หลังจากที่เราได้บอกลาปี 2023 กันไปแล้ว ในช่วงนี้หลายคนก็คงได้ตั้งปนิธานเพื่อการเริ่มต้นปีใหม่อย่างมีเป้าหมายสู่สิ่งดี ๆ ในปีนี้กันแล้ว
และหนึ่งในปณิธานปีใหม่ยอดนิยมคือ “การเก็บเงิน” ไม่ว่าจะเพื่อไว้ซื้อของ ดาวน์รถ ดาวน์บ้าน หรือเพื่อความมั่งคั่ง ก็นับว่าเป็นเป้าหมายที่ท้าทายใช่เล่น เพราะใช้เงินน่ะ มันง่ายกว่าหาหรือเก็บเยอะ
เพราะฉะนั้นวันนี้ Connect the Dots จึงอยากจะมาแบ่งปันวิธีการเก็บเงินให้ได้ตามเป้าใน 1 ปี ด้วยเคล็ดไม่ลับดี ๆ จาก Make by Kbank
1.ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน
ก่อนจะเริ่มเก็บได้เราก็ต้องมาตั้งเป้าให้ชัดเจนก่อน นั่นจะช่วยให้เราเข้าใจเป้าหมายของตัวเองได้ดีและทำตามได้ง่ายขึ้น เชื่อว่าหลายคนจะเก็บเงินก้อนทั้งปีก็คงอยากได้เป้าใหญ่ ๆ อย่างเงินแสนหรือเงินล้าน เพราะเงินหมื่นรับกันเป็นรายได้ทุกเดือนอยู่แล้ว แต่จริง ๆ เป้าหมายที่ใหญ่เกินไปอาจเป็นการกดดันตัวเอง และทำให้ถอดใจได้ง่าย ส่วนเงินหมื่นที่เรามองข้ามเพราะเป็นรายได้ประจำ ก็อย่าลืมว่านั่นไม่ใช่เงินที่เราเก็บ แต่เป็นเงินที่เราก็ต้องใช้
เพราะฉะนั้นการตั้งเป้าเงินหมื่นก็ไม่แย่หรอก อีกทั้งการตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ ที่ทำให้สำเร็จได้ จะกลายเป็นกำลังใจสำคัญ และพื้นฐานให้เราต่อยอดสะสมจนทำเป้าหมายใหญ่ให้สำเร็จได้ในอนาคต
และถ้าใครไม่รู้ว่าควรตั้งเป้าเป็นเงินเท่าไรจึงจะเหมาะสมละก็ ทาง Make เขาก็แนะนำสูตรรายได้ 10% เอาไว้ด้วย นั่นคือการเอารายได้ต่อปีมาคูณด้วย 10% ก็จะได้เป้าหมายการเก็บเงินของเรา เช่น รายได้เดือนละ 25,000 บาท 1 ปี คือ 300,000 บาท นำ 300,000 * 10% = 30,000 บาท คือเป้าหมายการเก็บเงินในสูตรนี้ เมื่อนำมาเฉลี่ยจะต้องเก็บเดือนละ 2,500 บาทจึงจะได้ตามเป้า
ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่จำนวนที่มากนัก แต่ก็นับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี ทั้งนี้ก็อาจเพิ่มลด % ให้เหมาะสมตามรายได้และภาระทางการเงินของแต่ละคน เพราะถ้าตึงเกินไปก็จะลำบาก แต่ถ้าง่ายเกินไป เดี๋ยวก็ไม่สนุกกันพอดี
2.ใช้ตารางออมเงิน
