ทุกวันนี้ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดมีให้เห็นอยู่ทั่วไป และกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของใครหลายคนไปแล้ว
ไม่ว่าจะเป็นเบอร์เกอร์ พิซซ่า ทาโก้ หรือไก่ทอด ซึ่งก็มักจะเสิร์ฟคู่กับน้ำอัดลมหลากรสชาติ รวมถึงโคล่าที่ขาดไม่ได้ แต่สังเกตกันไหมครับว่าบางร้านจะมีแค่ Pepsi และบางร้านก็มีแต่ Coca-Cola (Coke)
นั่นก็เพราะว่าแต่ละร้านมีพาร์ตเนอร์คนละเจ้ากันโดยสิ้นเชิง ร้านไหนดีลกับ Coke แล้วก็จะไม่เสิร์ฟ Pepsi
และที่แน่นอนกว่าคือ ร้านไหนที่มีดีลกับ Pepsi จะไม่มีทางเสิร์ฟ Coke และเป็นที่รู้กันได้เลยว่านั่นคือร้านภายใต้เครือร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Yum Brands ที่เกิดขึ้นมาจากสงครามโคล่าระหว่าง Pepsi และ Coca-Cola
แล้วสงครามโคล่าทำให้เกิดเครือร้านอาหารที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้อย่างไร
เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าโคล่าแบรนด์แรกของโลกคือ Coca-Cola ที่เริ่มจำหน่ายตั้งแต่ปี 1886 ซึ่งก็ครองใจผู้บริโภคทั่วโลกได้ และ Pepsi คือผู้เล่นที่กระโดดเข้ามาในวงการนี้ทีหลังในปี 1893 ขายเครื่องดื่มโคล่าเหมือนกัน และทำให้สงครามระหว่างสองแบรนด์ปะทุขึ้นตั้งแต่นั้นมา
ตลอดการแข่งขันในตลาดน้ำอัดลม ทั้งสองซัดกันไปมาด้วยการตลาดและการโฆษณาเป็นหลัก แต่ในภาพรวมแล้ว Coca-Cola ทำได้ดีกว่ามาก และยังมีแต้มต่อจากการเป็นเจ้าแรก ทำให้ยังเป็นผู้นำอยู่เสมอ
ในขณะที่ Pepsi เองประกาศล้มละลายถึงสองครั้ง และถึงกับยอมแพ้ เสนอขายบริษัทให้ Coca-Cola ในสองครั้งนั้นด้วย ซึ่งทางอันดับหนึ่งก็ไม่ได้สนใจแต่อย่างใด และปฏิเสธไปทั้งสองรอบ
ในตอนนั้นร้านอาหารส่วนใหญ่เลือกเสิร์ฟ Coca-Cola ในร้าน ซึ่งมีผลสำคัญต่อยอดขายและการสร้างความคุ้นเคยให้กับผู้บริโภค ทำให้ Pepsi เองสู้ยากขึ้นไปอีก แต่ Pepsi ก็เล็งเห็นโอกาสสำคัญในธุรกิจอาหาร
Pepsi คิดว่า แทนที่จะดันทุรังแข่งกับ Coca-Cola ในตลาดน้ำอัดลมเพียงอย่างเดียว ซึ่งฝั่งนั้นได้เปรียบมาก ทำไมไม่มาแข่งในธุรกิจร้านอาหาร ที่ผู้คนมักจะดื่มน้ำอัดลมเป็นประจำอยู่แล้วล่ะ
และแทนที่จะทุ่มเงินไปกับการตลาดและการโฆษณาแพง ๆ ให้ร้านอาหารอยากจะเอา Pepsi มาเสิร์ฟแทน Coke ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะได้ผลไหม ก็เลือกที่จะเอาเงินมาซื้อร้านอาหาร และให้เสิร์ฟ Pepsi ในร้านเสียเลย แบบนี้ชัวร์กว่าเยอะ
Pepsi จึงเริ่มก้าวเข้าสู่ธุรกิจอาหารด้วยการซื้อ Pizza Hut ในปี 1977 ซื้อ Taco Bell ในอีกหนึ่งปีให้หลัง และซื้อ KFC ในปี 1986 ซึ่งถือเป็น 3 เฟรนไชส์หลักมาจนถึงทุกวันนี้ และให้ร้านอาหารเหล่านี้ที่มีฐานลูกค้ามากมายเสิร์ฟ Pepsi ให้กับลูกค้า รวมถึงแบรนด์อื่น ๆ ที่ได้ซื้อเข้ามาในภายหลังด้วย
เข้ามาลุยในธุรกิจอาหารได้ 20 ปี Pepsi ก็เริ่มมีวิสัยทัศน์และแนวทางที่เปลี่ยนไป ตัดสินใจแยกบริษัทสำหรับเครือร้านอาหารออกมาต่างหาก แม้ว่ากำลังไปได้สวยก็ตาม เนื่องจากต้องการโฟกัสกับเครื่องดื่มของตัวเองให้มากที่สุด บวกกับเทรนด์ในการลงทุนที่เปลี่ยนไป
