ในวงการถ่ายภาพ การถ่ายภาพด้วย “กล้องฟิล์ม” นับว่าเป็นเสน่ห์สุดคลาสสิกอย่างหนึ่งในปัจจุบัน
แต่ครั้งหนึ่งในวันวานอย่างยุค 90s คือช่วงเวลาที่กล้องฟิล์มอนาล็อกได้รับความนิยมสูงมาก ก่อนที่ช่วงเวลานั้นจะพ้นผ่านไปอย่างรวดเร็วในการเปลี่ยนผ่านสู่ “กล้องดิจิทัล”
ในช่วงต้นปี 2000s และนั่นก็นำไปสู่การล่มสลายของยักษ์ใหญ่วงการกล้องฟิล์มอย่าง ‘Kodak’ และการเกิดใหม่อีกครั้งสู่ผู้ผลิตฟิล์มหนัง IMAX ที่หนังฟอร์มยักษ์อย่าง ‘Oppenhimer’ เลือกใช้
ลำดับ 1st สู่อันดับ 1st
Kodak มีต้นกำเนิดมาจากชาวอเมริกันชื่อ ‘จอร์จ อีสต์แมน (George Eastman)’ ได้คิดค้นการถ่ายภาพฟิล์มโดยใช้แผ่นเจลาติน
ซึ่งเขาได้เริ่มผลิตและจำหน่ายตั้งแต่ช่วงต้น 1880s ในชื่อ ‘Eastman Dry Plate Company’
เขาได้พัฒนาฟิล์มต่อมาเรื่อย ๆ และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น ‘Kodak’ ในปี 1888 พร้อมจำหน่ายกล้องฟิล์มของแบรนด์ครั้งแรก ด้วยสโลแกน “You press the button – we do the rest.”
และยังมีบริการล้างฟิล์ม อัดรูปลงกระดาษ ทำให้ Kodak ทำรายได้จากการจำหน่ายฟิล์มรูปอย่างมหาศาล
จนมาช่วงปลายศตวรรษที่ 20 Kodak ครองส่วนแบ่งตลาดราว 85% ในตลาดกล้อง และกว่า 90% ในตลาดฟิล์ม ซึ่งมีเพียงคู่แข่งอย่าง ‘Fuji’ เท่านั้นที่พอฟัดพอเหวี่ยงกันมาตลอด
ทำได้…แต่ไม่ทำ
ในยุคที่กล้องฟิล์มรุ่งเรือง ก็เป็นจังหวะเดียวกับที่เทคโนโลยีกำลังก้าวไปข้างหน้า Kodak ได้มอบหมายให้วิศวกรหนุ่มไฟแรงอย่าง ‘สตีเฟน แซสสัน (Steven Sasson)’ ศึกษาการใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์ถ่ายเทประจุ (charge-coupled device – CCD) ซึ่งเขาก็ทำได้มากกว่าที่คิด ประดิษฐ์กล้องดิจิทัลตัวแรกของโลกขึ้นมาในปี 1975
แม้จะเป็นนวัตกรรมที่จะเข้ามาเปลี่ยนการถ่ายภาพ และยกระดับไปอีกขั้น แต่นั่นกลับไปใช่สิ่งที่ Kodak ชอบใจ
ทางผู้บริหารสั่งให้สตีเฟนเก็บเงียบเรื่องกล้องดิจิทัล และนำเอานวัตกรรมที่ได้มาปรับใช้กับการขยายภาพและพิมพ์ภาพแทน
อย่างไรก็ตาม Kodak ได้จดสิทธิบัตรกล้องดิจิทัลไว้ในปี 1978 แต่ก็ไม่ได้พัฒนาอย่างจริงจัง เพราะการถ่ายภาพดิจิทัลนั้นไม่ต้องใช้ฟิล์ม นั่นหมายความว่า Kodak ก็จะไม่สามารถทำเงินจากการขายฟิล์มที่เป็นแหล่างรายได้หลักได้อีกต่อไป
สะดุดขาตัวเอง
ในขณะที่ Kodak เลือกจะกั๊กเรื่องกล้องดิจิทัลเอาไว้ก่อน แน่นอนว่าเจ้าอื่นเขาไม่รอ ‘Canon’ ‘Nikon’ และ ‘Sony’ แบรนด์กล้องและเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างพากันเริ่มพัฒนาและวางจำหน่ายกล้องดิจิทัลของตัวเองอย่างคึกคัก จนกล้องดิจิทัลเริ่มมาชิงส่วนแบ่งตลาดกล้องเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
Kodak ยังคงยึดติดกับฟิล์มและพยายามขายไอเดียที่ว่า “ภาพฟิล์มมีเสน่ห์กว่า” แต่พอเห็นท่าไม่ดี จึงตัดสินใจทำกล้องดิจิทัลของตัวเองออกมาขายบ้างในปี 1991
และจากที่ปิดปากสตีเฟนเงียบมาตลอด ก็เริ่มให้เขาออกมาให้สัมภาษณ์ถึงกล้องดิจิทัลที่เขาคิดค้นมากขึ้น หวังสร้างภาพจำว่า “ฉันคือเจ้าแรก”
แต่ก็เหมือนว่านั่นจะไม่เป็นผล เพราะเจ้าอื่นที่รุดหน้ามาเต็มตัวแล้ว กล้องดิจิทัลของ Kodak ไม่ได้สร้างกำไรได้อย่างที่หวัง ในขณะเดียวกันฟิล์มก็ได้รับความนิยมลดลงจนแทบขายไม่ได้
ยักษ์ล้ม
หลังจากเผชิญปัญหาการแทรกแซงจากนวัตกรรมของตัวเองมาสักพัก ช่วงปี 2005 อุตสาหกรรมกล้องฟิล์ม เรียกว่า “ตาย” ได้อย่างเต็มปาก เพราะเหลือเพียงแค่กลุ่มคนไม่มากที่ยังหลงใหลในเสน่ห์ของภาพฟิล์มอยู่