เมื่อได้เป้าหมายที่ชัดเจนแล้วก็ลองใช้ตัวช่วยการออมง่าย ๆ อย่างตารางออมเงิน ลองหารแบ่งดูว่าถ้าจะไปถึงยอดนี้ ในแต่ละวัน สัปดาห์ หรือเดือน เราควรเก็บให้ได้เท่าไร แต่ที่ทาง Make เขาแนะนำมา ก็ซอยถี่เป็นวันเลย เพื่อให้ออมจนเป็นนิสัย ซึ่งตารางออมเงินก็มีหลากหลายรูปแบบให้เลือกใช้ทั่วไปบนอินเทอร์เน็ต ทั้งแบบไม่ระบุจำนวนเงิน หรือระบุจำนวนเงินออมแบบคงที่ และแบบที่ต้องออมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อผ่านไประยะเวลาหนึ่ง โดยคุณอาจเลือกใช้รูปแบบที่ Make เขาทำเอาไว้ก็ได้ ถือว่าสะดวกดี
อย่างเป้าหมายที่ได้ยกตัวอย่างไว้เดือนละ 2,500 ก็อาจออมวันละ 83 หรือ 84 บาทสลับกันไป วันไหนเก็บแล้วก็ขีดค่าเอาไว้ เมื่อมองดูในแต่ละวันก็ยังช่วยเดือนใจให้รู้อีกด้วยว่าเรามาไกลแค่ไหนแล้ว ทำไปแบบนี้เรื่อย ๆ รู้ตัวอีกทีตอนสิ้นปีก็มีเงินหมื่นเป็นโบนัสให้ตัวเองแล้ว
3.ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย
การทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะมองข้ามไม่ได้ เพราะช่วยสะท้อนพฤติกรรมการใช้เงินที่เราอาจไม่ค่อยใส่ใจซึ่งส่งผลกับการออมของเราด้วย จะได้รู้ว่ามีค่าใช้จ่ายส่วนไหนที่เพิ่ม-ลดได้ หรือมากเกินไปแบบผิดปกติ ซึ่งถ้าการจดบันทึก สร้างตาราง หรือนั่งคำนวนเองมันไม่สะดวกสำหรับคุณล่ะก็ ทาง Make ก็มีฟีเจอร์ดี ๆ ที่พร้อมรับจบเลย ทั้ง Expense Summary และ Cloud Pocket เพียงแค่เรานำเงินฝากเข้าไปในแอป สร้าง Cloud Pocket และใช้จ่ายผ่านแอป ก็จะได้บัญชีรายรับ-รายจ่ายง่าย ๆ แบบอัตโนมัติ
4.หักออมทันทีที่มีเงินเข้า
ตอนเด็ก ๆ เรามักคุ้นชินกับการที่เงินเหลือใช้ก็ค่อยเอามาหยอดกระปุก แต่ในวัยที่ค่าใช้จ่ายไม่ปราณีเราอาจต้องเปลี่ยนวิธีการสักหน่อย แทนที่จะเอาเงินเก็บของเราไปเสี่ยงกับภาระค่าใช้จ่ายในแต่ละวันแต่ละเดือน และอาจหลงลืมการออมในท้ายที่สุด ลองแบ่งเอาไว้ตั้งแต่วันแรกที่มีรายรับเข้ามาก่อนเลยอาจจะปลอดภัยกว่า นอกจากจะการันตีได้ว่ายังไงเดือนนี้ก็ได้เก็บแล้ว ยังช่วยให้เราควบคุมค่าใช้จ่ายของตัวเองไม่ให้บานปลายอีกด้วย
5.ปิดหนี้ให้ไว สบายใจกว่า
หากใครที่ยังมีหนี้ค้างอยู่ไม่ว่าจะมาจากสาเหตุใดล่ะก็ การพยายามปิดทุ่มเงินปิดหนี้ให้เร็วที่สุดเป็นแนวทางที่ดีสำหรับการไปต่อเรื่องการวางแผนการเงิน เพราะดอกเบี้ยเงินกู้สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากมากเป็นเท่าตัว ได้ดอกฝากยังไงก็ไม่สามารถหักลบดอกกู้ได้ ยิ่งปล่อยไว้นานยิ่งปิดหนี้ยาก และจะเป็นอุปสรรคต่อการออมของเราได้ แต่ถ้าใครที่ไม่มีหนี้อยู่แล้ว ก็พยายามเตือนใจตัวเองเอาไว้ และไม่สร้างหนี้จะดีที่สุดเลย
