เข้าสู่เดือนแรกของปีใหม่อย่างเดือนมกราคมแบบนี้ หลายคนคงคาดหวังไว้ให้อะไรดี ๆ เกิดขึ้นแน่นอน รวมถึงเหล่านักลงทุนหลายคนที่เชื่อใน “January Effect” หรือทฤษฎีที่ว่าตลาดหุ้นจะปรับตัวขึ้นในทุกเดือนมกราคม
ฟังดูเผิน ๆ ก็เหมือนจะเป็นเรื่องล้อเล่น เพราะเรื่องของหุ้น การลงทุนมันมีปัจจัยมากมายที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงความเคลื่อนไหวของตลาด การที่ตลาดปรับตัวรูปแบบเดิมซ้ำ ๆ ทุกปีมันจะเป็นไปได้อย่างไร แต่อันที่จริงแล้ว เรื่องนี้มันมีหลักการ ถึงเรียกว่าเป็นทฤษฎีได้ แต่เหตุและผลจะฟังขึ้นแค่ไหน พิสูจน์ได้จริงไหม
ที่มาที่ไปของ January Effect มาจากตลาดหุ้นฝั่งสหรัฐฯ ในปี 1942 นู่นแหละ เมื่อที่ปรึกษาการเงิน Sidney B. Wachtel เขาไปสังเกตเห็นว่าข้อมูลหุ้นย้อนหลังถึงปี 1925 หุ้นขนาดเล็กมีประสิทธิภาพดีกว่าหุ้นบริษัทใหญ่ ๆ ในตลาดช่วงเดือนมกราคม โดยเฉพาะในช่วงครึ่งเดือนแรก ซึ่งต่อมาก็มีการศึกษามากมายที่ยืนยันแนวโน้มของทฤษฎีนี้
แล้วมันเกิดจากอะไร ทำไมต้องเดือนมกราคม
สาเหตุสำคัญของการที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นในเดือนมกราคม หลัก ๆ จะมาจาก
[ภาษี]
นักลงทุนขายหุ้นที่ขาดทุนเพื่อลดภาษีในช่วงสิ้นปี แล้วกลับมาซื้อหุ้นใหม่ในเดือนมกราคม เพราะในบางประเทศมีนโยบายที่สามารถนำผลขาดทุนไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ แล้วเมื่อใช้ประโยชน์จากการลดหย่อนแล้วก็กลับเข้ามาซื้อใหม่
[โบนัส]
เหล่านักลงทุนที่ทำงานประจำไปด้วยได้รับโบนัสในช่วงสิ้นปี จึงนำเงินส่วนนั้นมาซื้อหุ้นในตลาดช่วงเดือนมกราคม
[กำไร]
นักลงทุนมักขายหุ้นบางส่วนเพื่อทำกำไรในช่วงสิ้นปีก่อนหยุดยาว อาจเพื่อการนำไปใช้จ่ายหรือปรับแต่งพอร์ต และกลับมาซื้ออีกครั้งในช่วงเดือนมกราคม
[แต่งหน้าร้าน]
บรรดากองทุนใหญ่ต่าง ๆ จะทำ Window Dressing หรือแต่งรายงานประจำปีใด้ผลประกอบการออกมาดี ก็จะขายหุ้นประสิทธิภาพต่ำออกไปในช่วงสิ้นปี และกลับมาซื้อหุ้นคุณภาพดีเพิ่มขึ้นในเดือนมกราคม ก่อนจะมีการแบ่งปันผลในเดือนมีนาคม
[จิตวิทยาปีใหม่]
นักลงทุนหรือคนที่สนใจเรื่องการลงทุนหลายคนเชื่อว่าเดือนมกราคมเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับการเริ่มลงทุน หรือแม้แต่การเริ่มทำตาม New Year Resolutions ด้านการลงทุน ด้วยการซื้อหุ้นตุนไว้ในพอร์ต เพราะนี่คือช่วงปีใหม่ อะไรดี ๆ มักจะเกิดขึ้นเสมอ
[ช้อนปลายปีราคาดีน่าซื้อ]