จากเดิมในช่วง 60s-70s นักลงทุนเลือกลงทุนในหุ้นบริษัทที่เอาเงินไปใช้กับหลากหลายธุรกิจเพื่อกระจายความเสี่ยง เพิ่มความมั่นคงให้กับพอร์ต แต่ในช่วงยุค 90s เทรนด์เริ่มเปลี่ยน นักลงทุนไม่สนใจเรื่องความมั่นคงและความเสี่ยงของพอร์ตนัก แต่เน้นผลตอบแทนเน้น ๆ มากกว่า สอดคล้องกับข้อมูลจากนักวิเคราะห์ที่บอกว่าบริษัทที่โฟกัสกับไลน์สินค้าที่น้อยกว่า ทำกำไรได้สูงกว่าบริษัทที่มีหลากหลายผลิตภัณฑ์ซึ่งมีความเกี่ยวข้องเพียงน้อยนิดกับสินค้าหลักของธุรกิจ
ทำให้เกิดแบรนด์ spin-off ของ PepsiCo ชื่อ Tricon Global Restaurants ในปี 1997 และยังคงเติบโตในธุรกิจร้านอาหารอย่างแข็งแรง มีการร่วมมือทำร้านอาหารแบบต่างแบรนด์ขายที่เดียวกันกับ Yorkshire Global Restaurants ที่ถือครอง A&W และ John Silver’s
จนในที่สุดก็ตัดสินใจควบรวมกันในปี 2002 และเกิดเป็น Yum Brands ขึ้นมาในที่สุด เป็นผลให้ทั้ง A&W และ John Silver’s ที่เคยเสิร์ฟ Coca-Cola เปลี่ยนมาเสิร์ฟ Pepsi ด้วยในเวลาต่อมา
แต่รวบดีลมาได้ไม่นาน ปี 2011 Yum Brands ก็ประกาศลอยแพ A&W และ John Silver’s เนื่องจากยอดขายไม่ค่อยดี และอยากหันไปโฟกัสกับ 3 ลูกรักอย่าง KFC, Pizza Hut, และ Taco Bell มากกว่า (เปลี่ยนโฟกัสอีกแล้วนะ)
ขายสิทธิ์ของเฟรนไชส์ให้กับ A Great American Brand ดูแลสาขาในสหรัฐอเมริกาและต่างประเทศ ส่วนในไทยมี Global Consumer เป็นผู้ดูแล แต่ก็พ่ายแพ้ไปในช่วงโควิด ขาดทุนหนักจนต้องขายทิ้งในที่สุด
ในขณะเดียวกัน Yum Brands ต้องประสบปัญหาการดำเนินธุรกิจในจีน เพราะมีปัญหาเรื่องสารปนเปื้อนและการขนส่งจากซัปพลายเออร์หลายต่อหลายครั้ง รวมถึงเทรนด์ของผู้บริโภคชาวจีนที่มีจำนวนมากเปลี่ยนไปอยู่ตลอด จึงตัดสินใจว่าเป็นการดีกว่าที่จะ spin-off แบรนด์ออกมาเป็น Yum China ในปี 2015 และดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2016 (spin-off เก่งจริง ๆ )
ดูเหมือนว่าการตัดสินใจแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาของ Yum Brands เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องและได้ผลดี ปัจจุบันนี้ Yum Brand เติบโตขึ้นมาเป็นเครือร้านอาหารอันดับหนึ่งของโลก มีร้านอาหารในเครือกว่า 55,000 ร้าน ใน 155 ประเทศทั่วโลก และทำรายได้มหาศาล ปี 2022 ทำรายได้ทั่วโลก (ยกเว้นในจีน) ไปกว่า 6,840 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จนเรียกได้ว่าเป็นธุรกิจที่แข็งแกร่งมาก ๆ
แม้ว่า Yum Brands จะมีต้นกำเนิดจากสงครามโคล่า ที่ปัจจุบัน Pepsi เองก็ยังไม่สามารถเอาชนะ Coca-Cola ได้ แต่ธุรกิจ spin-off นี้ก็สามารถเติบโตได้ดีและยืนหนึ่งได้ในอุสาหกรรมร้านอาหารทั่วโลก เป็นผลจากการตัดสินใจแก้ปัญหาที่ชาญฉลาดและทันท่วงทีตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา
https://www.washingtonpost.com/…/a8232eca-9774-4355…/
https://www.zippia.com/yum-brands-careers-13061/history/
https://www.marketingdive.com/…/coke-vs-pepsi…/621711/
https://eightify.app/…/pepsi-s-downfall-unveiling-the….