6.ลดเลี่ยงการสังสรรค์
สำหรับใครที่ไม่ใช่นักเที่ยวอาจไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าใครสายปาร์ตี้ควรลองพิจารณาไว้สักนิด เพราะการออกไปสังสรรค์กับเพื่อน ๆ ในช่วงสิ้นเดือนอาจมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 1,000 บาทในแต่ละครั้ง จะไปบ่อย หรือใช้มากใช้น้อยกว่านั้น แต่รวมทั้งปีแล้วคุณอาจจ่ายกับการสังสรรค์ไปถึงหลักหมื่นบาทเลย ทั้งนี้ก็ไม่ได้อยากจะขัดใจสายปาร์ตี้ แต่อยากให้ลองคิดดูดี ๆ ว่าทุกวันนี้ออกไปแต่ละทีจ่ายไปเท่าไร มากเกินไปไหม ลดหน่อยดีหรือเปล่า แต่ถ้าอยู่ในงบที่คิดว่าพอดีแล้ว ก็ขอชนแก้วให้การเก็บเงินของคุณเลยครับ Cheers!
7.เน้นซื้อช่วงโปร
แม้หลายอย่างในชีวิตเราจะต้องซื้อต้องใช้เป็นประจำอยู่แล้ว แต่ถ้าหากเราเลือกซื้อเก็บไว้ในช่วงลดราคาหรือจัดโปรโมชั่น ก็อาจช่วยให้เราประหยัดได้มากกว่าที่คิด หลายคนมักรอให้ของที่ต้องใช้หมดก่อนแล้วค่อยซื้อใหม่ หรือถึงคราวต้องใช้ค่อยซื้อ ซึ่งอาจไม่ได้ดีลที่คุ้มที่สุด ถ้าเป็นของที่ยังไงก็ต้องใช้ และสามารถเก็บได้นาน มีโปรเมื่อไรก็ลองซื้อเผื่อไว้ตามเหมาะสม จะช่วยประหยัดได้เยอะเลย
ส่วนการเลือกซื้อของที่ถูกกว่าแม้ไม่ใช่ช่วงโปรนั้น จริง ๆ ก็เป็นวิธีที่ไม่แย่ แต่อาจต้องแลกมาด้วยคุณภาพที่ด้อยกว่า อย่างไรก็ลองพิจารณาให้เหมาะสมกับความต้องการของตัวเองดูนะ
8.หาแหล่งรายได้เพิ่มเติม
ถ้าการลดค่าใช้จ่ายมันยาก ก็เพิ่มรายรับแทนเสียเลย เพราะในยุคที่ข้าวยากหมากแพงแบบนี้ ให้จ่ายน้อยลงบางคนก็ทำไม่ไหว แต่ในขณะเดียวกันนี่คือยุคสมัยที่ทักษะเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็สามารถสร้างรายได้เสริมให้เราได้เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นงานฟรีแลนซ์ต่าง ๆ อย่าง ทำกราฟิก แปลข้อความ ตัดต่อวิดีโอ หรือจะเริ่มขายของก็มีหลายแพลตฟอร์มให้เริ่มขายได้แบบไม่ต้องมีหน้าร้าน โอกาสมีอยู่เต็มไปหมด อยู่ที่เราจะคว้าไว้หรือเปล่า แต่ทั้งนี้เราเข้าใจดีว่าต้นทุนสำคัญอย่าง “เวลา” อาจไม่ใช่สิ่งที่หลายคนจะหามาเพิ่มได้ อย่างไรก็ลองเก็บไว้เป็นอีกทางเลือกในการเพิ่มเงินเก็บแล้วกันนะ
9.หาแหล่งเงินฝากดอกเบี้ยสูง