จนมาในปี 2007 สิทธิบัตรกล้องดิจิทัลของ Kodak หมดอายุลง ในจังหวะเดียวกัน โลกก็ก้าวไกลไปถึงขนาดที่กล้องบนโทรศัพท์มือถือเริ่มมีศักยภาพมากพอจะเข้ามาแทนกล้องดิจิทัลแบบคอมแพ็กต์ได้
นั่นทำให้ในปี 2012 Kodak ต้องยื่นล้มละลายเพื่อขอฟื้นฟูธุรกิจ และถูกกดดันให้ต้องขายสิทธิบัตรในมือหลายรายการ
นี่อาจเป็นฉากจบที่หลายคนคุ้นเคย จากการได้ยินการยกเคส Kodak มาเป็นตัวอย่างถึงความล้มเหลวในการรับมืออนาคตที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว แต่เรื่องราวของ Kodak ไม่สิ้นสุดอยู่เพียงเท่านั้น
ฟื้นตัวเร็ว
ถึงแม้จะเพิ่งเจ็บไปหมาด ๆ แต่ Kodak ก็พ้นจากการล้มละลายภายใน 1 ปี ด้วยธุรกิจรากเหง้าอย่างการพิมพ์ ฟิล์มภาพยนตร์ และเคมีภัณฑ์
ในปี 2019 ก็มีการออกเหรียญ ‘Kodakcoin” ตามกระแสเงินดิจิทัล จนมาในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็เปิดธุรกิจเวชภัณฑ์ภายใต้การสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐด้วย และยังได้กลับมาผลิตฟิล์มถ่ายรูปอีกครั้งรับกระแสการกลับมาของกล้องฟิล์มที่เร่มได้รับความนิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่สายติส เรียกได้ว่า “อะไรที่เป็นการลงทุน ผมเอาหมด”
ฟิล์มหนังแห่ง Hollywood
ธุรกิจที่รุ่งโรจน์มาก ๆ ของ Kodak ในปัจจุบันคือ ฟิล์มภาพยนตร์ ในยุคที่ผู้สร้างหนังหลายรายในวงการใหญ่อย่าง Hollywood เลือกถ่ายหนังด้วยฟิล์ม โดยเฉพาะให้รองรับการฉายแบบ IMAX ทำให้ฟิล์มหนังของ Kodak ยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะฟิล์ม 16 มม. ที่ใช้ถ่ายหนังรางวัลมาหลายเรื่อง
จริง ๆ แล้ว Kodak ผลิตฟิล์มหนังมายาวนานตั้งแต่ยุค 1920s แต่ในปัจจุบันนี้คู่แข่งตัวตึงอย่าง Fuji ได้ถอนตัวจากวงการหนังไปตั้งแต่ปี 2013 ทำให้ Kodak เหลือเป็นซัปพลายเออร์หลักของ Hollywood
ซึ่งล่าสุด Kodak ก็ได้แสดงความเก๋าควบคู่ไปกับ “เสด็จพ่อโนแลน” หรือ ‘คริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan)’ ในภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เรื่องล่าสุดของเขาอย่าง ‘Oppenhimer’ ที่โนแลนเล่าสองเส้นเรื่องในรูปแบบสีและขาวดำ
ซึ่งผู้กำกับภาพอย่าง ‘โฮยเตอ ฟัน โฮยเตอมา (Hoyte van Hoytema)’ ผู้กำกับภาพคิดว่าเดี๋ยวก็คงเอาภาพไปทำขาวดำในขั้นตอนหลังถ่ายทำ
แต่กลายเป็นว่า “เสด็จพ่อฯ” ต้องการถ่ายด้วยฟิล์มขาวดำตั้งแต่แรก เลยเดือดร้อนถึง Kodak ที่ต้องสร้างฟิล์มขาวดำขนาด 65 มม. รุ่น Double-X ขึ้นมาเป็นพิเศษสำหรับหนังเรื่องนี้โดยเฉพาะ
นับว่าเป็นฟิล์มขาวดำรุ่นแรกที่ใช้กับ IMAX ก็แน่ล่ะ เพราะกว่าจะมาถึงยุค IMAX ก็แทบไม่มีหนังเรื่องไหนถ่ายขาวดำแล้ว แต่ก็ถือว่าได้สร้างตำนานไปพร้อมกับหนังเลย
จะเห็นได้ว่า Kodak คือหนึ่งธุรกิจที่ผ่านจุดสูงสุดต่ำสุดมาแล้วในช่วงระยะเวลาร้อยกว่าปี ซึ่งมันมอบบทเรียนที่สำคัญให้กับ Kodak ว่าการเป็นคนแรกไม่ได้ช่วยอะไรถ้าไม่รู้จักไขว่คว้าโอกาส และไม่ควรยึดติดอยู่กับความสำเร็จเดิม ๆ ในวันที่โลกเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทุกวันนี้ Kodak หาพื้นที่ในตลาดให้ตัวเองได้อีกครั้ง และยังคงเติบโตต่อไปในเส้นทางของธุรกิจที่หลากหลาย แต่ยังไว้ลายด้วยความแข็งแกร่งในธุรกิจฟิล์ม
https://marketeeronline.co/archives/178501…
https://www.kodak.com/en/company/page/milestones/
https://www.techmoblog.com/first-digital-camera/
https://www.kodak.com/en/motion/page/kodak-film-awards
https://www.indiewire.com/…/oppenheimer-cinematography…/