เติบโตของค่ายผลิตหนัง และความนิยมของกลุ่มคอหนังที่ได้รับการตอบสนองมากขึ้น ล้วนเป็นผลให้คนไทยมีโอกาสได้เปิดหูเปิดตาชมหนังที่หลากหลาย และเปลี่ยนรสชาติการเสพหนังแบบเดิม ๆ ไป เรียกได้ว่าเป็นกำไรคนดูอย่างแท้จริง
ซึ่งล่าสุดก็มีหนังที่ Out of the Box by GDH นำเข้ามาอย่าง ‘Blue Giant (2023)’ อนิเมชั่นเล่าชีวิตของนักดนตรีแจ๊สที่จะบันดาลใจให้ผู้ชม แม้คุณจะไม่ใช่นักดนตรีก็ตาม ที่เข้าฉายแล้ววันนี้ในโรงภาพยนตร์
ที่มา: https://thestandard.co/blue-giant/