นอกจากการประหยัดและหารายได้เสริม อีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือ “ดอกเบี้ย” เพราะการฝากเงินแต่ละที่จะได้อัตราดอกเบี้ยไม่เท่ากัน ซึ่งพอมาคิดคำนวนกับเงินหลักหมื่นหลักแสนที่เราเก็บแล้วก็อาจมีมูลค่าต่างกันไม่น้อยเลย เพราะฉะนั้นควรพิจารณาดูว่าฝากกับธนาคารไหน หรือแอปไหนได้ดอกเบี้ยเงินฝากคุ้มที่สุด และนอกจากนี้ประเภทบัญชีก็มีผล บัญชีประเภทฝากประจำโดยทั่วไปจะได้อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าบัญชีออมทรัพย์ แต่จะติดเงื่อนไขเรื่องระยะเวลาในการถอนเงิน ซึ่งอาจจะไม่เหมาะกับบางคนที่มีแนวโน้มจะต้องใช้เงินก้อนฉุกเฉิน
ทั้งนี้ Make by Kbank ก็นับเป็นหนึ่งตัวเลือกแหล่งเงินฝากดอกเบี้ยสูง ที่ให้ผลตอบแทนถึงปีละ 1.5% ดอกเบี้ยดีไม่แพ้ฝากประจำเลยแหละ
10.ออมด้วย Make by Kbank
เอาจริงข้อนี้ก็ Optional แต่ทางเราขอแนะนำเลย เพราะจริง ๆ แล้ว Make by Kbank ใช้งานสะดวกมาก และยังมีฟีเจอร์ที่โดดเด่นอย่าง Cloud Pocket ที่ช่วยให้เราแบ่งกระเป๋าใช้จ่ายสำหรับค่าใช้จ่ายแต่ละประเภท และยังเป็นกระเป๋าแบ่งเก็บได้ด้วย สามารถตั้งโอนเงินอัตโนมัติเพื่อให้เราหักรายได้มาเก็บออมไว้ได้ทันที และยังมี “Shared Cloud Pocket” ที่สามารถเก็บเงินช่วยกันกับเพื่อน ครอบครัว หรือคนรักได้อีกด้วย ที่สำคัญคือมีฟีเจอร์ Expense Summary ที่คอยสรุปการใช้จ่ายของเราผ่าน Make ได้แบบอัตโนมัติ ไม่ต้องเสียเวลาทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายเองให้ยุ่งยาก และอย่างที่บอกไปคือให้ดอกเบี้ยสูง 1.5% ต่อปี ทำให้ Make by Kbank เป็นตัวช่วยในการเก็บออมที่น่าสนใจไม่น้อยเลย นอกจากนี้ยังสามารถต่อยอดสู่การวางแผนการเงินอื่น ๆ อย่างการเตรียมตัวซื้อบ้าน ผ่อนรถได้อีกด้วย
โดยสรุปแล้ว หัวใจหลัก ๆ ของการเก็บเงินให้ได้ตามเป้าอยู่ที่การฝึกออมให้เป็นนิสัยและปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายของเราเป็นสำคัญ ทำบัญชีรับ-จ่าย ลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น จ่ายให้คุ้ม หารายได้เพิ่ม เลือกฝากดอกสูง และใช้เครื่องมือที่ดี เพียงเท่านี้ปณิธานการออมที่ตั้งไว้ 1 ปีก็จะสำเร็จได้ไม่ยาก
Connect the Dots ขอขอบคุณวิธีเก็บออมดี ๆ จาก Make by Kbank และขอให้ทุกคนตั้งใจ เก็บเงินให้ได้สำเร็จตามเป้านะครับ สวัสดีปีใหม่ครับ
ที่มา: https://makebykbank.kbtg.tech/articles/one-year-money-saving