ในช่วงปลายปีมักมีการ Sell-Off หุ้นในราคาถูก ซึ่งอาจไม่ได้มาจากปัจจัยพื้นฐานของบริษัท ซึ่งดึงดูดนักลงทุนที่ต้องการซื้อในราคาที่ถูกกว่า พอซื้อมากเข้าก็ส่งผลให้หุ้นเหล่านั้นมีราคาสูงขึ้นในเดือนมกราคม
โดยรวมแล้วจะเห็นว่าไอเดียสำคัญของการที่ตลาดหุ้นปรับตัวสูงขึ้นในเดือนมกราคมมาจากการเทขายช่วงปลายปี ตลาดเลยอาจปรับตัวลงมาบ้าง และแห่กันซื้อกันตลอดช่วงปลายปีจนถึงเดือนมกราคม ตลาดจึงปรับตัวขึ้นและคึกคักเป็นพิเศษ
แล้วมันเป็นไปตามนั้นจริงไหม
คำตอบคือ จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะจริง ที่บอกอย่างนี้เพราะอยากให้เห็นว่าแม้เรื่องของสถิติมันจะย้อนดูและพิสูจน์กันได้ แต่ในโลกการลงทุน สถิติของวันวานไม่สามารถการันตีผลในอนาคต และแม้ว่าแนวคิดเรื่อง January Effect จะมีต้นกำเนิดมาจากตลาดหุ้นอเมริกา แต่ตลาดนั้นกลับเป็นไปตามแนวโน้มของทฤษฎีน้อยกว่าตลาดหุ้นไทย ซึ่งรับแนวคิดนี้มาทีหลังเสียด้วยซ้ำ
ในหลาย ๆ งานวิจัยเกี่ยวกับ January Effect ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ หรือ S&P500 ในช่วง 10 ปี พบว่ามี January Effect เกิดขึ้นราว40% ซึ่งแทบไม่ต่างกับโอกาสในการโยนเหรียญออกหัวก้อย และค่าเฉลี่ยผลตอบแทนอยู่แค่ที่ 0.2-0.3%
รวมถึงในตลาดหุ้นประเทศอื่น ๆ อย่างยุโรป ญี่ปุ่น หรือจีนก็เกิดขึ้นไม่บ่อยและผลตอบแทนค่อนข้างน้อยถึงติดลบด้วยซ้ำ
ตัดภาพมาที่ตลาดหุ้นไทย หรือ SET ช่วง 10 ปีย้อนหลังมี January Effect เกิดขึ้นกว่า 70% และมีผลตอบแทนราว 1.85% เลย
นั่นหมายความว่า จริง ๆ แล้วทฤษฎีนี้ค่อนข้างสอดคล้องกับตลาดหุ้นไทย แต่อีกนัยก็หมายความว่ามันไม่ได้เป็นทฤษฎีที่ครอบคลุมและเชื่อได้มากขนาดนั้น
และในปัจจุบันนี้ตลาดต่าง ๆ มีการปรับตัวตามยุคสมัยและเทรนด์การลงทุนที่เปลี่ยนไป ในภาพรวมเห็นได้ว่าการเกิดขึ้นของ January Effect นั้นลดลงอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตามคนที่เชื่อใน January Effect อาจใช้มันเป็นตัวบ่งชี้ว่าตลาดหุ้นในปีนั้นจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหรือลดลง แต่ไม่ว่าคุณจะเชื่อหรือไม่ ผลกระทบนี้อาจไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง เนื่องจากมีปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลต่อตลาดหุ้นมากมาย ไม่ควรพึ่งพาทฤษฎีนี้เป็นหลักในการตัดสินใจลงทุน แต่ควรพิจารณาสภาพตลาดและปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลต่อผลตอบแทนของหุ้นอย่างรอบคอบ อย่าให้ใครมาจูงจมูกจนตกเป็นเหยื่อของทฤษฎีนี้ได้ง่าย ๆ ถ้าไม่อยากพอร์ตแดง
ด้วยความปรารถนาดีจาก Connect the Dots